ม.112 วิบาก ‘ทักษิณ’ 3 คดี อุปสรรคขวาง ‘พักโทษ’
ดังนั้นมิใช่แค่คดีตามมาตรา 112 เท่านั้นที่ “รั้งตัว” ทักษิณไม่ให้ได้รับการพักโทษ แต่ยังมี 2 คดีของ ป.ป.ช.เป็นชนักปักไว้ มิให้เคลื่อนตัวไปไหนได้สะดวกนัก
KeyPoints
- "ทักษิณ ชินวัตร" กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหม่หลังกลับเข้าไทยในรอบ 6 เดือน
- นอกจากเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเป็น "นักโทษเทวดา" เนื่องจากแม้ถูกศาลพิพากษาจำคุกคดีทุจริต ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี แต่แทบไม่มีสักวินาทีเดียวที่เขาอยู่ในเรือนจำ เพราะถูกส่งตัวไปรักษาอยู่โรงพยาบาลถึงปัจจุบัน
- ในช่วงปีใหม่ ชื่อของเขาถูกพูดถึงหนาหูว่าเข้าข่ายได้รับการ "พักโทษ" เนื่องจากเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย
- แต่ขณะนี้คดีความในอดีตกำลังกลับมาหลอกหลอน โดยเฉพาะคดีตาม ม.112 จากผลพวงที่เขาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อนอกที่เกาหลีใต้เมื่อราว 15 ปีก่อน
- โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ "ทักษิณ" ไปแล้ว แต่เขาร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา จับตา อสส.จะพิจารณาอย่างไรต่อ
“ทักษิณ ชินวัตร” กลับมาเผชิญวิบากกรรมอีกครั้ง
พลันที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ยืนยันชัดเจนว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า ตัวเขาโดนคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมกับส่งหนังสือไปยังกรมราชทัณฑ์เพื่อขออายัดตัวต่อ หากได้รับการพักโทษ โดยเบื้องต้น “ทักษิณ” ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ และทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2552 “ทักษิณ” ซึ่งเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ โดยมีเนื้อหาบางช่วงบางตอนเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ แต่ผ่านไปนานกว่า 6 ปี เมื่อปี 2558 กองทัพบกในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม เป็น ผบ.ทบ.และเลขาธิการ คสช. แจ้งความเอาผิดกับ “ทักษิณ” แก่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังจากนั้นในปี 2559 บก.ปอท.ส่งสำนวนให้ อสส.
กระทั่ง 19 ก.ย. 2559 อสส.มีความเห็นควรสั่งฟ้อง “ทักษิณ” ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมกับออกหมายจับ มีอายุความ 15 ปี โดยนับตั้งแต่การกระทำความผิดคือ ตั้งแต่ปี 2558 และจะหมดอายุความในปี 2573
เมื่อ “ทักษิณ” ยอมกลับเข้าแผ่นดินไทยเมื่อปี 2566 เพื่อมารับโทษจำคุกคดีทุจริต และถูกส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจในปัจจุบันนั้น คดีมาตรา 112 ดังกล่าวยังไม่หมดอายุความ กระบวนการทางยุติธรรมจึงต้องเดินหน้าต่อ
โดย “ประยุทธ เพชรคุณ” ในฐานะโฆษกสำนักงาน อสส.ชี้แจงประเด็นนี้ว่า ตามกฎหมาย อสส.มีอำนาจออกความเห็นได้ 3 กรณี คือ 1.หากเห็นว่าข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน สามารถสั่งให้พนักงานอัยการไปสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 2.หากข้อเท็จจริงเพียงพอแล้วให้ยืนตามความเห็นเดิม ที่ว่าให้สั่งฟ้องทักษิณตามข้อกล่าวหา และ 3.หากพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมไม่เข้าข่ายความผิดสามารถมีความเห็นไม่สั่งฟ้องทักษิณได้
ถ้า “ทักษิณ” รอดพ้น อสส.ไม่สั่งฟ้อง ก็จะได้ถูกปล่อยจากการอายัดตัว และกลับมารับการ “พักโทษ” ตามปกติ แต่หาก อสส.ยังคงสอบข้อเท็จจริง หรือว่าถูก อสส.สั่งฟ้อง “ทักษิณ” มีสิทธิยื่นประกันตัวในชั้นสอบสวน หรือในชั้นศาล ซึ่งเป็นดุลพินิจของ อสส. และศาลต่อไป
นั่นหมายความว่า “ประตูเรือนจำ”ยังคงเปิดรับ“ทักษิณ”อยู่ทุกเมื่อ หากยังไม่สามารถเคลียร์คดีดังกล่าวได้
ประเด็นที่น่าสนใจ มิใช่แค่คดีตามมาตรา 112 เพียงเท่านั้น ปัจจุบัน “ทักษิณ” ยังมีคดีค้างในชั้นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกอย่างน้อย 2 คดี โดยจะหมดอายุความในปี 2569 คือ
1.กรณี “ทักษิณ” กับพวกถูกร้องเรียนกล่าวหา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามแร่เถื่อน ในประเด็นลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบทำเหมืองแร่ดีบุก ที่ จ.พังงา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
2.กรณี “ทักษิณ” กับพวก ถูกร้องเรียนกล่าวหา ประเด็นอนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.สนับสนุนบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) ให้เข้ามาทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ในขณะที่กลุ่มชินคอร์ปถือหุ้นในแอร์เอเชียอยู่ 51% ซึ่ง ทอท.มีการแก้ไขข้อบังคับหลายกรณีเพื่อเอื้อให้แอร์เอเชียทำธุรกิจ รวมทั้งยกเส้นทางการบินบางเส้นทางของการบินไทยให้แอร์เอเชียด้วย โดยบอร์ด ทอท.ขณะนั้นมี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยทักษิณ เป็นบอร์ดอยู่ด้วย ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้แล้ว ยังอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง
สำหรับทั้ง 2 คดีนี้ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยให้สัมภาษณ์ว่า คดีดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการของ ป.ป.ช.
ดังนั้นมิใช่แค่คดีตามมาตรา 112 เท่านั้นที่ “รั้งตัว” ทักษิณไม่ให้ได้รับการพักโทษ แต่ยังมี 2 คดีของ ป.ป.ช.เป็นชนักปักไว้ มิให้เคลื่อนตัวไปไหนได้สะดวกนัก
สุดท้าย“ทักษิณ”จะได้รับการพักโทษ โดยรอดพ้นบ่วงทั้ง 3 คดีหรือไม่ ต้องติดตาม