‘เศรษฐา’วางไลน์ 4 ปี เดินสายพีอาร์ บูสต์โซเชียลฯ
การทำงานการเมืองของเศรษฐา จะสร้างความนิยมให้เพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้มากแค่ไหน สมัยหน้าจะไปต่อสมัย 2 หรือต้องพอแค่รอบนี้ ก็ต้องจับตา
Key Points
- การอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ของเศรษฐา ทวีสิน ต้องรักษาอำนาจให้นานที่สุด
- คนเป็นนายกฯ ต้องบริหารความคาดหวังจากประชาชน และ สส.เพื่อไทย ไปพร้อมกัน แต่หลายเรื่องก็เหมือนยังไม่ได้มีการตอบสนองแต่อย่างใด
- การลงพื้นที่ถี่ยิบ มุมหนึ่งเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน แต่อีกมุมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายกฯ ถูกมองว่าหาคอนเทนต์พีอาร์ สร้างความนิยมทางการเมือง
- ในจังหวะที่นโยบายเรือธงของรัฐบาล เริ่มชะลอตัว หลายฝ่ายก็ยังคาดหวังบทบาทเศรษฐา ในการผลักดันและตัดสินใจหลายเรื่องใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งรอการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
- คนในเพื่อไทยเอง ยังอดเสียดายไม่ได้ เมื่อมีโอกาสขึ้นสู่อำนาจ แต่คิวเดินสายนายกฯ กลับแน่นจนไม่มีเวลาโฟกัสเรื่องยากๆ
- เดิมพันของเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้แรงหนุนจากการเป็นนายกฯ ของเศรษฐา มากน้อยแค่ไหน หรือการประคองตัวในตำแหน่งรอบนี้ให้นานที่สุด เป็นภารกิจหลักเฉพาะตัวหรือไม่
การอยู่ในอำนาจ หรือการเป็นรัฐบาล ความยากคือการบริหารจัดการความคาดหวัง และความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ เพื่อให้มีแรงโอบอุ้มสนับสนุน ไม่ให้กลายเป็นแรงต่อต้าน
คนเป็นนายกรัฐมนตรีจึงต้องแบกรับความกดดันในส่วนนี้มากกว่าใครหลายคนในคณะรัฐมนตรี ในเมื่อมีโอกาสเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร จึงต้องรักษาสถานะในการครองอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ปัจจัยสำคัญ คือการทำผลงานให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศพึงพอใจ ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งสำคัญ คนเป็นผู้นำต้องกล้าตัดสินใจแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมประเทศ
เมื่อย้อนมาดูนายกฯ คนปัจจุบัน เศรษฐา ทวีสิน ที่เน้นเดินสายทั้งในและนอกประเทศเป็นว่าเล่น จุดประสงค์สำคัญคือ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและตัวเลขการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลัก
หลายจังหวัดทั่วทุกภาค เศรษฐา เดินสายไปเยือนอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต อุบลราชธานี พิษณุโลก สระบุรี ลพบุรี ประชุมครม.สัญจร ในจังหวัดเมืองรอง และมีคิวตระเวนไปอีกเพียบ
โดยไฮไลต์จะอยู่ที่การลงพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ 27-29 ก.พ.นี้ เศรษฐา และคณะจะค้างคืนที่ปัตตานี และ อ.เบตง จ.ยะลา เพราะมีเมนูท้องถิ่นที่นายกฯ อยากลิ้มลอง ในพื้นที่ที่ยังเกิดเหตุความรุนแรงอยู่เป็นระยะ
งานนี้จะเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงในการอารักขา ดูแลความปลอดภัยให้กับคณะเศรษฐา ท่ามกลางข้อห่วงใยว่า การจัดอีเวนต์ไปในพื้นที่ชายแดนใต้ จะยิ่งเป็นการยั่วยุกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่ และจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติด้วยหรือไม่เช่นเดียวกัน
