‘ส้ม2สายพันธุ์’ก.ก.จังหวะลดเพดาน ‘ปิยบุตร’สืบทอดมรดก‘ครก.112’
ปรากฎการณ์ "ส้ม2สายพันธ์ุ" อ่านใจ "ปิยบุตร" ส้มฮาร์ดคอร์ มรดก "ครก.112" จับจังหวะ "ก้าวไกล" ทาง2แพร่ง "ลดเพดาน-ซ้ายสุดโต่ง"
Key Points:
- ผลพวงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สั่งก้าวไกล "หยุดการกระทำ" แก้ม.112 จับตาอีกหนึ่งฉากทัศน์ นั่นคือ การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่อาจผูกโยงมาตราเดียวกัน
- "ปิยบุตร" ส้มฮาร์ดคอร์ กับปมคาใจ ย้อนที่มาทายาท-มรดก "ครก.112"
- ปรากฎการณ์ "ส้ม2สายพันธ์ุ" ฝั่งหนึ่งยังเชียร์ให้ไปต่อ ขณะที่อีกฝั่งส่งสัญญาณถอยเพื่อลดแรงเสียดทานในระยะยาว
ผลพวงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ที่31 ม.ค. เอกฉันท์9 เสียงวินิฉัยให้กระทำของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการดำเนินการที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายและล้มล้างการปกครอง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา49วรรค1
คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการ “สั่งหยุดการกระทำ” ซึ่งเป็นเสมือนการคว่ำ “เรือธงส้ม” ในการชูนโยบายแก้ไขมาตรา112 ณ เวลานี้ รวมถึงการเมืองในภายภาคหน้าแล้ว
ยังมีอีกหนึ่งฉากทัศน์การเมืองที่ต้องจับตา นั่นคือ การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงทั้งในและนอกสภาอยู่ ณ เวลานี้ โดยเฉพาะนิรโทษกรรมเวอร์ชั่นก้าวไกลที่อาจนับรวมไปถึงการนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวข้องกับมาตรา112
ตอกย้ำด้วยสัญญาณจาก ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ที่โยนไปที่ฝ่ายกฎหมายสภาพิจารณาว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันธ์ต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่พรรคก้าวไกลเสนอมากน้อยเพียงใด
ย้อนกลับไปในช่วงเดือนต.ค.2566 ก่อนปิดสมัยประชุมสภาสมัยที่แล้ว “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกลนำทีม สส.เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. … จำนวน 14 มาตรา
เวลานั้น“ชัยธวัช” เลี่ยงบาลีที่จะพูดถึงการนิรโทษกรรมบรรดาคดีความที่เกี่ยวกับมาตรา112 บอกแต่เพียงว่า“ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของคณะกรรมการ”
ไม่ต่างจากจังหวะก้าวย่างของ “พรรคก้าวไกล” เวลานี้ซึ่งถูกมองว่า เป็น“ทางลง”ของพลพรรคส้มในการ “ถอยแบบมีชั้นเชิง” แถม “ลดเพดาน”แก้ไขมาตรา 112 อันเป็นปัญหาอุปสรรค ในสมการจับขั้วทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาไปในคราวเดียวกัน
อันที่จริงการส่งสัญญาณ “ลดเพดาน” ของพรรคก้าวไกล ก็เริ่มมีมาตั้งแต่ก่อนมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ
ช็อตแรก คือ วันที่พิธา แถลงโรดแมพพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่26 ม.ค.4วันก่อนที่ศาลจะอ่านคำวินิจฉัย พูดถึง6เป้าหมายพรรค โดยไร้ซึ่งประเด็นการแก้ไขมาตรา112รวมอยู่ในเนื้อหาที่แถลง
วันนั้นพิธาให้เหตุผลว่า คงต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 31 ม.ค.นี้ จึงยังไม่มีการพูดคุยกัน
ช็อตที่2 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย “ชัยธวัช ตุลาธน” ออกมายอมรับถึง กรณีเว็บไซต์พรรคก้าวไกล ลบนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ออก เนื่องจากฝ่ายกฎหมายเห็นว่าเป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญหยิบขึ้นมาอยู่ในคำวินิจฉัยด้วย
