'จุลพันธ์' ยันเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตคู่ขนานรอความเห็น ป.ป.ช.
"จุลพันธ์" ยืนยันเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตคู่ขนานรอความเห็น ป.ป.ช. - เตรียมประชุม คกก.ชุดใหญ่สัปดาห์หน้า - เผยเตรียมร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ไว้แล้วแเม็ดเงินเท่าเดิม ย้ำจะเร่งดำเนินการ ไม่ลดวงเงินแน่
6 ก.พ.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่าเมื่อวาน (5ก.พ.) ได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในหลายประเด็น เรื่องแรกคือตั้งแต่ระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และภาวะในขณะนี้ประชาชนขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย ภาคการลงทุนโดยเฉพาะเอกชนไม่กล้าลงทุน ส่วนการลงทุนกับต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลประสบความสำเร็จแต่กว่าจะมีผลในเรื่องของเม็ดเงินต้องใช้เวลา ขณะที่ภาคการบริโภค ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ 4 เดือนต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งมาจากการลดปัจจัยพลังงานของรัฐบาล แต่ก็ต้องทำเพื่อให้ประชาชนสามารถประคับประคองในภาวะเศรษฐกิจที่วิกฤตขนาดนี้ได้
ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ย นโยบายที่คงที่ที่ 2.5 ขณะนี้ดูดซับสภาพคล่องจากระบบพอสมควร ซึ่ง สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้เปรียบเหมือนปลาในบ่อ ประชาชนคือปลา เพราะน้ำในบ่อน้อย ประชาชนก็ดิ้นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำเพียงพอ สิ่งสำคัญคือการเติมน้ำลงในบ่อให้เพียงพอ กลับจำนวนปลาและขนาดของบ่อ ซึ่งต้องการเม็ดเงินใหม่ นั่นคือการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
ซึ่งรัฐบาลมองว่ากลไกที่จะสร้างเม็ดเงินใหม่คือการออกพรบ. กู้เงิน แต่เมื่อมีข้อท้วงติงมา ใน่วงเดือนที่ผ่านมามีการหารือกันว่าจะต้องรอ ความเห็นของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเอกสารที่หลุดออกมาจะจงใจหรือไม่เราไม่ทราบแต่ต้องรับฟังและรอมาจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจน และทราบข่าวจากสื่อว่าจะมีการประชุมในสัปดาห์นี้
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ป.ป.ช.จะส่งมา คือข้อเสนอแนะและความห่วงใย ไม่สามารถจะมากำหนดทิศทางนโยบายของเราได้ หากรัฐบาลจะทำก็ทำคู่ขนานไปเลย”
นายจุลพันธ์ ยังเปิดเผยอีกว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในสัปดาห์ เพื่อพิจารณาข้อห่วงใยการเกิดทุจริตคอร์รับชัน แม้จะยังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นว่าเกิดการทุจริต เพราะยังไม่ได้เริ่มดำเนินนโยบายก็ตาม เมื่อมีข้อห่วงใย จะมีการตั้งอนุกรรมการติดตามล่วงหน้า และให้วางแผนกำหนดกฎเกณฑ์รูปแบบการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่า ดิจิทัลวลอลเล็ตจะไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน หรือใช้เงินผิดประเภท พร้อมหารือสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ กำหนดรูปแบบการกระตุ้นและผลลัพธ์ที่อาจไม่มีผลชัดเจน แต่ต้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชน และภาคเอกชน โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมารับฟังความเห็น และเก็บข้อมูล
นายจุลพันธ์ ยังเปิดเผยอีกว่า ในระหว่างการทำงานได้รับเสียงสะท้อนจากธนาคาร และสถาบันการเงินจำนวนมาก ที่มองเห็นประโยชน์ และอยากเข้ามามีส่วนร่วมให้มีแอปพลิเคชันกลางของภาครัฐ เพื่อเชื่อมต่อกับสถาบันการเงินได้ จึงจะมีการหารือให้คณะกรรมการไปหารือเพิ่มเติมกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อสร้างความเชื่อมต่อระหว่างธนาคารพาณิชย์กับระบบดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้กลไกสามารถใช้งานได้ครอบคลุมกว้างขวาง และเชื่อมโยงระบบการชำระจ่ายเงินของประเทศให้สมบูรณ์มากขึ้น
ส่วนความเห็นของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการ ป.ป.ช.นัั้น นายจุลพันธ์ ย้ำว่า จะทำงานคู่ขนานกัน ถ้ามีผลความเห็นออกมา คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตก็จะประชุม หารือเพื่อชี้แจงร่วมกันอีกครั้ง
นายจุลพันธ์ ยังยอมรับอีกว่า ไทม์ไลน์การแจกดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ได้ขยับออกไปแล้วจากเดือนพฤษภาคม แต่ไทม์ไลน์ใหม่จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ก็ยืนยันว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด จะหยุดรอไม่ได้แม้มีอุปสรรค โดยจะเดินหน้าให้เร็วที่สุด
เมื่อถามว่าจะต้องออกเป็น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)กู้เงิน หรือไม่ นายจุลพันธ์ ระบุว่า พ.ร.ก.เป็นเครื่องมือในมือของรัฐบาล อยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญคือมีกลไกเดินหน้า มากกว่า 1 ตัวเลือกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้คิดและยังไม่ได้หารือว่าจะใช้ พ.ร.ก.หรือไม่ แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจไปถึงจุดที่จำเป็น ก็อาจจะต้องมาหารือ พร้อมย้ำว่า พ.ร.ก.เป็นตัวเลือกที่ยังไม่ได้เลือกใช้ และยังไม่คิดจะเลือกใช้ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือก
นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงการลดจำนวนเงินในโครงการดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าหาก ป.ป.ช.ยังไม่ส่งความเห็นมาก็จะไม่กระทบต่อไทม์ไลน์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยจะเดินหน้าและพูดคุยกันในสัปดาห์หน้า ส่วนความเห็นจะส่งมาเมื่อไหร่ตนก็พร้อมจะรับฟัง รวมไปถึงพัฒนาแอปพลิเคชั่นและเตรียมกลไกต่างๆ ที่มีความจำเป็นให้พร้อม แต่ตนไม่ขอให้คำตอบว่าจะทันในไตรมาส 3 หรือไม่ และขณะนี้ยังไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาแต่อย่างใด
นายจุลพันธ์ระบุว่าขณะนี้ มีการยกร่างพ.ร.บ.กู้เงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อเสนอขณะนี้ ยังเป็นการใช้แอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์อยู่ เนื่องจากเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่สิ่งที่จะไปพูดคุยคือกลไกการเชื่อมต่อระหว่างธนาคาร
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการ จะมีการตั้งภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งก็ต้องติดตามบอร์ด โดยบอร์ดชุดใหญ่ไม่มีกรอบระยะเวลาการทำงาน ซึ่งจะต้องอยู่ยาวจนกว่าจะเสร็จภารกิจ ส่วนคณะอนุฯจะตีกรอบระยะเวลา อาจใช้เวลา2-3 สัปดาห์ต้องจบ ขณะที่ไทม์ไลน์ ของบอร์ดชุดใหญ่ จะต้องเคาะก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ตนหวังว่าภายใน 2 เดือนข้างหน้าจะต้องเรียบร้อย ซึ่งเป็นการประมาณการไม่ใช่การหารือ