ในจังหวะที่นโยบายแก้ว 3 ประการที่สำคัญของรัฐบาล เริ่มออกอาการชะลอตัว แนวทางอาจจะยังไม่ชัดเจน ได้แก่ ดิจิทัลวอลเล็ต แลนด์บริดจ์ และซอฟต์พาวเวอร์ อาจจะเพราะเจอเงื่อนไข หรือปัจจัยแทรกซ้อน ที่ไม่เคยคิดว่าจะเจอนั่นเอง
ทีมยุทธศาสตร์ และตัวเศรษฐาเอง คงมองเห็นตรงกันว่า ในเมื่อนโยบายหลายอย่างที่จะสร้างความนิยมให้รัฐบาล ยังบูสต์ขึ้นไม่ได้เท่าที่ควร แม้จะมีมาตรการลดราคาพลังงาน มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ฟรีวีซ่า การขยายเวลาพำนักในประเทศไทยให้บางชาติ แต่นโยบายจำพวกลดแลกแจกแถม เม็ดเงินยังไม่เข้ากระเป๋าประชาชนโดยตรง ความคาดหวังจากข้างล่างถึงรัฐบาล ก็ยังรออยู่
ที่สำคัญหลายนโยบายสำคัญที่รอการตัดสินใจ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศ และคนรุ่นต่อไป ทั้งนโยบายการศึกษา โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำ ธุรกิจผูกขาด การปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปตำรวจ หรือเรื่องใหญ่ที่จะเปลี่ยนเกมสำหรับประเทศไทย และที่มีผลต่อคนทั้งประเทศ เช่น กาสิโนถูกกฎหมาย บุหรี่ไฟฟ้า กัญชาเสรี ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ก็ยังตั้งตารอว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร
ทว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในตัวผู้นำคนนี้ คือการนำเสนอทุกความเคลื่อนไหวของตัวเอง ไม่ว่าจะลงพื้นที่เป็นประธานการประชุม หรือจะทำอะไรก็ตาม โลกต้องเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งในบัญชีผู้ใช้งานของเศรษฐาเอง และบรรดาช่องทางโซเชียลฯ ลูกคู่อื่นๆ ที่ตั้งชื่อให้เข้าใจว่าเป็น FC ของเศรษฐา มีทีมงานรับผิดชอบเรื่องนี้เป็นเรื่องเป็นราว
จึงพอจะเข้าใจได้ว่า การลงพื้นที่แบบถี่ยิบของเศรษฐา นอกจากไปพบปะเยี่ยมเยียนประชาชน เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนแล้ว ผลพลอยได้อีกอย่าง คือมีคอนเทนต์ไปลงโซเชียลฯ เพื่อพีอาร์นายกฯ ไปในตัว
นอกจากนั้น หากสังเกต เพจสำนักข่าวต่างๆ ในโซเชียลฯ ที่นำเสนอความเคลื่อนไหวของเพื่อไทย หรือนายกฯ จะเห็นว่ามีคนเข้ามาคอมเมนต์เชียร์ หรือยกย่อง เป็นผู้นำที่สุดยอด ไปในทิศทางเดียวกันจำนวนมาก
จนมีบางคน ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นยุทธวิธีใช้มวลชนจัดตั้งเพื่อให้เกิดอุปทานหมู่คล้อยตามกันไปหรือไม่
คนในวงโคจรของรัฐบาลจำนวนไม่น้อย อดเสียดายแทนไม่ได้ว่า คิวเดินสายของนายกฯ แน่น จนอาจไม่มีเวลานั่งนิ่งๆ โฟกัสกับการแก้ปัญหาสำคัญๆ หรือขับเคลื่อนเรื่องยากๆ ที่ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ชัดเจน
หรือการที่เศรษฐาประกาศอยู่ครบเทอมรัฐบาล 4 ปี ก็อาจวางไทม์ไลน์ หรือมีแผนการทำงานของตัวเองเอาไว้แล้วก็ได้ ว่าเรื่องไหนถูกจัดลำดับเอาไว้จัดการเมื่อไหร่ เรื่องผลงานรัฐบาลที่เป็นตัวชูโรง อาจยังต้องรอเวลา
เหมือนกับบรรดา สส.เพื่อไทย ที่คาดหวังความต้องการที่จะได้รับจากนายกฯ เพื่อขับเคลื่อนการเมืองและพื้นที่ แต่ถึงวันนี้หลายคนก็อาจจะต้องรอต่อไป ซึ่งแทบจะเป็นทุกยุค ความต้องการของนักการเมืองไม่มีที่สิ้นสุด และการตอบสนองของนายกฯ ก็ไม่ทั่วถึงเป็นธรรมดา ปฏิกิริยาตอบกลับที่จะมาถึงตัวผู้นำก็ต่างกันไป หนักบ้างเบาบ้าง แล้วแต่สถานการณ์
น่าสนใจว่า การทำงานการเมืองของเศรษฐา จะสร้างความนิยมให้เพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้มากแค่ไหน สมัยหน้าจะไปต่อสมัย 2 หรือต้องพอแค่รอบนี้ ก็ต้องจับตา
แต่ที่แน่ๆ การอยู่ในเก้าอี้ผู้นำให้นานที่สุด อาจเป็นภารกิจหลักของนายกฯ คนนี้ ก็คงไม่ผิด