สวนทางกับ “ศาสดาส้ม” อย่าง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ที่มองตรงกันข้าม แถมยังบอกอีกว่า “ถ้าผมยังอยู่ในพรรคก้าวไกล ผมจะพยายามแก้ ม.112 ต่อแน่นอน โดยแก้ตามที่ศาลบอก เพราะจุดยืนของพรรคเห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหา เราเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน การเมือง และสถาบันฯ เราพยายามบอกว่า ม.112 มันมีปัญหา จะปรับปรุงให้มันสากลขึ้นได้หรือไม่”
จังหวะก้าวย่างของ “ปิยบุตร” ที่ออกแนวฮาร์ดคอร์ แถมยุให้พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
เช็กเสียง“ด้อมส้ม” เวลานี้แน่นอนว่ามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝั่ง “ซ้ายสุดโต่ง” ก็อาจเชียร์สุดลิ่มทิ่มประตู ให้เดินหน้าต่อตามที่ปิยบุตรแนะนำ
ขณะที่อีกกลุ่มแบบ “ซ้ายกลางๆ” ดูเหมือนจะไม่ค่อยพอใจท่าทีของปิยบุตรสักเท่าไรนัก เนื่องจากมองว่า เป็นการดันทุรังซึ่งอาจไม่เป็นผลดีกับพรรคก้าวไกลในระยะยาว
เหนือไปกว่านั้นหากย้อนที่มาที่ไป จะพบว่า ตัว “ปิยบุตร” เองก็เคยเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวแถวหน้าที่เคยออกมาเรียกร้องในเรื่องการแก้ไขมาตรา112 ตั้งแต่เป็นนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ก่อนที่จะเบนเข็มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในฐานะสส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เสียด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยมี“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ และมี“ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น จากพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
โดยในช่วงต้นรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2555 ได้มีการเสนอร่างกฎหมายของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112(ครก.112)นำโดย นักวิชาการ อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พวงทอง ภวัครพันธุ์ จรัล ดิษฐาอภิชัย ที่นำรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อกันทั้งหมด 26,968 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ ... (แก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์) ไปยื่นต่อรัฐสภา
ในเวลาต่อมา“สมศักดิ์”ในฐานะประธานสภา กลับวินิจฉัยว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายจึงมีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา
ว่ากันว่า ยามนั้นมีสัญญาณมาจาก“นายใหญ่”และ“นายหญิง”ส่งสัญญาณไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวท่ามกลางกระแส“เกี๊ยะเซี๊ยะ”ระหว่างขั้วอำนาจ ณ เวลานั้น
จึงไม่แปลกคล้อยหลัง10ปีต่อมาเมื่อการเมืองวนลูป มาตรา112 ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในเวลานี้ “ปิยบุตร” ในฐานะแนวร่วม“ครก.112” และเคยมีฝันร้ายในเรื่องแก้ม.112 จะออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือน “มรกดกครก.”แบบสุดโต่ง
สวนทางกับจังหวะก้าวย่างของ “พรรคก้าวไกล” ผลพวงจากคำวินิจฉัยที่ออกมา กลายเป็นจังหวะทางลงของพรรค ในการ“ลดเพดาน” แบบมีชั้นเชิง แถมยังใช้อ้างเป็นเหตุผลอธิบายมวลชนได้ด้วยว่า เหตุใดประเด็นดังกล่าวจึงไปต่อไม่ได้
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหว “ค่ายส้ม” เวลานี้ซึ่งอยู่ในสภาวะ“ส้ม2สายพันธุ์” ฝั่งหนึ่งยังเชียร์ให้ไปต่อ ขณะที่อีกฝั่งส่งสัญญาณถอยเพื่อลดแรงเสียดทานในระยะยาว
คล้ายๆกับก้าวไกลในยุคสภาชุดที่แล้วซึ่งมีสส.จำนวนหนึ่งไม่ยอมลงชื่อในร่างแก้ไขมาตรา112 ขณะที่บางส่วนถึงขั้นไม่ไปต่อกับพรรคในท้ายที่สุด!