17 ปีโค่นอำนาจ ‘ชินวัตร’ ไม้แก่ไม่ยอมล้ม
"แพทองธาร" คลื่นลูกใหม่ของตระกูลชินวัตร เตรียมพร้อมเป็นนายกฯหญิงคนที่สองของไทย ส่วน “ทักษิณ” จะได้รับหน้าที่พิเศษหรือไม่ และ อนาคต “ยิ่งลักษณ์” จะเป็นอย่างไร คอการเมืองไทยยังได้ตามลุ้นกันไปยาวๆ
Key Point:
- วิกฤติการเมืองไทยช่วง 10 ปี ก่อเกิดรัฐประหารทั้งสองครั้ง ผู้นำกองทัพ หวังขจัดขั้วอำนาจเก่าทักษิณให้หมดสิ้น
- "ทักษิณ" หนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลสูงต่อการเมืองไทย แม้ตัวไม่ได้อยู่ไทย แต่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนสูง
จุดเปลี่ยนชีวิต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ผู้นำรัฐบาลคนแรกของไทย ที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี (การเลือกตั้ง 6 ม.ค. 2544) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2548
หลังช่วงค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 กองทัพที่นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ได้รัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ ขณะที่นายกฯทักษิณ ขณะเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ขบวนรถถังได้เคลื่อนไปตามถนนราชดำเนิน ขณะเดียวกันกองทัพได้ส่งกำลังทหารเข้าควบคุมสัญญาณการออกอากาศของทีวีทุกช่อง ให้ตัดเข้าโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทันทีที่รู้ข่าว แม้"ทักษิณ" จะพยายามสั่งปลด พล.อ.สนธิ ข้ามประเทศ และเตรียมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม.ผ่านทางทีวีช่อง 9 อสมท. แต่ก็ไม่ทันการเพราะถูกทหารบุกยึด และเข้าตัดสัญญาณเสียก่อน
เมื่อการรัฐประหารเสร็จสิ้นแล้ว พล.อ.สนธิ ได้เชิญ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้เปลี่ยนชื่อเป็น"คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" หรือ คมช.
ส่วน "ทักษิณ"กลายเป็นอดีตนายกฯ พลัดถิ่น เคลื่อนไหวในต่างประเทศ ต่อต้านรัฐบาลรัฐประหาร แต่กระแสนิยมในขณะนั้นกลับถูกสั่นคลอน เนื่องจากมีปัญหาการบริหารประเทศหลายประการ ที่ถูกตรวจสอบและตั้งคำถาม นับตั้งแต่เป็นรัฐบาลสมัยแรก
ต่อมาเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น "ทักษิณ"ยังถูกตรวจสอบการกระทำที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย กลายเป็นกระแสความไม่พอใจจากหลายคนในสังคม โดยเฉพาะการขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่นกับกองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์ โดยไม่ต้องเสียภาษี
แรงกดดันอย่างหนักก่อนถูกยึดอำนาจ เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้น มีการจัดชุมนุม “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ ม็อบเสื้อเหลือง โดยมีแกนนำสำคัญ สนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พิภพ ธงไชย สมศักดิ์ โกศัยสุข และสมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ นัดชุมนุม โจมตีทักษิณและรัฐบาล พร้อมทั้งกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก จนเป็นที่มารัฐประหาร ปี 2549 และตามมาด้วยการยุบพรรค
เมื่อเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน "ทักษิณ"รอจังหวะกลับประเทศไทยครั้งแรก หลังลี้ภัยในต่างประเทศ 1 ปี 5 เดือน ขณะที่พรรคพลังประชาชน ที่ตั้งขึ้นมาแทนพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบ ชนะการเลือกตั้ง และ สมัคร สุนทรเวช ขึ้นมาเป็นนายกฯ โดยถูกมองว่าเป็นรัฐบาลนอมินี
28 ก.พ.2551 "ทักษิณ" ก้มกราบแผ่นดิน ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กลายเป็นภาพที่จารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ท่ามกลางการเผชิญกับหลายคดีความในขณะนั้น หลังคณะรัฐประหารตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อตรวจสอบ และดำเนินคดีกับทักษิณและคนในรัฐบาลของเขา
ทว่า 5 เดือน ต่อมา "ทักษิณ"ได้ขออนุญาตศาลฯ เดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีนและญี่ปุ่น ก่อนที่จะชัดเจนในเวลาต่อมา เมื่อถึงวันนัดให้ไปรายงานตัวต่อศาลวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ก็ไม่ปรากฎการเข้ารายงานตัวต่อศาล นับแต่นั้นทักษิณก็ไม่เดินทางกลับไทยอีกเลย
ต้องยอมรับว่า ทักษิณ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ยังมีอิทธิพลสูงต่อการเมืองไทย แม้ตัวไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ต่อสู้ทวงคืนความยุติธรรม จนเกิดวิกฤติการเมืองช่วงปี 2552-2553 ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
กระทั่งการเลือกตั้งปี 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ขึ้นเป็นนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย ด้วยคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งท่วมท้น จากต้นทุนการเมือง ที่เป็นน้องสาวของทักษิณ และพรรคเพื่อไทยก็มาจากรากเหง้าเดิมพรรคไทยรักไทยที่ทักษิณก่อตั้งขึ้นมา
เพียงไม่นาน เส้นทางการเมืองของ "ยิ่งลักษณ์" กลับต้องซ้ำรอยทักษิณ ในคดีความที่ถูกโยงกับเรื่องทุจริตโครงการในรัฐบาล จนต้องหลบหนีไปต่างประเทศ หลังเจอมรสุมการเมืองพิษจำนำข้าว
ขณะที่ความพยายามผลักดัน พ.รบ.นิรโทษกรรมสุดซอย ได้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำคนในสังคมไม่พอใจ และเป็นที่มาชุมนุมขับไล่จาก กลุ่มกปปส. ภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ
แม้ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภา เมื่อ 9 ธ.ค.2556 ท่ามกลางคดีต่างๆ ประเดประดังเข้ามา มวลชนคนเสื้อแดงก็ยังสนับสนุน
ก่อนที่มวลชน กปปส.-นปช. จะเกิดการปะทะกัน ช่วงเย็นวันที่ 22 พ.ค.2557 กองทัพก็ได้ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของเพื่อไทย นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนที่เวลาต่อมาจะก้าวขึ้นเป็นนายกฯ
หลังสิ้นรัฐบาลทหาร คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ อีกสมัย ในนามพรรคพลังประชารัฐ และครองอำนาจต่อหลังการเลือกตั้ง รวมระยะเวลากว่า 8 ปี
แม้พลังประชารัฐจะเป็นแกนนำรัฐบาล ปี 2562 ด้วยความคาดหวังจะขจัดความขัดแย้งในสังคมและล้างขั้วอำนาจเก่าทางการเมืองของทักษิณให้หมดไป แต่ก็ไม่สำเร็จ
ยามเมื่อลมเปลี่ยนทิศ ขั้วอำนาจเปลี่ยนมือ เพื่อไทยกลับสู่อำนาจการเมืองอีกครั้ง
22 สิงหาคม 2566 ทักษิณกลับไทย คืนแผ่นดินเกิด เมื่อพรรคเพื่อไทย อันดับสอง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2566 โดยมี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ
เมื่อมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ทักษิณ เข้าถวายบังคมที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้า และออกมาโบกมือทักทายคนเสื้อแดงที่มารอต้อนรับ สีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกับครอบครัวที่มาต้อนรับอย่างอบอุ่นพร้อมหน้า
ตลอดระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษิณไม่เคยถูกจำคุกแม้แต่วันเดียว เพราะหลังเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ไม่กี่ชั่วโมง ได้ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเหตุผลอาการป่วยกำเริบจากหลายโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ท่ามกลางข้อกังขาของคนในสังคม และรักษาตัวอยู่ใน รพ.ตำรวจ ต่อเนื่องจาก กระทั่งได้รับการลดโทษ และเข้าเกณฑ์พักโทษ ถูกปล่อยตัวเมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา
บทบาทของคน “ตระกูลชินวัตร” นับจากนี้ จะส่งผลต่อการเมืองไทยในทิศทางใด กับเส้นทางที่เลือกแล้ว ขอทำงานรับใช้ “ในหลวง” และประชาชน ดังคำประกาศของ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในงานเลี้ยงดินเนอร์หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล
ท่ามกลางกระแสข่าว"แพทองธาร" คือคลื่นลูกใหม่ของตระกูลชินวัตร ที่กำลังแต่งตัวเตรียมพร้อมก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯหญิงคนที่สองของประเทศไทย
ส่วน “ทักษิณ” จะได้รับหน้าที่พิเศษหรือไม่ และ อนาคต “ยิ่งลักษณ์” จะเป็นอย่างไร คอการเมืองไทยยังได้ตามลุ้นกันไปยาวๆ
สถานการณ์การเมืองไทยเวลานี้ ศูนย์อำนาจยังคงอยู่ในมือตระกูลชินวัตรอย่างต่อเนื่อง และยากจะโค่นล้มลงได้ง่ายๆ