ฉากชีวิต 75 ปี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หวังชีวิตการเมืองเป็นอมตะ
“ผมต้องการให้การต่อสู้ของผม ให้ชีวิตผม เป็นอมตะของครอบครัวของลูกหลาน” คำกล่าวที่ “ทักษิณ” เคยพูดไว้ผ่านคลิปวิดีโอ Long Distance Call เมื่อวันเกิดครบ 73 ปี เมื่อปี 2565
KEY
POINTS
- "ผมเองเคยทำผิดพลาดก็หลายครั้งหลายหน ทุกคราวล้วนสร้างความลำบาก ก่อแรงบีบคั้นให้กับชีวิต และครอบครัวมาก อย่างสาหัส” ทักษิณ ชินวัตร ระบุผ่านหนังสือ "ตาดูดาว เท้าติดดิน"
- นำพรรคไทยรักไทยขึ้นสู่จุดสูงสุดชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23
- “ทักษิณ” เกือบเล่นการเมืองในนาม “พรรคประชาธิปัตย์” จากการชักชวนของ “ชวน หลีกภัย” ในการเลือกตั้ง 2535/2
- พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ชักชวนให้เข้าสู่การเมือง โดยรับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เมื่อปี 2537
- "ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง และอยู่ครบวาระ 4 ปี
- “ทักษิณ”ลี้ภัยในต่างประเทศ กลับมายังประเทศไทย เป็นครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 และกลับมาอีกครั้ง เมื่อ 22 สิงหาคม 2566 เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
- "ผมตัดสินใจแล้วว่า จะกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้ว ที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ” ทักษิณ ระบุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566
- ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจากโทษจำคุก 8 ปี เหลือจำคุก 1 ปี
- เข้าหลักเกณฑ์พักโทษ ได้รับการปล่อยตัวช่วงที่ครบ 6 เดือน วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 แบบพอดี
"ชีวิตของผม ผ่านมาแล้วหลากรูปแบบ ตั้งแต่ดินจนถึงดาว เติบโตอย่างเด็กบ้านนอก ไปร่ำเรืยนหนังสือในต่างประเทศ ตกต่ำไม่เห็นอนาคต จนลืมตาอ้าปาก มีฐานะมั่นคง ฯลฯ ระหว่างทางที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ผมเองเคยทำผิดพลาดก็หลายครั้งหลายหน ทุกคราวล้วนสร้างความลำบาก ก่อแรงบีบคั้นให้กับชีวิต และครอบครัวมาก อย่างสาหัส”
เป็นถ้อยคำตอนหนึ่งของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่บอกเล่าความจริง และความรู้สึก ลงในคำนำหนังสือ “ตาดูดาว เท้าติดดิน”
หนังสือเล่มดังกล่าว ได้รับความนิยม เพิ่มยอดตีพิมพ์อยู่หลายครั้ง มีช่วงหนึ่ง “ทักษิณ” ได้พูดถึงคำเตือนของมารดาเมื่อปี 2513
“จำไว้นะลูก ถ้าฐานะยังไม่ดีจริงๆ อย่าเล่นการเมือง เล่นการเมืองต้องเสียสละมาก ดูอย่างพ่อสิ ต้องเสียทั้งเงิน ทั้งเวลา แล้วยังเดือดร้อนครอบครัวอีก”
จุดสูงสุดนายกฯ 2 สมัย นำ "ไทยรักไทย" ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย
ตลอดเส้นทางชีวิตของ “ทักษิณ” ที่ปัจจุบันใกล้เข้าสู่วัย 75 ปีเต็ม ล้วนเต็มไปด้วยความสำเร็จ อุปสรรค ลำบาก ผิดหวังปะปน
แต่สิ่งที่ประสบความสำเร็จในทางการเมืองที่สุด คือ การก้าวขึ้นสู่ นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศ
ด้วยการนำพาพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 2544 และปี 2548 ด้วยกระแสฟีเวอร์ “แลนด์สไลด์ไทยรักไทย”
“ทักษิณ ชินวัตร” เกิด 26 กรกฎาคม 2492 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมฯ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (2508)
ระดับอุดมศึกษา ที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 ( ปี 2512) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (ปี 2516) โดยสอบได้ที่ 1 ของรุ่น ระดับปริญญาโท โดยได้รับทุน ก.พ.ในสาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี (สำเร็จการศึกษาในปี 2518) และระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต (ปี 2521)
ในปี 2523 ทักษิณเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ในระหว่างรับราชการตำรวจ เช่น ค้าขายผ้าไหม กิจการโรงภาพยนตร์ ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่ประสบความล้มเหลว มีภาระหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท
ต่อมา ในปี 2530 ทักษิณ ลาออกจากราชการตำรวจ และก่อตั้ง บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีของไทย
เกือบซบ "ปชป." เล่นการเมืองตอนพร้อมที่สุด สมัย "พลังธรรม"
ฉากชีวิต “ทักษิณ” ในสนามการเมืองแบบเต็มตัว เริ่มต้นจากการชักชวนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ให้เข้ารับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เมื่อปี 2537 ในรัฐบาล “ชวน หลีกภัย 1”
