กสม.ชงสภาฯ ออกกฎหมายอากาศสะอาด สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน ปชช.มีส่วนร่วม
กสม.เตรียมชงข้อเสนอเข้าสภาฯ จี้ออกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด ให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน เน้นประชาชนมีส่วนร่วม ลงโทษผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กำหนดให้ประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในปี 2567 และได้ติดตามสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด 7 ฉบับ
ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. วาระที่สอง ซึ่ง กสม. เห็นว่าร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ โดยภาพรวมมีเนื้อหาสาระเชิงบวกที่จะช่วยให้รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีในการส่งเสริม คุ้มครอง และทำให้ประชาชนบรรลุสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาดได้
กสม. มีความกังวลว่าหากการจัดทำกฎหมายไม่ได้ถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการกำหนดข้อห้ามและบทลงโทษตามกฎหมายต่อกิจกรรมบางอย่าง เช่น การห้ามเผา หรือห้ามการใช้ยานพาหนะ อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การประกอบอาชีพและสิทธิของประชาชนบางกลุ่มอย่างไม่ได้สัดส่วน และเพื่อให้มาตรการทางกฎหมายมีความครอบคลุม สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และหลักการในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น กสม. จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการตรากฎหมายอากาศสะอาดในประเด็นสำคัญ ดังนี้
การรับรองสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางสิ่งแวดล้อมไว้ในกฎหมาย ควรบัญญัติรับรองสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด สิทธิของผู้ได้รับอันตรายด้านสุขภาพจากภาวะมลพิษทางอากาศในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและไม่เสียค่าใช้จ่าย สิทธิของกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิได้เท่าเทียมกับคนอื่น และสิทธิเชิงกระบวนการ (Procedural Rights) ที่อย่างน้อยควรครอบคลุมสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อม
นายชนินทร์ กล่าวว่า การปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการตามกฎหมาย ทั้งในส่วนคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร เห็นควรให้มีกรรมการโดยตำแหน่งไม่มากจนเกินไป นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอย่างสมดุล การลดและควบคุมมลพิษในอากาศจากแหล่งกำเนิด ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดมาตรฐานและวิธีปฏิบัติในการลดและควบคุมมลพิษในอากาศจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ และในส่วนของการห้ามเผาในที่โล่ง ควรให้บทบาทแก่ท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยให้คำนึงถึงความรุนแรงของสภาวะมลพิษ วิถีวัฒนธรรม ความเป็นธรรมและเหลื่อมล้ำทางสังคม ความจำเป็นในการเผาในที่โล่ง และผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ส่วนการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ ควรเปิดช่องให้มีการออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นนอกจากการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้มาตรการและไม่ให้เกิดผลกระทบจนเกินสมควรต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะในการประกอบอาชีพ
รองเลขาธิการ กสม. กล่าวว่า ขณะที่การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ควรพิจารณาทั้งในมิติการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากประเทศอื่นที่ส่งผลกระทบเข้ามายังประเทศไทยและจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น การกำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ ควรให้ภาคส่วนอื่น รวมถึงองค์กรเอกชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา หรือภาคประชาสังคม มีสิทธิเสนอให้คณะกรรมการอากาศสะอาดฯ พิจารณาประกาศเขตดังกล่าวได้ การกำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เพื่อการจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนวิถี การผลิต หรือกิจกรรมที่ก่อมลพิษเพื่อนำไปสู่มาตรฐานที่ลดการสร้างมลพิษทางอากาศ กสม. เห็นด้วยกับการเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) ซึ่งร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้แล้ว
นายชนินทร์ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ควรนำร่างกฎหมายของภาคประชาชนมาเป็นแนวทางในการบัญญัติเพิ่มเติมในส่วนนี้ การจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาด เห็นควรจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนรองรับเงินที่ได้จากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษทางอากาศ และเป็นแหล่งเงินทุนที่สามารถใช้จ่ายในการดำเนินการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ทั้งในเชิงการป้องกัน แก้ไขปัญหา และฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย
"นอกจากนี้ เรื่องความรับผิดและบทกำหนดโทษตามกฎหมาย ควรคำนึงถึงหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และหลักความเป็นธรรม รวมถึงควรยกเลิกการใช้โทษทางอาญา และเปลี่ยนโทษปรับเป็นพินัย ซึ่งเอื้อให้เกิดการบังคับโทษอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมกับผู้กระทำความผิดแต่ละรายมากกว่า นอกจากนี้ ควรยกเลิกความผิดฐานแพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริง (ร่างมาตรา 81) เพราะเสี่ยงที่จะถูกใช้ฟ้องเพื่อปิดปาก (SLAPP) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ กสม. จะแจ้งข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาต่อไป" รองเลขาธิการ กสม. กล่าว