จดหมายเปิดผนึกถึงคุณอุ๊งอิ๊งฉบับที่ 2 ซอฟต์พาวเวอร์ ≠ อีเวนต์
ถึงคุณอุ๊งอิ๊งด้วยความห่วงใยยิ่ง ดังที่ได้เตือนคุณแล้วตั้งแต่จดหมายฉบับก่อนว่าให้ระวังให้จงหนักว่าการใช้เงินไปกับอีเวนต์แบบงานวัดนั้นไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ และจะไม่มีทางทำให้คุณไปถึงซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างแน่นอน
การลาออกยกคณะของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ตั้งแต่ประธานยันที่ปรึกษารวม 24 คนเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งที่ทำงานมาไม่ถึง 3 เดือนนั้น ไม่เหนือความคาดหมายใดๆ
ไม่ว่าจะมีการให้เหตุผลอะไร ย่อมเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าคณะอนุกรรมการคงเกิดอาการ “เอือม” กับวิธีการคิดวิธีการปฏิบัติในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหลาย รวมทั้งประธานใหญ่ด้วย
เพราะก่อนหน้านี้เพียงวันเดียวคือวันที่ 17 มกราคมคุณคงได้เห็นว่าประธานอนุกรรมการชุดที่ว่าได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของเธอว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการจัดการแข่งขันใส่กางเกงช้างมากที่สุด เพื่อจะบันทึกลงกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด
มีข้อความที่น่าสนใจว่า “ห้ามก็ไม่ได้ ปรึกษาก็ไม่ปรึกษา” ซึ่งสะท้อนอาการท้อและเอือมถึงขั้นสุด
แม้การผลักดันเรื่องแฟชั่นของไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปทั่วโลกนั้น จะเป็นเรื่องที่แสนเข็นจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ แต่คณะอนุกรรมการชุดนี้ก็ตั้งใจใช้ความพยายามอย่างน่าชื่นชมตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ปัญหาในวงการแฟชั่นไทย
การพยายามหาจุดเด่นของแฟชั่นไทยที่จะไปขายบนเวทีโลก กำหนดแนวทางและมาตรการส่งเสริมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ เรียกว่าใช้ความเป็นมืออาชีพในการวางแผนอย่างรอบด้าน
แต่สุดท้ายก็ต้องถอดใจเพราะเห็นแล้วว่าแผนที่ทำออกมานั้นคงไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเท่าไร
หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจยังคงพึงพอใจกับการจัดอีเวนต์ประเภทวันเดียวจบ จนกระทั่งประธานอนุกรรมการต้องออกมาถามดังๆ ผ่านสื่อโซเชียลว่าอีเวนต์ที่ทำนั้นสร้างคุณค่าอะไรกัน
เมื่อเห็นว่าประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ฯ เห็นดีเห็นงามว่ากางเกงช้างเป็นซอฟต์พาวเวอร์ หน่วยงานก็คิดได้แค่ระดมคนมาแข่งกันใส่กางเกงช้างได้มากที่สุดใน 1 นาทีจะได้ลงเป็นสถิติกินเนสส์
คิดง่ายๆ แค่นี้ก็ไม่ต่างกับเมื่อต้นปีที่แล้วที่มีการเกณฑ์บรรดาทหารห้าพันกว่าคนออกมาไหว้ครูมวยไทยกันที่อุทยานราชภักดิ์ เพื่อให้กินเนสส์บันทึกว่าเป็นการไหว้ครูมวยไทยที่ใช้คนจำนวนมากที่สุด ละลายเงินไปเท่าไรไม่รู้ แล้วเกิดประโยชน์อะไรกับมวยไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์บ้าง
ไม่ใช่เพียงการแข่งขันใส่กางเกงช้างได้มากที่สุดใน 1 นาที กิจกรรมที่จะทำปลายเดือนนี้และอ้างว่าเพื่อโปรโมทซอฟต์พาวเวอร์ไทยยังมีอีกคือ
ใส่หน้ากากผีตาโขนได้มากที่สุดใน 1 นาที
กินปาท่องโก๋ได้มากที่สุดใน 1 นาที
กินป๊อบคอร์นได้มากที่สุดใน 1 นาที
ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที
ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะไม่สร้างคุณค่าใดๆ กับซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ยังเป็นเหมือนกิจกรรมราคาถูกที่ไม่น่าจะมาจากสมองของหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ยิ่งกว่านั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็นั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ เหตุใดจึงปล่อยให้หน่วยงานในกำกับเสนอกิจกรรมที่ไร้รสนิยมเช่นนี้ออกมา
นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้คนในกรรมการชุดใหญ่ก็ยังไม่ตระหนักว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร การทำงานยังไปคนละทิศละทาง ขาดการบูรณาการของทุกเซ็กเตอร์ที่จะขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างมีแผน อย่างนี้เองภาคเอกชนเขาจึงหมดแรงที่จะทำงานด้วย
การผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เรื่องทำอีเวนต์แบบมักง่าย เพราะมีแต่ละลายงบประมาณ และไม่สร้างแรงกระเพื่อมในระยะยาว ทุกเรื่องต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้าน วางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ที่สำคัญคือต้องบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขา ยิ่งกว่านั้นคือต้องมองเห็นภาพใหญ่ที่ถูกต้องร่วมกัน อย่าคิดอะไรแบบวูบเดียวจบ ไม่มีอะไรได้มาในชั่วข้ามคืน
หากทำไม่เป็นจริงๆ ขอเสนอให้กลับไปปัดฝุ่นดูงานศึกษาและวิจัยเรื่อง Creative Economy ที่เคยทำกันไว้ก่อนหน้านี้ และขับเคลื่อนสิ่งที่เคยศึกษาไว้ ไม่ต้องคิดใหม่ เพราะคิดแต่ละเรื่องเห็นแล้วท้อ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็มีอยู่แล้ว เอามาใช้ประโยชน์ อย่าไปตั้งหน่วยงานซ้ำซ้อนให้เปลืองงบประมาณ
ซอฟต์พาวเวอร์ยังต้องเผชิญขวากหนามอีกมากนัก ตราบใดที่คุณอุ๊งอิ๊งเองยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร จะขับเคลื่อนอย่างไร หน่วยงานทั้งหลายก็ทำไปตามที่เข้าใจ ทำแบบที่เคยทำ ก็อย่าไปหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลง และแน่นอนอาจต้องตั้งอนุกรรมการกันใหม่อีกหลายรอบแทนคนที่เขาจะโบกมือลา
ในที่สุดก็ขอเพียงอย่าเหลือแต่กรรมการประเภททำงานไม่เป็น เป็นแต่คอยพยักหน้ารับคำสั่ง หรือคอยแต่จะหาประโยชน์เข้ามาทำงานให้คุณอุ๊งอิ๊งก็แล้วกัน แสนจะเป็นห่วงคุณจริงๆ