ด่วน ! ศาลรธน.ชี้ 'พิธา-ก้าวไกล' ล้มล้างการปกครอง สั่งยุติกระทำ ห้ามแก้ ม.112
ด่วน ! ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย ชี้ 'พิธา-ก้าวไกล' ล้มล้างการปกครอง สั่งหยุดการกระทำ ห้ามแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ชี้มีพฤติการณ์เสื่อมทราม เซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 17/2566 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวหาว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า วันที่ 25 มิ.ย. 2564 ผู้ถูกร้องได้ยื่นเสนอแก้ไข ม. 112 และระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม ม. 112 และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมีพฤติการณ์เข้าร่วมการชุมนุมเกี่ยวกับการยกเลิก ม. 112 ในทุกครั้ง พร้อมแสดงความคิดเห็นให้แก้ไขและยกเลิก ผ่านการแสดงความเห็นทางการเมืองทุกครั้ง
ทั้งนี้ บทบัญญัติแห่งกฎหมายต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้การเสนอร่างกฎหมายสภาฯจะทำได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบความชอบของร่างกฎหมายได้ ถือเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติทางกฎหมายคุ้มครองไม่ให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพ ทำการสั่นคลอนคติรากฐาน การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมุข ม.112 กำหนดการกระทำที่เป็นความผิด สร้างความอาฆาตมาดร้าย หากกระทำความผิดต้องได้รับโทษทางอาญา
"มีความชอบธรรมที่มีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้ละเมิดพระมหากษัตริย์ ตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองเอาไว้ การที่ผู้ถูกร้องเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 แบ่งลักษณะความผิดเป็น 13 ลักษณะ เป็นการกระทำมุ่งหวังให้ ม. 112 ไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคง มีเจตนาแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ กับชาติไทยออกจากกัน อย่างมีนัยสำคัญ"
ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า แม้การเสนอแก้ไข ม. 112 ผ่านกระบวนการสภาฯ ไม่ได้รับการบรรจุในสภาฯ ทั้งผู้ถูกร้องยอมรับว่า พรรคผู้ถูกร้องนำเสนอเป็นนโยบายต่อ กกต. เพื่อใช้หาเสียงเลือกตั้ง และปัจจุบันยังปรากฎการแก้ไข ม.112 อยู่บนเว็บไซต์ของผู้ถูกร้อง
การที่ผู้ถูกร้องใช้ ม.112 ในการหาเสียงเลือกตั้ง แม้ไม่มีร่างแก้ไข ม.112 เสนอมาพร้อมนโยบายพรรค แต่ตามเว็บไซต์กล่าวถึงการแก้ไข ม.112 กลับมีเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมทำนองเดียวกับร่างพ.ร.บ.แก้ไข ม.112 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564
"ดังนั้นถือได้ว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์ที่จะแสดงออกที่จะลดทอน ม. 112 ลง เพื่อสร้างความชอบธรรม ซ่อนเร้น ผ่านกระบวนการสภาฯ และรณรงค์หาเสียงทางการเมืองให้ประชาชนทั่วไป หากประชาชนซึ่งไม่รู้เจตนาแท้จริง อาจหลงไปกับนโยบายของพรรคผู้ถูกร้อง การกระทำของผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์เสื่อมทราม เซาะกร่อน บ่อนทำลาย ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งการให้เลิกการกระทำ การพิมพ์ การโฆษณา เพื่อให้ยกเลิก ม.112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข ม.112 ด้วย
"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่หากแสดงความคิดเห็นด้วยความอาฆาตมาดร้าย จะมีโทษหมิ่นศาล ตักเตือน จำคุก ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท"