ย้อนคดี 'อนค.-กก.' รอด 2 พ่าย 2 ลุ้นวิบากการเมืองคดีสุดท้าย
31 ม.ค.จึงเป็นวันชี้ชะตา “พรรคก้าวไกล” จะคงอยู่กลายเป็นสถาบันทางการเมืองในอนาคต หรือว่าเพลี่ยงพล้ำ เข้าเส้นทางถูกร้องเรียนยุบพรรค ต้องรอลุ้นกัน
KeyPoints
- ย้อนไทม์ไลน์สารพัดเรื่องร้องเรียนพรรคในศาลรัฐธรรมนูญ นับเฉพาะเรื่องใหญ่มี 4 คดี รอด 2 โดนฟัน 2
- คดีใหญ่เกิดขึ้นช่วง "พรรคอนาคตใหม่" ทั้งยุบพรรคปม "ธนาธร" ปล่อยกู้-คดีหุ้นสื่อวีลัคมีเดียฯ แต่รอดคดีล้มล้างการปกครองคดีอิลลูมินาตี
- ยุค "ก้าวไกล" มีแค่ปม "พิธา" พ้นบ่วงคดีหุ้นสื่อ
- วันนี้ชี้ชะตา "ก้าวไกล" จะรอดพ้นบ่วงคดีสุดท้ายในศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
นับถอยหลังอีกไม่กี่ชั่วโมง ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีกล่าวหา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมกับ “พรรคก้าวไกล” ว่าเข้าข่ายมีพฤติการณ์ “ล้มล้างการปกครอง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ ผลพวงจากนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง 2566 ที่ชูประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
หาก “ก้าวไกล” ผ่านพ้นบ่วงคดีนี้มาได้ แน่นอนว่า “โรดแมป” ตามที่ “พิธา” เคยแถลงไว้ ย่อมดำเนินการต่อได้อย่างราบรื่น และมีสิทธิส่งชื่อผู้สมัครชิงเก้าอี้ “นายก อบจ.” ปลายปีนี้ เพื่อสู้กับ “บ้านใหญ่” และมีสิทธิลุ้นถึงขั้นชิงเก้าอี้ “นายกฯ” เพราะ “พิธา” ยังมีสถานะเป็นแคนดิเดตอยู่ และคัมแบ็กกลับมาเป็น สส.แล้ว
อย่างไรก็ดีหาก “ก้าวไกล” เพลี่ยงพล้ำ ย่อมอาจ “เปิดช่อง” ถูกร้องเรียนกล่าวหา “ยุบพรรค” ซ้ำรอย “พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ในพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง ก็เป็นไปได้
ทว่า ประเด็นที่น่าสนใจ นับตั้งแต่ก่อร่างสร้าง “พรรคส้ม” มา คือตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล มีสารพัดคดีความที่ถูกร้องเรียนในศาลรัฐธรรมนูญ หากนับเฉพาะคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัย พบว่า “รอด” 2 ครั้ง และ “ไม่รอด” 2 ครั้ง ได้แก่
รวมถึงส่งผล “พิธา” อาจถูกร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนเอาผิดมาตรฐานจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรงหรือไม่ ซ้ำรอย “ช่อ พรรณิการ์ วานิช” อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษา “ประหารชีวิตทางการเมือง” ไปก่อนหน้านี้ จากพฤติการณ์โพสต์ภาพหมิ่นเหม่เกี่ยวกับสถาบันฯ ในโซเชียลมีเดียเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
เบื้องต้น “พิธา” และบรรดา “บิ๊กเนมสีส้ม” ประเมินฉากทัศน์ผลลัพธ์เชิงบวก-เชิงลบเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ต้องรอดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และ “ก้าวไกล” เตรียมแผนทางหนีทีไล่ไว้ขนาดไหน
คดีที่ไม่รอด 1.คดีกล่าวหาว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เมื่อครั้งเป็น สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า) ถือครองหุ้นสื่อ ในบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด (มหาชน) ศาลวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ สส.เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อจริง
2.คดียุบพรรคอนาคตใหม่ กรณี “ธนาธร” ปล่อยกู้เงินแก่พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท ส่อเป็นเงินที่มิชอบตามกฎหมาย เข้าข่ายถูกยุบพรรคการเมืองเมื่อ 21 ก.พ. 2562 และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรครวม 10 ปี นั่นคือหมายถึง “ธนาธร” ด้วย
คดีที่รอด 1.คดีกล่าวหาว่าพรรคอนาคตใหม่ มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง โดย “ณฐพร โตประยูร” ผู้ร้อง เชื่อมโยงตราสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ว่าคล้ายคลึงกับองค์กรลึกลับ ในทฤษฎีสมคบคิด ชื่อว่า “อิลลูมินาติ” โดยสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พรรคอนาคตใหม่ ไม่มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองตามที่กล่าวอ้าง (แต่ไปโดนยุบพรรค กรณี “ธนาธร” ปล่อยกู้เงินแทน)
2.คดีกล่าวหา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล คดีถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ว่า เข้าข่ายถือครองหุ้นสื่อหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเห็นว่า “พิธา” ถือครองหุ้นไอทีวีจริง และมีข้อพิรุธในการโอนหุ้นให้แก่ “น้องชาย” แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า “ไอทีวี” มิได้มีการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ในวันที่ “พิธา” สมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ ปี 2566 ทำให้พ้นบ่วงคดีนี้ไป
จนถึงขณะนี้จึงยังเหลือคดีที่ค้างคาในศาลรัฐธรรมนูญเพียงแค่ 1 คดีคือ กรณีมีนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง 2566 ในการแก้ไขมาตรา 112 ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่
31 ม.ค.จึงเป็นวันชี้ชะตา “พรรคก้าวไกล” จะคงอยู่กลายเป็นสถาบันทางการเมืองในอนาคต หรือว่าเพลี่ยงพล้ำ เข้าเส้นทางถูกร้องเรียนยุบพรรค ต้องรอลุ้นกัน