ป.ป.ช.ชูแผน 'ป้องนำปราบ' ใช้ 3 แนวทางลดความเสี่ยงเกิดทุจริตในสังคมไทย
ป.ป.ช.เปิดแผน 'ป้องนำปราบ' ชู 3 แนวทางลดความเสี่ยงเกิดทุจริตในสังคมไทย ช่วยราชการไม่เกิดความเสียหายต่องบแผ่นดิน ลุยทำคู่มือ สร้างความรู้ความเข้าใจ ขับเคลื่อนหลักสูตร 'ต้านทุจริตศึกษา' ใช้เครือข่ายประสานงานร่วมกันผลักดัน
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บทวิเคราะห์การขับเคลื่อนงานป้องกันเชิงรุก นำงานปราบปราม เพื่อลดการทุจริต โดยระบุว่า การป้องกันปัญหาการทุจริตก่อนที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในสังคมควรใส่ใจ การสร้างสังคมที่มีความโปร่งใสและมีความมั่นคงทางกฎหมายจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการทุจริต
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มีนโยบายการให้งานด้านการป้องกันการทุจริตนำงานด้านการปราบปรามการทุจริต หรือเรียกสั้นๆว่า “ป้องนำปราบ” โดยกำหนดกลไกและกระบวนการดำเนินการที่สำคัญหลายประการ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการทุจริตผ่านบทบัญญัติสำคัญที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ได้แก่ มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 35 ตลอดจนการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 126 ถึง มาตรา 128
นโยบายป้องนำปราบเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือประพฤติมิชอบอย่างเท่าทัน โดยจะช่วยให้ราชการไม่เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน ลดปัญหาการร้องเรียนการทุจริต และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต และทำให้คดีการทุจริตลดลง นำไปสู่การป้องกันการสูญเสียงบประมาณแผ่นดิน และผลประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติ โดยใช้การดำเนินงานที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต เริ่มตั้งแต่การเฝ้าระวัง การปลูกฝัง การป้องกันป้องปรามการทุจริต ตลอดจนแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยมุ่งเน้นการปลูกฝัง การป้องกันป้องปรามการทุจริต ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการทุจริต การเสริมสร้างคุณธรรม ความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลแก่หน่วยงานภาครัฐ การกำหนดมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนการเฝ้าระวังสถานการณ์การทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยทิศทางการดำเนินงานในปัจจุบัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “ป้องนำปราบ” ซึ่งมีแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านป้องกันการทุจริต ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3 แนวทาง ประกอบด้วย
1) ดำเนินการเอง อาทิ การจัดทำแนวทางและคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้านป้องกันการทุจริต เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎี กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องให้กับเจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตสำหรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
2) ร่วมกับหน่วยงานอื่นดำเนินการ อาทิ การเร่งรัดการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสำนักต้านทุจริตศึกษา สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการประสานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อผลักดันให้มีการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปจัดทำเป็นรายวิชาบังคับและให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นที่มีสถาบันการศึกษาในสังกัด เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ นำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปพิจารณาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับกลุ่มเป้าหมาย และ โครงการ TaC Team ซึ่งเป็นโครงการที่บูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกันเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ในการลดคดีทุจริตอย่างเป็นระบบ
โดยมีกระบวนการที่สำคัญคือการคัดเลือกประเด็นปัญหาผ่านการวิเคราะห์จากฐานข้อมูล สถิติคดี และการปักหมุดความเสี่ยง เพื่อกำหนดประเด็นและพื้นที่ดำเนินการจากนั้นจึงพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ให้คำปรึกษา แนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสม โดยปัจจัยสำคัญของการกำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตในแต่ละประเด็นที่คัดเลือกมาดำเนินการมีผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบและร่วมกำกับติดตามการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการทุจริตในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายการลดจำนวนคดีทุจริตได้ในระดับประเทศ
3) ให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ อาทิ การขยายเครือข่ายต่อต้านการทุจริต โดยใช้งบบูรณาการฯและกองทุน ป.ป.ช. รวมถึงใช้กลไกขับเคลื่อน สปท./อนุกรรมการ สปท.ภาค และคณะกรรมการผลักดันฯ ระดับจังหวัด
สำนักงาน ป.ป.ช. คาดหวังว่าการดำเนินการตาม 3 แนวทาง ดังกล่าว จะช่วยป้องกันการทุจริตจากต้นเหตุของปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน และช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้ และสำนักงาน ป.ป.ช. จะมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนนโยบาย “ป้องนำปราบ” โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินงานป้องกันการทุจริตอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 35 และการป้องกันการขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมตามมาตรา 126 ถึง 128 อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ยังผลักดันศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center: CDC) เพื่อดูแล ระงับ และป้องกันการทุจริตอย่างเต็มประสิทธิภาพ และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการทุจริต ให้เกิดขึ้นน้อยลงในสังคม