สินบนปัญหาใหญ่! ป.ป.ช.ยกเครื่องกฎหมายใหม่ เพิ่มความรับผิดทางอาญาเอกชน
ป.ป.ช.เล็งเห็นความสำคัญปัญหา 'สินบน' ยกเครื่องกฎหมายใหม่ นำผลการศึกษาจาก ตปท.มาใช้ เพิ่มมาตรา 176 บทบัญญัติความรับผิดทางอาญาของ 'นิติบุคคล' ตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเอกชนป้องปรามโกง
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่เอกสารถึงการแก้ไขปัญหาการให้สินบนและรับสินบน โดยดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลกรณีให้สินบน มีรายละเอียด ดังนี้
หลายท่านคงเคยได้ยิน คำว่า ISO อยู่บ่อย ๆ แต่ ISO 37001 คืออะไร เกี่ยวอะไรกับการต่อต้านการทุจริต การให้และรับสินบน เป็นที่ทราบกันว่าปัญหาสินบนถือเป็นภัยร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก โดยสร้างความเสียหาย แก่ระบบเศรษฐกิจและเป็นปัญหาอุปสรรคที่ท้าทายของประเทศต่าง ๆ โดยธนาคารโลกได้ประเมินว่า มีการจ่ายเงินเพื่อการติดสินบนสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี หรือคิดเป็น 3% ของ GDP โลก
ทำให้องค์กร The International Organization for Standardization (ISO) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระและเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีภารกิจในการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ (International Standards) ได้จัดทำระบบการจัดการการต่อต้านการให้และรับสินบน หรือ มาตรฐานสากล ISO 37001 Anti-Bribery Management System : ABMS ขึ้น โดยเป็นมาตรฐานสากลว่าด้วยระบบการบริหารจัดการการป้องกันการให้และรับสินบน เป็นการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการให้และรับสินบนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ไม่จำกัดขนาดและประเภท ทุกประเทศสามารถนำเอามาตรฐานสากลนี้ไปประกาศใช้ในประเทศของตนและโดยความสมัครใจ
โดยระบบมาตรฐานสากล ISO 37001 ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นเครื่องมือในฐานะเป็นมาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการให้สินบนของนิติบุคคลที่เข้มแข็ง ในฐานะ corporate compliance program และในหลาย ๆ ประเทศมีการดำเนินการภายใต้กฎหมายภายในเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนเพื่อให้มีระบบนี้ภายในองค์กร
สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการให้สินบนและรับสินบน จึงได้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลกรณีให้สินบน ซึ่งได้มีการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ รวมถึงการศึกษาและนำหลักการมาตรฐานสากล ISO 37001 มาพิจารณาประกอบการยกร่างมาตรา 176 ส่งผลให้มีความสอดคล้องกับหลักการและแนวปฏิบัติของ ISO 37001 ในส่วนของการขับเคลื่อนและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมาตรา 176 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนิติบุคคลในการต่อต้านการให้สินบน (Anti-Bribery Advisory Service: ABAS) เพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันปัญหาการให้สินบนโดยภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ มีการจัดทำคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคล ซึ่งมีหลักการสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 37001 และสามารถ download คู่มือและเอกสารอื่น ๆ ได้ที่ https://www.nacc.go.th/abas/