‘2 ฉากทัศน์’ เดิมพันก้าวไกล ‘คดีล้มล้าง’อำนาจต่อรองเปลี่ยน?
ถอดรหัส "2 ฉากทัศน์" คดีล้มล้างการปกครอง เดิมพันอนาคตก้าวไกล จับตา "เกมขั้วอำนาจ" -ทางลงพรรคสีส้ม กับวลี "ยิ่งตี-ยิ่งโต"
Key Points:
-
"คดีล้มล้างการปกครอง" บ่วงใหญ่-มัดแน่น ก้าวไกล “2 แนวทาง” เดิมพันฉากทัศน์การเมือง
-
ทางบวก ศาลวินิจฉัย “ยกคำร้อง” เปิดทางแก้ ม.112 - "พิธา" ลุ้นชิงนายกฯ จับตาสมการเปลี่ยน
-
ทางลบ ศาลวินิจฉัย "ปฏิปักษ์-ล้มล้างการปกครอง" ก้าวไกล-พรรคอื่นๆหมดสิทธิ ชู แก้ม.112 ลาม “ยุบพรรค-จริยธรรมร้ายแรง”
-
“คีย์แมนสีส้ม” ยอมรับว่า หากการเมือง “เล่นแรง” ชะตากรรม “44 สส.” ที่เคยร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา112 ซึ่งจำนวนนี้มี“พิธา”รวมอยู่ด้วย จะต้องถูก“ประหารชีวิตการเมือง”
-
จับตา "เกมขั้วอำนาจ" - ทางลงพรรคสีส้ม "ลดเพดาน"
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการถือหุ้นสื่อไอทีวีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา แม้จะทำให้บรรดา “ด้อมส้ม” ได้เฮยกแรก หลังตุลาการศาลฯ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า การถือครองหุ้นสื่อของพิธาไม่ขัดต่อต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลง
ทว่า ยังมีของจริงอีกคดีที่ต้องลุ้นอีกเฮือก คือ “คดีล้มล้างการปกครอง” กรณีกล่าวหา “พิธา ” และ “พรรคก้าวไกล” ว่าเข้าข่าย เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ อันเป็นผลพวงจากนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง 2566 ที่ชูประเด็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ชะตาช่วงบ่ายวันที่ 31 ม.ค.2567 นี้
ในทางการเมือง คดีล้มล้างการปกครอง ดูเหมือนจะเป็นบ่วงใหญ่ และมัดแน่นกว่าบ่วงแรกคดีหุ้นสื่อ อีกทั้งยังเป็น “ด่านชี้ชะตา” จังหวะก้าวย่างของพรรคก้าวไกลต่อจากนี้อีกด้วย
- 2 ฉากทัศน์ชี้ชะตา “พิธา-ก้าวไกล”
หากประเมินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง “2 แนวทาง” ในคดีนี้ ก็ย่อมฉายภาพไปถึงฉากทัศน์การเมือง ที่อาจเปลี่ยนแปลงจากผลคดี ได้ดังนี้
ทางแรก หากศาลวินิจฉัย “ยกคำร้อง” โดยเห็นว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง การกระทำของพรรคก้าวไกลในการเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 ไม่เป็นการกระทำที่เข้าข่าย “ปฏิปักษ์” หรือ “ล้มล้างการปกครอง” ในระบอบประชาธิปไตย
ผลที่ตามมา นอกจากพรรคก้าวไกลจะหลุด “บ่วงใหญ่” ที่ “คล้องแน่น” อยู่ในเวลานี้แล้ว “พลพรรคส้ม” รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆยังสามารถเสนอแก้ไขมาตรา 112 ได้ และยังสามารถใช้เป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
ในห้วงที่กระแสพรรคก้าวไกลและพิธาเวลานี้ ยังติดลมบนระดับท็อป แน่นอนว่า “สมการการเมือง”หลังจากนี้ น่าจับตายิ่ง โดยเฉพาะสถานการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลกำลังระส่ำระสายจากปมปัญหานโยบายต่างๆ แน่นอนว่าการ“คืนฟอร์ม”ของพิธาและก้าวไกลย่อมถือแต้มต่อทางการเมืองทุกระดับอยู่พอสมควร
ต้องไม่ลืมว่า “พิธา” เวลานี้ยังมีอีกหนึ่งสถานะคือ“แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”พรรคก้าวไกล และยังมีความหวังว่าในเดือนพ.ค.นี้ซึ่งสว.ชุดปัจจุบันจะครบวาระ และจะไม่มี“หมากสภาสูง”มาเป็นเสี้ยนหนามการชิงเก้าอี้นายกฯ อีกต่อไป
เป็นเช่นนี้สมการการเมืองอาจพลิก โอกาสของพิธา ซึ่งถูกฝั่งตรงข้ามเย้ยหยันว่าเป็นนายกฯ “ส้มร่วง” จะมีโอกาสทวงคืนสถานะ“นายกฯตัวจริง”ย่อมเป็นไปได้
- ดาบสอง“ยุบพรรค-จริยธรรมร้ายแรง”
ในทางกลับกัน หากเป็น แนวทางที่สอง คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำเนินการของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็น“ปฏิปักษ์” หรือ“ล้มล้างการปกครอง”ซึ่งขัดบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ตามคำร้องได้ระบุไว้เพียง ขอให้ศาลวินิจฉัย“สั่งหยุดการกระทำ” เท่านั้น
ทว่าเรื่องคงไม่จบง่ายๆ เท่านี้ เพราะก้าวไกลยังมีอีกวิบากการเมืองที่รออยู่เบื้องหน้า ด้วยการเล่นงานต่อด้วย บ่วงแรก “คดียุบพรรค” ซึ่ง “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร”ทนายความ ในฐานะผู้ร้องในคดีนี้ ยื่นคำร้องรอไว้แล้ว
พร้อมทั้งมองเกมยาวว่า หากศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลมีความผิด จะถือจะเป็น “สารตั้งต้น”ไปสู่กระบวนการยุบพรรค ซึ่งจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.