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น “ทักษิณ” เกือบเล่นการเมืองในนาม “พรรคประชาธิปัตย์” จากการชักชวนของ “ชวน หลีกภัย” ในการเลือกตั้ง 2535/2 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
แต่ด้วย “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” ภรรยาได้ทักท้วงในขณะนั้นว่า “ควรจะสร้างคนรุ่นใหม่ และระบบชินวัตรให้ลงตัว จนเราสามารถวางมือเสียก่อน”
และเมื่อมีความพร้อมที่สุด “ทักษิณ” ก็ตอบรับข้อเสนอของ “จำลอง” ด้วยการรับตำแหน่งรัฐมนตรี
“ทักษิณ” รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม และลงสมัคร สส.กทม.และนำพรรคพลังธรรม กวาด สส.มาได้ 23 ที่นั่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2538 ได้เป็น สส.สมัยแรก
เส้นทางสุดท้ายระหว่าง“ทักษิณ”กับ “พลังธรรม” ต้องถึงฉากจบ เมื่อทักษิณไม่ลงสมัคร สส.ในการเลือกตั้งเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2539 เป็นผลให้พรรคพลังธรรมสอบตกเกือบยกพรรค เหลือเพียง สส. 1 ที่นั่งใน กทม. คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ขณะเดียวกัน ในช่วงสังกัดพรรคพลังธรรม “ทักษิณ”เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี 2538 และรองนายกฯ ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อปี 2539
รุ่งที่สุด "นายกฯ" คนแรกตั้งรัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี ผลงานจับต้องได้
จุดรุ่งที่สุดในทางการเมือง คือเมื่อ 14 กรกฎาคม 2541 “ทักษิณ” ได้ก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” ร่วมกับแกนนำบางส่วนที่มาจากพรรคพลังธรรม พร้อมชูสโลแกนพรรค “คิดใหม่ ทำใหม่”
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 "ทักษิณ" นำพรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งกวาด สส.ได้ถึง 248 เสียง
กระทั่ง 9 กุมภาพันธ์ 2544 สภาฯ เห็นชอบให้ “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี ของไทยคนที่ 23 พร้อมจัดตั้งรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง และอยู่ครบวาระ 4 ปี ( 17 กุมภาพันธ์ 2544 - 11 มีนาคม 2548 )
ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไป 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทย ก็ยังครองอันดับหนึ่ง และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ด้วยคะแนนเสียงมากถึง 377 เสียง
ทำให้ “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 เมื่อ 11 มีนาคม 2548
ทว่า จุดสูงสุดของทักษิณ ได้ยุติเพียงเท่านั้น เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยถูกตรวจสอบเรื่องทุจริตคอร์รัปชันอย่างหนัก จนเกิดวิกฤติทางการเมือง มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดย “สนธิ ลิ้มทองกุล” และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นำชุมนุมขับไล่ทักษิณ
19 กันยายน 2549 “ทักษิณ”ถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ยึดอำนาจ กลายเป็นจุดเปลี่ยน จบเส้นทางการเมืองเบื้องหน้าของเขา
ทว่า ผลงานของ "ทักษิณ" และรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่ถูกเรียกขานว่า "ประชานิยม" ก็ยังเป็นที่จดจำ เพราะความต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา อาทิ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ซึ่งเรียกว่า “หวยบนดิน” รวมทั้งผลักดันนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด
“พรรคไทยรักไทย” ก็มาถึงจุดจบสุดท้ายเช่นกัน เมื่อถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยุบพรรคในปีถัดมา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550
ต้องโทษจำคุก-ลี้ภัยการเมือง เป็นผู้นำพเนจรต่างแดน
หลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 “ทักษิณ” ที่ลี้ภัยในต่างประเทศ ได้กลับมายังประเทศไทย เป็นครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อสู้คดีต่างๆ ภายหลัง “พรรคพลังประชาชน” ชนะเลือกตั้ง โดยมี “สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 25
31 กรกฎาคม 2551 ศาลฎีกาฯ อนุญาต “ทักษิณ-พจมาน” เดินทางไปประเทศจีน เพื่อไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ตามคำเชิญของรัฐบาลจีน แต่ทั้งสองกลับเดินทางต่อไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง โดยไม่เดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาลคดีการเมือง นับจากวันนั้นเป็นต้นมา “ทักษิณ” ก็ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศมาตลอด
1 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก “ทักษิณ” เป็นเวลา 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดา และเป็นคดีแรกที่ทำให้ทักษิณ มีโทษจำคุกพร้อมทั้งตัดสินใจใช้ชีวิตในต่างประเทศ มีที่พำนักอยู่ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ฉากชีวิตในต่างประเทศของ “ทักษิณ” แม้ตัวจะอยู่ห่างไกลจากไทย แต่ความคิดและจิตวิญญาณของเขา มีผลต่อการขับเคลื่อนของพรรคการเมือง รุ่นที่ 3 อย่าง “พรรคเพื่อไทย” อยู่ตลอดเวลา
3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวสุดท้องคนโปรดของ “ทักษิณ” ขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย และเป็นนายกฯ คนที่ 28 ได้สำเร็จ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะครั้งนี้ มาจากการหาเสียง ที่ใช้ดีเอ็นเอ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”
ทว่า เพียงไม่นาน วิบากกรรมของน้องสาว ขณะเป็นนายกฯ ก็กลับซ้ำรอยพี่ชาย เหมือนหนังภาคสอง
เมื่อเกิดการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และที่สุดเป็นเงื่อนไข ให้ผู้นำเหล่าทัพในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ตัดสินใจยึดอำนาจ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
ช่วงที่ คสช.ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินนั้น วันที่ 6 กันยายน 2558 คสช.ใช้อำนาจ มาตรา 44 ถอดยศตำรวจทักษิณ โดยระบุ ว่า “เป็นกรณีกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และมีความจําเป็นต้องดําเนินการเป็นการด่วน”
ช่วงปี 2565-2566 เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง มีการเปิดตัว “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลูกสาวมีดีเอ็นเอการเมืองของทักษิณชัดเจน และไม่เกินความคาดหมายเมื่อต่อมา “แพทองธาร” ถูกวางตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย
ก่อนเลือกตั้งปี66 ประกาศจะกลับไทยไปเลี้ยงหลาน
เหตุการณ์ช่วงนั้น "ทักษิณ" ประกาศอยู่หลายครั้งผ่านรายการแคร์ ในคลับเฮาส์ ว่าจะกลับประเทศไทยอยู่เป็นระยะ ก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566
“ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่า จะกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้ว ที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ” ทักษิณ โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566
ในที่สุด จึงเป็นการปิดฉาก 15 ปีอดีตผู้นำพเนจรในต่างแดน เมื่อ 22 สิงหาคม 2566 “ทักษิณ” เดินทางกลับถึงไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาล พร้อมถูกนำตัวไปยังศาลฎีกา ก่อนถูกควบคุมตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่กลับถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ด้วยอาการป่วยฉุกเฉินในคืนวันเดียวกัน
อภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1 ปี เข้าเกณฑ์พักโทษ ถูกโจมตีนักโทษเทวดาชั้น 14
1 กันยายน 2566 “ทักษิณ” ได้รับพระราชทานอภัย ลดโทษ จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือจำคุก 1 ปี เพื่อให้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยช์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชนสืบไป โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
13 กุมภาพันธ์ 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า มีผู้ได้รับการพักโทษ 930 คน ซึ่งมีชื่อของ “ทักษิณ” รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์ เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งจะได้รับการพักโทษ เมื่อได้รับโทษมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน
ดังนั้น หากนับจากวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ "ทักษิณ" เดินทางมา เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และถูกโจมตีดิสเครดิตอยู่ตลอดว่า เป็น “นักโทษเทวดาชั้น 14”
เงื่อนเวลาการพักโทษ จนได้รับการปล่อยตัวช่วงที่ครบ 6 เดือน คือ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 แบบพอดี
การเมืองไทย หลัง “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษอย่างเป็นทางการ ดุลอำนาจในรัฐบาลเพื่อไทยที่แท้จริง คงอยู่ที่"ทักษิณ"มากขึ้นกว่าเดิม
“ผมต้องการให้การต่อสู้ของผม ให้ชีวิตผม เป็นอมตะของครอบครัวของลูกหลาน” คำกล่าวที่ “ทักษิณ” เคยพูดไว้ผ่านคลิปวิดีโอ Long Distance Call เมื่อวันเกิดครบ 73 ปี เมื่อปี 2565