'ศาลปกครอง' พิพากษายืนให้ 'ไอทีวี' ชนะ ไม่ต้องจ่าย 2.8 พันล้านให้ สปน.
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืน สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาตโตตุลาการ ปมบอกเลิกสัญญา 'ไอทีวี' ไม่ต้องจ่ายชดใช้ 2.8 พันล้าน ให้จัดทำคำแก้ไข รวมทั้งกระบวนการพิจารณาที่ดำเนินการมาทั้งหมด พ่วงยกอุทธรณ์คำขอ สปน.ด้วย
เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2567 ศาลปกครองเผยแพร่เนื้อหาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ "ไอทีวี" ว่าสืบเนื่องมาจากศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 620/2559 หมายเลขแดงที่ 1948/2563 ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร้อง และบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 1/2559 ที่วินิจฉัยโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า
1.การบอกเลิกสัญญาของผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.ให้ผู้ร้องชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้าน จำนวน 2,890.35 ล้านบาท
3.ผู้คัดค้านต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่างตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ให้แก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 2,890.35 ล้านบาท
4.ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันและกันในจำนวนเงินเท่ากัน คือ 2,890.35 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว ต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน
ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า คำอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นเพียงการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งเหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อกฎหมายและข้อสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
ประกอบกับคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 โดยได้มีการดำเนินการเพื่อระงับข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ
แม้ข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) เป็นคดีหมายเลขดำที่ 640/2550 และผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ขอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนขั้นต่ำพร้อมดอกเบี้ย และค่าปรับ แม้คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม แต่ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติห้ามไม่ให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในเรื่องเดียวกัน
ประกอบกับศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเพื่อให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการแล้ว ไม่ใช่กรณีคู่กรณีฝ่ายเดียวกันยื่นคำเสนอข้อพิพาทหรือข้อเรียกร้องในเรื่องเดียวกันและการเสนอข้อพิพาททั้งสองเรื่องดังกล่าวข้างต้นเป็นการเสนอข้อพิพาทต่อองค์กรชี้ขาดคนละองค์กร จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการเสนอข้อพิพาทซ้อน
คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนกรณีที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 ซึ่งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเดียวกันกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 และยังมิได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านได้ดำเนินการใดๆ เพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ต่อไป
ข้อพิพาทตามคำเสนอข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้นจึงไม่อาจยุติหรือระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ ต่อมา ผู้คัดค้านได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 ว่าผู้ร้องผิดสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยบอกเลิกสัญญา ขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาเข้าร่วมงานฯ ผู้คัดค้านจึงยื่นคำเสนอข้อพิพาท และมูลพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ผู้คัดค้านได้กล่าวอ้างเกิดจากการที่ผู้ร้องบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยไม่มีสิทธิหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการเสนอข้อพิพาทคนละเรื่องกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 คำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 จึงไม่เป็นการเสนอข้อพิพาทซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่เป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ส่วนกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกันซึ่งเป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ตามมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545ข้ออ้างของผู้ร้องดังกล่าวไม่ใช่เหตุที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ปรากฏว่ามีตุลาการศาลปกครองชั้นต้นในองค์คณะซึ่งพิจารณาคดีนี้ได้มีความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา และไม่ใช่เป็นกรณีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำอุทธรณ์ที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ศาลปกครองสูงสุดจึงต้องมีคำสั่งยกอุทธรณ์ตามข้อ 108 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ให้ส่งสำเนาคำอุทธรณ์ของผู้ร้องให้คู่กรณีในอุทธรณ์จัดทำคำแก้อุทธรณ์ รวมทั้งกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการต่อมาทั้งหมด ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2546 และมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง