'อัครเดช'เดือดถูกเบรกอภิปรายปัญหาประชาชน สอน 'ปดิพัทธ์' อย่าใช้อารมณ์

'อัครเดช'เดือดถูกเบรกอภิปรายปัญหาประชาชน สอน 'ปดิพัทธ์' อย่าใช้อารมณ์

'อัครเดช'เดือดถูกเบรกไม่ให้อภิปรายปัญหาประชาชน สอน 'ปดิพัทธ์' ทำหน้าที่ประธานอย่าใช้อารมณ์กับสมาชิก ขอให้ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรวางตัวเป็นกลาง อย่าปิดปาก สส.

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรคครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร และการบริหาร การจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นญัตติที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยประชุมที่ผ่านมา มีผลการศึกษาไปถึงรัฐบาลอย่างชัดเจน เมื่อกลับมาเป็นสส.อีกครั้ง ก็ขอถามนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องดังกล่าวคืบหน้าไปถึงไหน เนื่องจากสายสื่อสารที่ยุ่งเหยิงเป็นปัญหาของประเทศ เป็นหน้าตาของประเทศ 

"เวลานักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมักจะถ่ายรูปสายสื่อสารที่เกาะเกี่ยว นำไปโพสต์ในโซเชียลว่าเป็นอันซีนของประเทศไทย เสียหายต่อภาพพจน์ของประเทศ ตนจึงเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษาฯ การที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช. มหาดไทย มาชี้แจงแทน ก็ถือว่า ได้เห็นความสำคัญของปัญหาของประชาชน สละเวลามาตอบกระทู้นี้ที่เป็นปัญหาระดับประเทศ"
 

นายอัครเดช กล่าวว่า  วัตถุประสงค์ในการถามกระทู้ครั้งนี้ อยากถามความคืบหน้าของผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญในสมัยการประชุมที่แล้ว ดำเนินการไปถึงไหน เพราะมีการศึกษา เรื่องสายสื่อสารที่ยุ่งเหยิงบนสายไฟฟ้า ความจริงความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากสายไฟฟ้า แต่เกิดจากสายสื่อสารที่เกาะเกี่ยวอยู่บนเสาไฟฟ้า ประชาชนจะไม่ค่อยทราบ 

"จึงขอเรียนว่า สายที่ยุ่งเหยิงบนเสาไฟฟ้าไม่ใช่สายไฟ แต่เป็นสายสื่อสาร ตนเคยลงพื้นที่ทำโครงการร่วมกับนายกเทศมนตรีเมืองบ้านโป่ง เมื่อปี 2563 เป็นโครงการบ้านโป่งโมเดล ลงพื้นที่จัดระเบียบ เอาสายตาย หรือสายสื่อสารที่ไม่ใช้แล้ว แต่ยังเกาะเกี่ยวอยู่บนเสาไฟฟ้าทำการรื้อถอนออกจากหอนาฬิกาเทศบาลเมืองบ้านโป่งถึงสี่แยกบ้านโป่ง จากหอนาฬิกาไปจนถึงวงเวียนช้าง จากหอนาฬิกาไปยังหน้าวัดดอนตูม และจากหอนาฬิกาไปยังหน้าที่วาการอำเภอบ้านโป่งจำนวน 4 สายทาง 4.8 กิโลเมตร"
 

ทั้งนี้ มีการนำสายตายออกแล้วนำไปผูกรัดมัดให้เป็นระเบียบมากขึ้น หลังจากนั้น ตนได้ถามกระทู้ในสมัยที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นอดีตรมว.ดีอีเอส มาทำโครงการบ้านโป่งโมเดลงบประมาณ 48 ล้านระยะทาง 4.8 กิโลเมตร โดยได้นำสายสื่อสารลงใต้ดิน สายสื่อสารในปัจจุบันมีทั้งของรัฐวิสาหกิจคือ NT ที่เกิดจากการควบรวมของ TOT กับ cat วันนี้ ควบรวมกันเป็น NT 

ปัจจุบัน NT ดำเนินโครงการโดยเจาะสายท่อลอดใต้พื้นที่ของเทศบาลเมืองบ้านโป่งทั้ง 4 สายระยะทาง 4.8 กิโลเมตร เป็นโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน หลังจากเปิดโครงการใช้เวลาใช้เวลา 2 ปีเจาะท่อร้อยสาย ปัจจุบันท่อเสร็จแล้ว แต่ Operator เอกชนยังไม่ยอมนำลงใต้ดิน เพราะติดเรื่องงบประมาณ ตรงนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ต้องใช้บ้านโปร่งโมเดล เพราะที่อื่นยังทำไม่สำเร็จ แต่จะทำที่บ้านโป่งให้สำเร็จ

สำหรับ พื้ตที่อื่นที่ทำสำเร็จ คือการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน 1 กิโลเมตรใช้งบ 80 ล้านบาท ค่าสาย 40 ล้าน ค่าก่อสร้างใต้ดิน 40 ล้าน แต่การนำสื่อสารลงใต้ดิน 1 กิโลเมตรใช้งบ 10 ล้านบาท แตกต่างกันมาก 80 ล้านกับ 10 ล้าน ที่เป็นบ้านโป่งโมเดล เพราะตนเสนอโครงการนี้เองว่า ที่มีปัญหาไม่ใช่เป็นปัญหาจากสายไฟฟ้า แต่เป็นปัญหาจากสายสื่อสารเราไม่ต้องไปยุ่งกับสายไฟฟ้า ให้สายไฟฟ้าอยู่เหมือนเดิมแต่เอาสายที่ยุ่งเหยิงลงใต้ดิน จาก 80 ล้านเหลือ 10 ล้าน ประหยัดงบประมาณให้ประเทศมหาศาล 

โดยโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ทำโครงการ 4 เมืองใหญ่คือเชียงใหม่ โคราช หาดใหญ่ และพัทยา ใช้งบประมาณหมื่นกว่าล้าน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปีตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2554 นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินได้ไม่กี่กิโลเมตร เขาศึกษาว่า สายไฟฟ้าที่เมืองไทย สามารถพันรอบโลกได้ 8 รอบกว่าจะเอาลงใต้ดินหมด ต้องใช้ เวลา 800 ปี ตนจึงเสนอไอเดียให้เอาเฉพาะสายสื่อสารลงประหยัดงบประมาณได้มาก

นายอัครเดช อภิปรายว่า ตนเคยไปตรวจราชการที่หาดใหญ่ชาวบ้านร้องเรียนว่า เมื่อเอาสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินกลางคืนมืดทั้งเมือง ในเส้นทางที่ถนนโดนล้มเสา เพราะกลางคืนไม่มีไฟฟ้า เทศบาลนครหาดใหญ่ จึงตั้งงบประมาณเพื่อมาตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างกลางคืนอีก แต่ถ้าเราเอาเสาไฟฟ้าไว้ ก็ยังสามารถเกาะไฟกลางคืนได้ ประหยัดงบประมาณด้วย 

ส่วนถ้าจะเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินด้วย ให้เอาลงเฉพาะเส้นทางที่เป็นแลนด์มาร์ค ด้านการท่องเที่ยว เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เช่น ย่านสีลม ถ้าต่างจังหวัดเช่น อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ อนุสาวรีย์ท้าวย่าโม จ.นครราชสีมา หรือพระบรมธาตุเจดีย์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สถานที่เหล่านี้ ควรเอาสายไฟฟ้าลงด้วย จะได้ไม่บดบังทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เมื่ออภิปรายถึงช่วงนี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ทักท้วงว่า นายอัครเดช ใช้เวลาอภิปรายมา 10 นาที จึงขอให้เป็นกระทู้ถามไม่ใช่การอภิปราย แต่ถูก นายอัครเดช โต้กลับว่า ตนรู้ข้อบังคับดี นายปดิพัทธ์ ก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับข้อ 9 อย่าทำตัวเอียงต้องทำตัวตรง วินิจฉัยอะไร ต้องรับผิดชอบด้วย ขณะที่นายปดิพัทธ์ พยายามบอกว่า การอภิปรายของนายอัครเดชวนเวียนพูดเรื่องเดิมซ้ำหลายรอบ