เมื่อพลิกมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง โดยเฉพาะ 2 วงเล็บแรก
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
- เทียบ“ม็อบราษฎร-ไทยรักษาชาติ”
ที่ไม่อาจมองข้าม สำหรับคดีล้มล้างการปกครองที่อาจนำไปสู่การยื่นยุบพรรคก้าวไกล หากนำไปเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดีอื่นๆ ที่ใกล้เคียง คือคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเรียกร้อง 10 ข้อ ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 คดีดังกล่าว ศาลวินิจฉัยว่า
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะเกินควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ”
หรืออีกคดี คือคำวินิจฉัย “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ” กรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เนื้อหาคำวินิจฉัยตอนหนึ่งซึ่งอ่านโดย “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า
“สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง ย่อมถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย”
ยิ่งไปกว่านั้นยังมี บ่วงที่สอง คือ “คดีจริยธรรมร้ายแรง” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรคสอง มาตรา235 ประกอบมาตรฐานทางจริยธรรมศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561
โดยคดีนี้จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ที่จะเป็นผู้พิจารณา หากมีความผิดก็จะส่งศาลฎีกาพิจารณาความผิดต่อไป
- แผนฝังกลบ-ก้าวไกล“ยิ่งตี-ยิ่งโต”
ขณะเดียวกันคดีล้มล้างการปกครองพรรคก้าวไกล ยังถูกนำไปเทียบเคียงอาทิ คดีที่“พรรณิการ์ วานิช” อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกร้องกรณีโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันฯ ก่อนที่ ป.ป.ช. จะมีมติเอกฉันท์ชี้มูลเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565 ว่า “ช่อ พรรณิการ์” ผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ
จากนั้นป.ป.ช.ยื่นศาลฎีกาวินิจฉัยคดีดังกล่าว กระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า “พรรณิการ์” ผิดฐานฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย โดยให้ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป
ในบ่วงสองนี้เอง แม้แต่ “แกนนำพรรคก้าวไกล” ระดับคีย์แมน ที่เบื้องหน้าจะพยายามบอกว่า ก้าวไกลยิ่งตียิ่งโต แต่ลึกๆ แล้วก็แอบกังวลอยู่พอสมควร
“คีย์แมนสีส้ม” ยอมรับว่า หากการเมือง “เล่นแรง”จนชะตากรรมก้าวไกลดำเนินมาถึงจุดนี้ แน่นอนว่า “44 สส.” ที่เคยร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา112 ซึ่งจำนวนนี้มี“พิธา”รวมอยู่ด้วย จะต้องถูก“ประหารชีวิตการเมือง” และหมดสิทธิเล่นการเมืองไปตลอดชีวิต
ทว่าในยามที่ “ฉากหน้า” มีการคาดการณ์ 2 ฉากทัศน์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล ยังเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ “ฉากหลัง” มีการจับตาไปที่การขยับหมากของ“กลุ่มอำนาจ” ที่อาจกำลังประเมินถึงความคุ้ม ผลได้-ผลเสีย
จริงอยู่หากกำจัดพิธา รวมถึงพรรคก้าวไกลได้สำเร็จ ย่อมทำให้หมดเสี้ยนหนามใน “จิ๊กซอว์การเมือง”ไปหนึ่งตัว แต่ต้องไม่ลืมว่า การขยับหมากเช่นนี้ ก็อาจกลายเป็นดาบสองคมได้
ต้องไม่ลืมว่า เรตติ้งพรรคก้าวไกลเวลานี้ กราฟยังหักหัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำไปทำมา “แบรนด์พรรค”จะฮอตยิ่งกว่าตัวผู้นำอย่างพิธาเสียอีก
จึงมีการมองต่างมุมว่า หากยุบพรรค หรือประหารชีวิตกรรมการบริหารรวมถึง สส.บางส่วน จะเป็นการฝังกลบคู่ต่อสู้ได้จริงหรือ
ดีไม่ดีจะ “ยิ่งตี-ยิ่งโต” ตัวอย่างก็มีให้เห็น ในกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่นำมาสู่การปั้นแกนนำแถวสอง แถวสาม โกยเรตติ้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กระทั่งก้าวไกลตีตั๋วเข้าสภาในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง 151 เสียงอย่างพลิกความคาดหมาย
เอาเข้าจริงโจทย์ใหญ่ของ “กลุ่มขั้วอำนาจ” ที่พยามสกัดไม่ให้ก้าวไกลเติบโตไปกว่านี้ จริงๆแล้วอาจอยู่ที่การแช่แข็งไว้ในสนามการเมือง หรือรอจังหวะเข้าซ้ำในวันที่ทำพลาด อาจเป็นผลดีมากกว่า
ขณะเดียวกัน ในมุมของก้าวไกลในมุมเสียก็ยังมีได้ เพราะหากคำวินิจฉัยให้หยุดการกระทำ ก็ย่อมเป็น “ทางลง”ของพลพรรคส้ม ได้ถอยแบบมีชั้นเชิง ด้วยการ “ลดเพดาน” แก้ไขมาตรา 112 อันเป็นปัญหาอุปสรรค ในสมการจับขั้วทางการเมืองในคราวเดียวกันอีกด้วย
จับตา 2 ฉากทัศน์เดิมพันอนาคตก้าวไกล จะ“รอด-ร่วง”อีกไม่นานได้รู้กัน!