'ทักษิณ-ฮุนเซน' จากศัตรูสู่มิตรแท้ จับตาดีลลับขุมทรัพย์พื้นที่ทับซ้อน?
เส้นทางชีวิตของ "ทักษิณ-ฮุนเซน" ก่อนก้าวสู่เก้าอี้ "นายกฯ" ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ-ครอบครัว-การเมืองเข้ามาเกี่ยวพัน
Key Points
- ในอดีต "ทักษิณ - ฮุน เซน" ต่างมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยว นับตั้งแต่กัมพูชาเปิดประเทศ
- ความสัมพันธ์ "ทักษิณ-ฮุน เซน" เริ่มจากพัฒนาตัวบุคคล มาเป็นระดับประเทศ ก่อนเกี่ยวดองเป็นครอบครัวเดียวกัน
ก่อน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางกลับประเทศไทยมารับโทษ ได้พาน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทยอีกคน ร่วมเดินทางไปกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี ของสมเด็จเตโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา วันที่ 5 ส.ค.2566
ขณะที่ประเทศไทยระหว่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยสถานการณ์ในขณะนั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งชนะการเลือกตั้ง เป็นพรรคอันดับสอง เมื่อ 24 พ.ค.2566 กำลังรอจังหวะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล ซึ่งมีชื่อแคนดิเดตนายกฯ 3 คน ประกอบด้วย เศรษฐา ทวีสิน แพทองธาร ชินวัตร ชัยเกษม นิติสิริ
“ฮุน เซน” สนับสนุน และคาดหวังเต็มที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” ที่เอ็นดูและรักเหมือนลูกสาวอีกคนเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ถึงกับเอ่ยปากกับทักษิณในวันนั้นว่า “นายกฯ ต้องเป็นอุ๊งอิ๊งเท่านั้น”
เช่นเดียวกับที่ “ฮุน เซน” ประกาศวางมือส่งมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้ลูกชายคนโตวัย 46 ปี “ฮุน มาเนต” หลังพรรคแคมโบเดียนพีเพิลส์ (Cambodian People’s Party : CPP) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปแบบแลนด์สไลด์เมื่อ 23 ก.ค.2566
ดังนั้น ในวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี ความปราถนาของ “ฮุนเซน” นอกจากได้เห็น “ทักษิณ” กลับไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว ยังอยากเห็น“ลูกชาย-ลูกสาว”ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ สองประเทศไปด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา แน่นแฟ้นขึ้นไปอีก
เมื่อคล้อยหลัง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เดินทางออกจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ฮุน มาเนต เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา วันที่ 7 ส.ค.2566
ส่วนประเทศไทยได้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็น นายกรัฐมนตรี เมื่อ 22 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ “ทักษิณ” เดินทางมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก่อนได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ จงรักภักดี และมีอาการป่วย ยอมรับการกระทำผิดและสำนึกในความผิด
ตลอดระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษิณไม่เคยถูกจำคุกแม้แต่วันเดียว เพราะหลังเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ไม่กี่ชั่วโมง ได้ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเหตุผลอาการป่วยกำเริบจากหลายโรคที่ต้องเฝ้าระวัง รักษาตัวอยู่ใน รพ.ตำรวจ จน ทักษิณ ได้รับการพักโทษ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา
ท่ามกลางการเฝ้ารอคอยของสมเด็จฮุนเซนฯ เดินทางมาประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ 21 ก.พ. เยี่ยมเยียนทักษิณ ตามที่เคยสัญญาไว้ในวันครบรอบวันคล้ายวันเกิด 71 ปี
