'ภูมิธรรม' สวน กก.อย่าด่วนสรุปคดีจับนักข่าว ตร.มีหลักฐานชัดร่วมสนับสนุน
'ภคมน' ถามนายกฯ วางแนวทางส่งเสริมเสรีภาพสื่ออย่างไรไม่ให้โดนละเมิด หลังเกิดเหตุจับนักข่าว-ช่างภาพ 'ภูมิธรรม' สวนกลับ อย่ารีบจิตนาการด่วนสรุป เผย ตร.มีหลักฐานชัดร่วมสนับสนุน ซัดกลับสบายใจหรือที่หัวหน้า-อดีตหัวหน้า สัมพันธ์กับผู้ก่อคดีคุกคามขบวนเสด็จ
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี เรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน โดยนายกฯมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบแทน
โดย น.ส.ภคมน กล่าวว่า การละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในยุครัฐบาลเผด็จการและยุครัฐบาลสืบทอดอำนาจ แต่จากกรณีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่มีการจับกุมสื่อมวลชน 2 คนตามหมายจับศาลอาญาลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เชื่อมโยงว่าสื่อมวลชนเหล่านั้น “ร่วมสนับสนุนการกระทำผิดในคดีอาญา” จากการทำข่าวกิจกรรมพ่นสีบนกำแพงวัดพระแก้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ตนมองว่าการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการทำข้ามขั้นตอน เพราะไม่มีการส่งหมายเรียกก่อน จึงฝากคำถามไปยังรัฐบาลว่า ปล่อยให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นได้อย่างไร และจะแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร
“ดิฉันมีความเป็นห่วง เพราะในสังคมที่มีความเห็นต่าง กระบวนการยุติธรรมต้องเชื่อถือได้และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ดิฉันไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนี้ปิดปากหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่เราจำเป็นต้องนำเรื่องนี้มาพูดคุยกัน ว่ากระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน เราจะแก้ไขอย่างไร” น.ส.ภคมน กล่าว
น.ส.ภคมน กล่าวอีกว่า ตนมีความกังวลเนื่องจากบริบทสื่อมวลชนในประเทศไทย สื่อไม่สามารถมีอิสระได้อย่างเต็มที่ เพราะธุรกิจสื่อต้องพึ่งพาแหล่งทุน ทำให้การที่รัฐกดดันสื่อและปิดปากสื่อผ่านการสร้างความกลัว ทำได้ง่ายมาก เพราะท้ายที่สุด ทุนจะไปกดดันสื่อต่อ ไม่มีทุนไหนพร้อมแบกความเสี่ยงโดยการทำให้รัฐไม่พอใจ เมื่อรัฐออกหมายจับ เมื่อถูกตีตราว่าผิด ต้นสังกัดที่ต้องพึ่งพาทุน ก็ต้องปกป้องตัวเองและเลือกผลักไสแรงงานสื่อเหล่านี้ออกไป กรณีแบบนี้เกิดหลายครั้ง เป็นการสร้างความหวาดกลัวในยุคเผด็จการ แต่วันนี้ในยุครัฐบาลพลเรือน เราจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นต่อไปอย่างนั้นหรือ ดังนั้น คำถามที่ 2 ที่จะถามรัฐบาลคือ ในยุครัฐบาลพลเรือน จะมีการคุ้มครองเสรีภาพสื่ออย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย มีประเด็นล่อแหลม เช่น การชุมนุมทางการเมือง
น.ส.ภคมน กล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐต้องตระหนักอยู่เสมอ คือสื่อไม่ใช่ PR หรือ IO ของรัฐ เมื่อใดก็ตามที่สื่อหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพ หยิบปากกาขึ้นมาบันทึกสถานการณ์ ข้อเท็จจริงออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ หน้าที่หลักของสื่อไม่ใช่การนำเสนอความเห็นเพื่อเทิดทูนและสร้างความราบรื่นให้แก่รัฐ แต่เป็นการสะท้อนปรากฏการณ์ สะท้อนความจริง ไม่ว่าความจริงนั้นจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายไหน
น.ส.ภคมน กล่าวว่า ตนอยากเห็นภาพที่แตกต่างไปจากช่วงรัฐบาลเผด็จการ ที่ผ่านมาสื่อมวลชนถูกกดให้หลังขดหลังงอ เราจะทำอย่างไรให้สื่อสามารถยืนหลังตรงได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง ประเด็นที่แหลมคมในสังคม ท่านเป็นตัวแทนรัฐบาลพลเรือน ควรภาคภูมิใจที่สังคมกล้าขับเคลื่อนประเด็นที่ก้าวหน้า ไม่ใช่แค่การทำข่าวดราม่า ข่าวฆาตกรรม พอเป็นข่าวแบบนี้ รัฐแทบไม่เคยยุ่ง แต่เมื่อไรที่เป็นเรื่องทางสังคม เรื่องการเมือง รัฐจะต้องสอดมือเข้ามาทันที
“ดังนั้นคำถามสุดท้าย ในภาพใหญ่ รัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมเสรีภาพของสื่ออย่างไรไม่ให้ถูกละเมิดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ไม่ให้สื่อถูกเซ็นเซอร์ ไม่ให้ถูกฟ้องปิดปาก และรัฐบาลจะการันตีได้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ลิดรอนเสรีภาพสื่อ จะเป็นครั้งสุดท้าย ในฐานะคนเคยทำสื่อ ยืนยันว่าเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน ดิฉันขอใช้พื้นที่สภาฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย คุยกันถึงหลักการในอนาคต ดิฉันยังหวังว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้ จะสลัดรอยต่อของรัฐบาลเผด็จการ คืนศักดิ์ศรีคืนเสรีภาพให้สื่อมวลชน” น.ส.ภคมน กล่าว
ด้าน นายภูมิธรรม ลุกขึ้นชี้แจงว่า ขณะนี้กระบวบการยุติธรรมกำลังทำงาน อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า รัฐบาลปิดปาก ลองดูกระบวนการยุติธรรมก่อน หากชัดเจนแล้วว่า ไม่มีหลักฐานอะไรแล้วคุกคาม ตนคิดว่ารัฐบาลนี้ก็ไม่ปล่อยให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกคุกคาม หากด่วนสรุปไปตนคิดว่า ทุกวันนี้อะไรที่ใช้กฎหมายในการทำงานต้องคำนึงถึงหัวใจของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงต้องคำนึงถึงหัวใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานต่างๆ ซึ่งอาจจะมีผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ว่ากันไปเป็นรายๆ อย่าเหมารวมว่าเป็นระบบ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า อยากยืนยันคือในโซเชียลมีเดีย นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกท่านต่างก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ มากกว่านั้นถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกเฟกนิวส์ โดยบางครั้งเป็นไปในลักษณะคุกคาม แต่รัฐบาลไม่เคยมอบหมายใครให้ไปฟ้องคนเหล่านั้น ตนเชื่อมั่นในเสรีภาพในการพูด และมั่นใจว่าความหลากหลายของเนื้อหาเหล่านี้ท้ายที่สุดจะถูกคัดกรองด้วยตัวของมันเองจากวุฒิภาวะของสังคม และจากประชาชนที่มีจิตใจเที่ยงธรรมที่จะได้มองว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร เป็นความผิดแบบไหน ใครควรที่จะรับผิดชอบ
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า กรณีสื่อมวลชน 2 ราย รัฐบาลเสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่หมายจับออกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา ดังนั้น กระบวนการจับกุมไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่รัฐบาลเข้าไปก้าวก่าย ท่านควรดูอย่างรอบค้าน ทำใจให้เป็นธรรม ท่านคงไม่สบายใจที่จะให้รัฐบาลไปล้วงลูกทุกคดีที่เกิดขึ้น ปล่อยให้กระบวนการทำไปแล้วถ้ามีปัญหาก็ค่อยแก้ไข วันนี้สื่อมวลชนทั้ง 2 คนได้รับการประกันตัว ขอให้รอดูว่า ถูกหรือผิด ถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ แล้วค่อยมาดูว่า จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“ถามจริงๆท่านสบายใจหรือ ที่หัวหน้า หรืออดีตหัวหน้าของท่านไปสัมพันธ์กับผู้ก่อคดีคุกคามขบวนเสด็จอยู่ โบราณว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี จู่ๆ เรื่องนี้มาโทษรัฐบาล ผมว่าฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างมีเหตุผล แทนที่จะไปพูดถึงบุคคลที่ได้ดำเนินการถูกผิดแล้วเข้าสู่กระบวนการอย่างเคร่งครัด” นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ท่านเรียกร้องให้เคร่งครัด เวลานี้กระบวนการยุติธรรมก็เคร่งครัด เมื่อวานนี้ ท่านกำลังเรียกร้องให้เคร่งครัดอยู่ดีๆ วันนี้ท่านก็มาบอกว่า รัฐบาลกำลังใช้อำนาจคุกคาม ท่านคงไม่สบายใจ หากมีใครมากล่าวหาท่านว่าอยู่เบื้องหลังต่างๆ ผมขอให้ท่านใจเย็นๆอยากให้ช่วยคิด ช่วยดู ทุกอย่างว่าตามเหตุผล กฎหมาย กระบวนการกฎหมายทั้งกรณีพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว บีบแตรขบวนเสด็จ กำลังดำเนินการ แต่พยายามทำอย่างนุ่มนวล จนหลายคนบอกว่าเ จ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำงานอย่างเคร่งครัด อยากให้ดูให้ครบถ้วน อย่าเพิ่งด่วนสรุป สร้างวาทกรรม ยืนยันรัฐบาลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทุกคน” นายภูมิธรรม กล่าว
“อย่ากังวล อย่าหมกมุ่น อย่าจินตนาการว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาทำแบบนั้นแบบนี้ เรายึดตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองสื่อมวลชน และรัฐบาลส่งเสริมให้สื่อตรวจสอบกันเอง ตนไม่อยากให้เอาเรื่องในอดีตมาปลุกปั่นเป็นประเด็นในขณะนี้ ถ้าถึงที่สุดหลักฐานไม่เพียงพอค่อยมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่เขายืนยันว่ามีหลักฐานครบถ้วน จึงขอให้กระบวนการดำเนินการไปก่อน” นายภูมิธรรม กล่าว