อ่านได้ที่นี่! คำวินิจฉัยฉบับเต็มศาล รธน. 'พิธา' พ้นบ่วงคดีหุ้นไอทีวี
อ่านรายละเอียดได้ที่นี่! แพร่แล้วคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มของศาล รธน.คดีคืนสถานะ สส.ให้ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ชี้ 'ไอทีวี' ไม่ใช่หุ้นสื่อ
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางฉบับเต็ม เรื่องพิจารณาที่ 23/2566 กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ "หุ้นไอทีวี" มิใช่เป็นการถือครองหุ้นสื่อตามรัฐธรรมนูญ
อ่านคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็ม: คลิกที่นี่
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 กรุงเทพธุรกิจ สรุปคำวินิจฉัยฉบับเต็มในคดีดังกล่าวไว้แล้ว มีรายละเอียด ดังนี้
ก่อนอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญมีเรื่องชี้แจง 2 เรื่อง ได้แก่
1.ศาลได้เคยแจ้งให้คู่กรณีทราบแล้วในวันไต่สวนพยานว่า คดีนี้ผู้ถูกร้อง ได้มีการขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งละ 30 วัน รวม 60 วัน โดยศาลอนุญาต จริง ๆ คดีนี้ควรเสร็จสิ้นไป ก่อน 60 วันที่แล้ว ขอทำความเข้าใจโดยทั่วกัน ไม่ใช่ว่าศาลล่าช้า
2.ศาลแจ้งให้คู่กรณีทราบว่า การที่ไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีในสื่อต่าง ๆ นั้น ถือว่าเป็นการไม่สมควร และไม่เหมาะสม เพราะการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะบวกหรือลบ เกี่ยวกับคดีก่อนศาลวินิจฉัย อาจเป็นการชี้นำ เป็นการกดดันศาล เพราะฉะนั้น การกระทำอย่างนี้ถือว่าไม่เหมาะสม ขอเตือนไว้ด้วย
หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย ผ่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ได้แก่
นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
นายนพดล เทพพิทักษ์
นายอุดม รัฐอมฤต
นายปัญญา อุดชาชน เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
โดยพิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา (ผู้ถูกร้อง) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า 20 มี.ค. 2566 มี พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป และ 21 มี.ค. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ในฐานะผู้ร้อง) ออกประกาศกำหนดให้ 14 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้ง สส. และกำหนดให้ 4-7 เม.ย.2566 รับสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยพรรคก้าวไกล ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง ในวันที่ 4 เม.ย. 2566 มีชื่อของผู้ถูกร้องอยู่ในลำดับที่ 1 ต่อมาหลังการเลือกตั้ง ผู้ร้องประกาศผลการเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ตามปรากฏว่าผู้ถูกร้องมีชื่อเป็น ผู้ถือหุ้นไอทีวี ตามสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น ลงวันที่ 26 เม.ย. 2566 ลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น และผู้ถูกร้องถือหุ้นดังกล่าวเรื่อยมา กระทั่งเมื่อ 25 พ.ค. 2566 ผู้ถูกร้องโอนหุ้นดังกล่าวทางทะเบียนให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ (น้องชายนายพิธา) โดยตามแบบหนังสือนำส่งงบการเงิน สบช.3 ของไอทีวี ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อ 10 พ.ค. 2566 นำส่งงบการเงิน รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์
ดังนั้น กรณีจึงมีมูลกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาว่า สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงด้วยเหตุเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
- ศาล รธน.ชี้ถือเพียงหุ้นเดียวก็นับ ไม่เกี่ยวว่ามีอำนาจบริหารหรือไม่
ข้อพิจารณาในเบื้องต้น ตามข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่า ผู้ถูกร้องไม่มีอำนาจครอบงำกิจการของไอทีวี เนื่องจาก พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรา 247 บัญญัติให้การกระทำให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ 25% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ให้ถือว่าเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ เว้นแต่ถือหลักทรัพย์นั้นเป็นผลจากการได้มาโดยทางมรดก
เมื่อผู้ถูกร้องถือหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ปรากฏตามสำเนาบัญชีรายชื่อถือหุ้น 26 เม.ย. 2566 โดยหุ้นสามัญของไอทีวีมีจำนวน 1,266 ล้านหุ้นเศษ การถือหุ้นของผู้ถูกร้องคิดเป็นสัดส่วน 0.00348% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของไอทีวี ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ถูกร้องย่อมไม่เป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้ามตาม 101 (6) ประกอบ 98 (3)
เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 เป็นบทบัญญัติพัฒนาการจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 265 วรรคหนึ่ง โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องที่ 12-14/2553 และ 7/2562 วางหลักไว้ว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม โดยมิได้ระบุว่าถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าต้องมีอำนาจบริหารงาน หรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้นการถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจบริหาร หรือครอบงำกิจการก็ตาม
การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการถือหุ้นไว้ชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึง สส. และ สว. มีช่องทางที่จะใช้หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่ แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ในทางใดทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) จึงห้าม สส. เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน โดยไม่ระบุว่า ต้องถือจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าต้องมีอำนาจบริหารงาน หรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้นการถือเพียงหุ้นเดียว ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) แล้ว
เมื่อพิจารณาเบื้องต้นแล้ว จึงมีข้อต้องพิจารณาต่อไปว่า วันสมัครรับเลือกตั้ง สส. ผู้ถูกร้อง เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในไอทีวีหรือไม่
- พยานหลักฐานชัด “พิธา” คือเจ้าของหุ้นไอทีวี มิใช่แค่ผู้จัดการมรดก
ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 26 เม.ย. 2566 ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น โดยถือหุ้นในนามตนเอง มิได้หมายเหตุว่า ถือแทนบุคคล นิติบุคคล หรือในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด และถือหุ้นดังกล่าวเรื่อยมา จนกระทั่ง 25 พ.ค. 2566 ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นทั้งหมดให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์
ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่า มิได้ถือหุ้นไอทีวีเพื่อตน โดยในวันที่ 5 ก.ย. 2550 ผู้ถูกร้อง ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้รับโอนหลักทรัพย์จากบัญชีหลักทรัพย์ที่บิดาเคยเปิดไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป รวมถึงหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ผู้ถูกร้องได้รับมอบหมายจากทายาท ให้ถือครองหลักทรัพย์ทุกรายการ เป็นทรัพย์มรดก และได้รับทราบจากบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิปว่า ไม่สามารถระบุผู้จัดการมรดกต่อท้ายได้
ต่อมาเมื่อ 24 มิ.ย. 2562 ผู้ถูกร้องในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโอนหุ้นไอทีวีให้นายภาษิณ ปรากฏตามสัญญาโอนหุ้นไอทีวี ดังนั้นกรณีที่ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องครอบครองหุ้นดังกล่าวจนถึง 25 พ.ค. 2566 อันเป็นวันเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน เป็นเพียงครอบครองแทนนายภาษิณในฐานะเจ้าของแท้จริงในหุ้นดังกล่าว ตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2562 โดยการโอนหุ้นเมื่อ 25 พ.ค. 2566 เนื่องจากมีการนำประเด็นทางการเมืองดังกล่าว ไปวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง
ศาลเห็นว่า สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นเมื่อ 26 เม.ย. 2566 ปรากฏชื่อผู้ถูกร้อง เป็นผู้ถือหุ้น 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น รายงานการโอน และรับโอนหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป ปรากฏข้อมูลผู้ถูกร้อง และหลักทรัพย์ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้นว่า วันที่ 5 ก.ย. 2550 ผู้ถูกร้องรับโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวจากนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดาของผู้ถูกร้อง
การโอนหลักทรัพย์เมื่อ 5 ก.ย. 2550 ตามรายงานการโอนหลักทรัพย์เป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อผู้ถูกร้องมีฐานะเป็นทายาทอีกฐานะหนึ่ง มีสิทธิในมรดกในทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมถึงหุ้นไอทีวี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 มีผลให้ผู้ถูกร้องเป็นทั้งผู้จัดการมรดก และในฐานะทายาทมีสิทธิในหุ้นดังกล่าว ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ถือหุ้นในไอทีวี ตั้งแต่ 5 ก.ย. 2550
- พิรุธสัญญาโอนหุ้นให้ “น้องชาย” บ่งชี้ “พิธา” ถือมาตลอดถึง 25 พ.ค. 66
นอกจากนี้ หนังสือสัญญาโอนหุ้นไอทีวีระหว่างผู้ถูกร้อง กับนายภาษิณ ฉบับลงวันที่ 9 ก.ย. 2561 ผู้ถูกร้องเบิกความว่า จะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงทำสัญญาด้วยวาจา เพื่อโอนหุ้นให้นายภาษิณ น้องชายของผู้ถูกร้อง ในวันที่ 9 ก.ย. 2561 และทำสัญญาลายลักษณ์อักษร 24 มิ.ย. 2562
ไม่สอดคล้องกับที่ผู้ถูกร้องเบิกความว่า ไอทีวียุติประกอบกิจการ และไม่ใช่กิจการสื่ออันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) เนื่องจากตามความเข้าใจของผู้ถูกร้องแล้ว ย่อมไม่จำเป็นต้องโอนหุ้นเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง และข้อเท็จจริงการยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคราวที่ผู้ถูกร้องรับตำแหน่งปี 2562 ฉบับลงวันที่ 4 ต.ค. 2562 ผู้ถูกร้องมิได้ระบุถึงการโอนหุ้นในสัญญาดังกล่าว ทั้งที่เป็นเอกสารสำคัญ
นอกจากนี้การที่ผู้ถูกร้องเบิกความว่า หุ้นไอทีวี ไม่สามารถโอนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขาย จึงไม่ได้โอนให้ทายาทอื่น หรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อมาในปี 2566 ผู้ถูกร้องได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ว่า โอนหุ้นทางทะเบียนได้ ผ่านบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า การที่ไม่ดำเนินการโอนหุ้นทะเบียนให้เสร็จตั้งแต่ปี 2562 เป็นการดำเนินการที่คลาดเคลื่อน และไม่ได้ตรวจสอบการโอนหลักทรัพย์ให้ครบถ้วน เป็นความเข้าใจของผู้ถูกร้องเอง ทั้งที่การดำเนินการเพื่อโอนหุ้นเมื่อ 25 พ.ค. 66 ส่ามารถทำให้เสร็จได้ในวันเดียว ปรากฏตามคำขอโอนหลักทรัพย์ 25 พ.ค. 2566 ที่ยื่นต่อหลักทรัพย์ฟิลลิป
ดั้งนั้นเมื่อพิจารณาข้อพิรุธหลายประการ จึงฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องทำสัญญาโอนหุ้นดังกล่าวจริง ข้อโต้แย้งดังกล่าวของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น จึงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี ในวันที่พรรคก้าวไกล ยื่นบัญชีรายชื่อสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. (ผู้ร้อง)
- เผยไอทีวีมีรายได้จากดอกเบี้ยรับ-ไร้ใบอนุญาตทำสื่อจาก กสทช.
เมื่อวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องถือหุ้นในไอทีวี ในวันที่พรรคก้าวไกล ยื่นบัญชีรายชื่อสมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. จึงมีข้อพิจารณาต่อไปว่าไอทีวี ประกอบกิจการสื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
ผู้ร้อง กล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี มีวัตถุประสงค์ข้อที่ 18, 40, 41, 43 ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ บอกรับเป็นสมาชิก และโทรภาพ รับจ้างโฆษณาทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ และรับจ้างออกแบบโฆษณาทุกชนิดทุกประเภท รับจ้างผลิตรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ปัจจุบันบริษัทยังประกอบกิจการอยู่ ไม่ได้แจ้งเลิกบริษัท ไม่ได้เสร็จชำระบัญชี
ประกอบตามแบบ สบช.3 ของไอทีวีที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อ 10 พ.ค. 2566 นำส่งงบการเงินรอบปีสิ้นสุด 31 พ.ค. 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่า ไอทีวีถูกยกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ UHF ตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 คดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ปัจจุบันไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อ โดยการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานไอทีวี ในฐานะประธานที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวีประจำปี 2566 ยืนยันว่า บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนกว่าผลคดีจะสิ้นสุด
ประกอบกับไอทีวี ไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อมวลชน ตามแบบ สบช.3 ลงวันที่ 10 พ.ค. 2566 นำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 พ.ค. 2565 ระบุว่า ไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากรอผลคดี มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุน และดอกเบี้ยรับ งบกระแสเงินสด ระบุว่า มีรายได้จากการขายตราสารทุน และตราสารหนี้กิจการอื่น และรายได้จากดอกเบี้ยรับ งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ มีรายได้จากการตอบแทนเงินลงทุน และดอกเบี้ยรับ นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. แจ้งว่า ไอทีวีไม่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต หรือได้รับจัดสรรให้ใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการโทรทัศน์ กิจการวิทยุ หรือกิจการโทรคมนาคม ตามเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- ไอทีวี ระบุรายได้จากการทำสื่อ 5 ปีหลังสุด 0 บาท
ศาลเห็นว่า การพิจารณานิติบุคคลใดเป็นกิจการสื่อหรือไม่ มิอาจได้เพียงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิติบุคคลที่จดแจ้งเพียงทางการอย่างเดียว แต่พิจารณาควบคู่กับพฤติการณ์ในการดำเนินการกิจการของนิติบุคคล มีการประกอบกิจการตามนิติบุคคลนั้นหรือไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไอทีวีก่อตั้งเมื่อ 3 ก.ค. 2538 โดยทำสัญญาร่วมงาน และดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ เป็นเวลา 30 ปีกับ สปน. หลังจากนั้นได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ระบุวัตถุประสงค์จำนวน 45 ข้อ โดยข้อ 18 ข้อ 40 ข้อ 41 และ 43 เป็นไปตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
ต่อมา สปน.มีหนังสือลงวันที่ 7 มี.ค. 2550 ถึงกรรมการผู้จัดการไอทีวี แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงาน การแจ้งบอกเลิกสัญญา โดยหนังสือฉบับนี้ ย่อมเป็นผลให้สัญญาเข้าร่วมงานสิ้นสุดลง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า 15 มี.ค. 2550 ไอทีวียื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง ต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อแจ้งว่า หยุดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่ 8 มี.ค. 2550 และไม่มีพนักงาน จนถึงปัจจุบัน
ประกอบกับพิจารณาแบบ สบช.3 รอบปีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2560-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่มิได้ลงทุนธุรกิจการเงินเป็นหลัก ส่วนรอบปีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2563-2564 ระบุว่า สื่อโทรทัศน์ ระบุสินค้าบริการว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากติดคดีความรอบ ส่วนรอบปีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2565 ระบุว่า สื่อโทรทัศน์ ระบุสินค้าบริการว่า ไม่ได้ดำเนินกิจการ เนื่องจากรอผลคดี มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุน และดอกเบี้ยรับ
นอกจากนี้ หมายเหตุประกอบงบการเงินปีสิ้นสุด 31 พ.ค. 2560-2565 ไอทีวีเคยดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ สื่อโฆษณา และผลิตรายการ แต่ สปน.เพิกถอนสัญญาดังกล่าว ส่งผลให้ต้องหยุดดำเนินกิจการ และระบุว่า มีรายได้ผลตอบแทนจากการลงทุน และดอกเบี้ยรับ ส่วนบริษัทย่อย คือบริษัท อาร์ตแวร์มีเดีย จำกัด หยุดดำเนินกิจการไปด้วย
แต่เมื่อพิจารณา ภงด.50 ตั้งแต่ปี 2560-2565 ระบุว่า ประกอบกิจการเผยแพร่ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ รายการโทรทัศน์ แต่ระบุรายได้โดยตรงจากกิจการเป็น 0 บาท และระบุรายได้อื่นว่า มาจากดอกเบี้ยรับ
- “คิมห์” เผยแจ้งแบบ สบช.3 รวม 2 ฉบับเพื่อทำให้ชัดเจน
ส่วนกรณีแบบ สบช.3 ปี 2565 มีจำนวน 2 ฉบับ มีข้อความอันเป็นสาระสำคัญไม่ตรงกันนั้น นายคิมห์ เบิกความว่า แบบ สบช.3 ทั้ง 2 เป็นฉบับจริง แต่ฉบับหลัง เป็นการยื่นหลังแก้ไขยกเลิกฉบับแรก เพื่อให้ชัดเจน ไม่ให้เกิดข้อถกเถียงในเอกสารฉบับแรก โดยเอกสารฉบับแรก ระบุประเภทสินค้าบริการว่า สื่อโฆษณา เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ว่า ถ้าไม่ได้ดำเนินกิจการ ให้ระบุวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งในวัตถุประสงค์ทั้งหมดที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สอดคล้องการนำส่งงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การกรอกข้อมูลประเภทธุรกิจ กรณีไม่ได้ดำเนินกิจการ ให้ระบุวัตถุประสงค์ให้ตรงกับที่จดทะเบียนไว้
ส่วนกรณีรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อ 26 เม.ย. 2566 หน้าสุดท้าย มีผู้ถือหุ้นถามว่า ขณะนี้ บริษัทประกอบกิจการเป็นสื่ออยู่หรือไม่ นายคิมห์ เบิกความว่า การที่คำตอบระบุว่า ยังประกอบกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ไม่ใช่ยืนยันว่า ทำกิจการสื่อ นอกจากนี้หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ไอทีวีชนะคดี จะมีการพิจารณากันอีกครั้งหนึ่งว่า บริษัท จะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่
เห็นได้ว่า การที่แบบ สบช.3 ของปี 63-65 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ ต้องพิจารณาประกอบข้อมูล และนำส่งงบการเงินบริษัท รวมถึงหมายเหตุประกอบงบการเงินโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงการประกอบกิจการแท้จริง
- ศาลชี้ไอทีวียังไม่ได้ทำสื่อ แม้สุดท้ายชนะข้อพิพาทก็เป็นเรื่องอนาคต
แม้จากการไต่สวนฟังได้ว่า ไอทีวี ทำกิจการโทรทัศน์ ผลิตสื่อ เป็นกิจการที่เป็นสื่อกลางในการส่งข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชน ที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบทั่วไป แต่เมื่อแบบ สบช.3 ประกอบงบการเงิน ภงด.50 ในปี 2560-2565 ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏข้อมูลสอดคล้องกันว่า ไอทีวีหยุดดำเนินกิจการดังกล่าว นับตั้งแต่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) บอกเลิกสัญญาตั้งแต่ปี 2550 ผลของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ทำให้สิทธิคลื่นความถี่ในไอทีวี กลับมาเป็นของ สปน. และไอทีวีไม่มีคลื่นความถี่ที่ดำเนินการได้อีกต่อไปจนเกิดเป็นคดีพิพาท ระหว่างคู่สัญญาเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน โดยไอทีวีมิได้เรียกร้องให้คืนสิทธิแก่ตนเองแต่อย่างใด ขณะนี้คดีพิพาทดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
กรณีเห็นได้ว่า ข้อพิพาทคดีดังกล่าว หากท้ายสุดไอทีวีชนะคดี ก็มิได้มีผลให้ไอทีวี ได้รับมอบคืนคลื่นความถี่ และดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ UHF ได้อีก ข้อเท็จจริงดังกล่าวสรุปได้ว่า ไอทีวี ไม่มีสิทธิในการประกอบกิจการสื่อตามกฎหมาย ตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 และการที่ไอทีวี ยังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ เพื่อดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้น นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่า ไอทีวี มีรายได้จากกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน แต่มีรายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุน และดอกเบี้ยรับ
การที่นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการไอทีวีฯ และประธานกรรมการที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวีประจำปี 2566 เบิกความว่า หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ไอทีวีชนะคดี จะมีการพิจารณาอีกครั้งระหว่างผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัท จะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ อาจประกอบกิจการสื่อ หรือประกอบกิจการอื่นตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ในวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 45 ข้อก็ได้ เป็นเรื่องในอนาคต ยังมิได้มีการพิจารณาขณะนั้น
แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญา จนถึงปัจจุบัน ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน ไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานว่า ไอทีวี ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสื่อตามกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น ณ วันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง สส. ไอทีวี มิได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใด ๆ
- มติข้างมาก 8:1 ชี้ “พิธา” รอดคดีหุ้นไอทีวี คัมแบ็ก สส.
การถือหุ้นไอทีวีของผู้ถูกร้องตามคำร้อง จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส. ของผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)