ทั้งนี้หากย้อนเส้นทางชีวิตของคนทั้งคู่พบว่า ทักษิณ เติบโตขึ้นในหมู่บ้านในอำเภอสันกำแพงจนอายุ 15 ปี ระหว่างนั้นช่วยเหลือกิจการร้านกาแฟและสวนส้มของครอบครัว รวมทั้งขายกล้วยไม้ เมื่ออายุได้ 16 ปี ช่วยบิดาดำเนินการโรงภาพยนตร์ของครอบครัว
ส่วน สมเด็จฮุน เซน ลูกชาวนาจังหวัดกำปงจาม อาศัยกินอยู่ในวัด และเรียนหนังสือด้วยความยากลำบาก เมื่ออายุ 18 ปีเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติ (เขมรแดง) กับเจ้านโรดมสีหนุ (อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น) แย่งชิงอำนาจจาก นายพลลอน นอล (Lon Nol) ทำให้เขมรแดงได้ครองประเทศในปี 2518-2521
ก่อนถูกเขมรแดงไล่ล่าหนีไปอยู่เวียดนาม ในปี 2522 เมื่อทหารเวียดนามเข้ายืดครองกัมพูชา ฮุน เซน ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ปี 2525 ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและในปี 2528 ก็ได้เป็นนายกฯเมื่ออายุ33 ปีและยาวนานจนถึงปี 2566 ก่อนประกาศวางมือส่งไม้ต่อบุตรชายคนโต
ในระหว่าง "ทักษิณ-ฮุนเซน" ดำรงตำแหน่งนายกฯ ความสัมพันลุ่มๆดอนๆ โดยเฉพาะปี 2546 ข่าวลือนักแสดงหญิงไทยคนหนึ่งอ้างว่านครวัดเป็นของประเทศไทย สื่อกัมพูชา กระพือข่าวเกิดจลาจลบุกเผาสถานทูตไทย เข้าปล้นทรัพย์สินของธุรกิจไทย และหนึ่งในนั้นมีการเผาบริษัทชินวัตร เทเลคอมมูนิเคชั่น สาขาพนมเปญ กิจการด้านการสื่อสารที่มีมูลค่าสูง สร้างความเสียหาย
ทักษิณ ประกาศภาวะฉุกเฉินประณามความรุนแรงการจลาจลในครั้งนั้น โดยได้ยื่นหนังสือประท้วงต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย และส่งตัวทูตกลับประเทศ พร้อมลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันเหลือระดับอุปทูต ยกเลิกโครงการช่วยเหลือทั้งหมดของไทยในกัมพูชา และปิดชายแดนไทยกัมพูชาตลอดแนว
พร้อมระดม กำลังรบพิเศษ หน่วยคอมมานโด พร้อม เครื่องบินf-16 เรือรบ ประชิดชายแดนทางบกทางน้ำกัมพูชา กดดันให้เปิดพื้นที่รับคนไทยในกัมพูชากลับประเทศไทย แต่ก่อนสถานการณ์ลุกลามไปไกล รัฐบาลกัมพูชาติดต่อมายังรัฐบาลไทย อนุญาตให้อากาศยานไทยบินเข้าน่านฟ้า เปิดสนามบินลงจอดรับคนไทยกลับ
หลังจากนั้นกลับมารื้อฟื้นสัมพันกันใหม่ จากศัตรูกลายเป็นมิตรแท้ ในช่วง ทักษิณ ถูกยึดอำนาจ ฮุนเซน ช่วยออกหน้าประคับประคอง และเคยแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชาปี 2552 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมจนทักษิณ ลาออก
ในปี 2556 ความสัมพันธ์"ทักษิณ-ฮุนเซน" ถูกยกระดับ หลังบุตรสาว"เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมรสกับ บุตรชายคนสนิท ฮุนเซน จนกลายเป็นคนในครอบครัวเดียวกันตราบถึงทุกวันนี้
การเดินทางมาเยี่ยมเยือน "ทักษิณ"ของ สมเด็จฮุนเซน ในครั้งนี้ความน่าสนใจมุ่งไปที่การเจราจาแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล หลัง ฮุนมาเนต นายกฯกัมพูชาเดินทางพบ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ความคืบหน้าการพูดคุยกลับไม่ปรากฎข้อมูลผ่านสื่อ รวมถึงการยกระดับการค้า จ.สระแก้ว และ ชายแเดนประสาทเขาพระวิหาร
เพราะหากมองย้อนในอดีตจะเห็นว่า "ทักษิณ - ฮุน เซน" ต่างมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยว นับตั้งแต่กัมพูชาเปิดประเทศ โดย ทักษิณได้รับสัมปทานสถานีวิทยุโทรทัศน์ การเจรจากรณีขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ที่มีโครงการพัฒนาพื้นที่เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นการแลกเปลี่ยน
มาถึงปัจจุบันนี้ ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นจากระดับรัฐบาลไทย-กัมพูชา ไปถึงความเกี่ยวดองกันในครอบครัว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการพบกันระหว่าง "ทักษิณ-ฮุนเซน" รอบนี้จะโยงไปถึงการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ขุมทรัพย์เขตทับซ้อนทางทะเลหรือไม่