ขณะที่นายอัครเดช ได้ชี้แจงต่อว่า กระทู้ทั่วไปถาม กัน 15 นาทีรัฐมนตรีตอบ 15 นาที แต่ตนเพิ่งจะถามได้ 10 นาทีแต่ถูกเบรก นายปดิพัทธ์ มีอะไรกับตนหรือเปล่า และตนจำเป็นต้องชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจข้อบังคับและเป็นสิทธิ์ของสส. มีเวลาที่จะถาม ตนบริหารเวลาที่ได้สิทธิ์ ถ้าประธานฯไปดูข้อบังคับกระทู้ถามทั่วไปไม่ได้ระบุระยะเวลา 

อย่างไรก็ตามตนเคารพเวลาของสภาฯใช้เวลาที่มีอยู่ใน 15 นาทีการอภิปรายจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐมนตรี เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารประเทศประหยัดงบประมาณของแผ่นดินที่เป็นเงินภาษีของประชาชนถึงบอกว่า 80 ล้านกับ 10 ล้านต่างกัน เซฟเงินภาษีของประชาชนได้ปีละเป็นหมื่นล้าน สิ่งที่ตนอภิปราย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศชาติ ดีกว่าอภิปรายเรื่องทะเลาะกันไปมาแล้วไปวินิจฉัย กลายเป็นประเด็นทำให้สภาฯวุ่นวาย อันนั้นเสียเวลามากกว่า จึงขอให้ประธานทำตามข้อบังคับเคารพสิทธิ์ของสส. ด้วย

นายอัครเดช ชี้แจงว่า แต่นายประดิพัทธ์ ก็ทักท้วง ว่าใช้เวลาอภิปรายมากเกินไปในเรื่องที่ไม่อยู่ในกระทู้ ทำให้นายอัครเดช โต้กลับอีกว่า การเป็นประธานจะใช้อำนาจหรือดุลพินิจอะไร วินิจฉัยอะไร ขอให้อยู่ในข้อบังคับ อยากให้รักษาผลประโยชน์ของประชาชน เพราะตนได้ถามกระทู้มาเป็น 100 กระทู้ไม่เคยมีปัญหาแบบนี้ เพราะทำตามข้อบังคับ และเอาเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมาพูด 

"แต่ถ้าประธานวินิจฉัยแบบนี้ก็อยากให้สภาฯบันทึกไว้ว่า สส.ได้นำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายตามข้อบังคับ เพื่อถามรัฐมนตรีตามระเบียบ เป็นสิทธิ์ของสมาชิก แต่ถูกประธานใช้ดุลพินิจให้สมาชิกหยุดการอภิปราย จึงขอเรียนให้สภาฯบันทึกไว้ว่า ตนตั้งใจมากจะถามกระทู้นี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนประเทศชาติ ถ้าเกิดการวินิจฉัยแบบนี้ตนไม่ขอถามกระทู้นี้ต่อ"

นายอัครเดช พยายามชี้แจงต่อแต่นายปดิพัทธ์ไม่อนุญาตให้พูด แต่นายอัครเดชได้ขอใช้สิทธิ์ประท้วงตามข้อ 9 ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ให้ประธานวางตัวเป็นกลางอย่าใช้อารมณ์กับสมาชิกเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง การเป็นประธาน ตนให้ความเคารพ สมาชิกให้ความเคารพเพราะตำแหน่ง แต่การวินิจฉัยตัดการอภิปราย เป็นสิ่งที่ประธานไม่ควรทำและไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง