'ก้าวไกล' จี้รัฐสางปม ส.ป.ก.ทับที่อุทยาน ตรวจคนถือครองเกษตรกรจริงหรือไม่
'อภิชาติ ก้าวไกล' ชี้ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อนเขตอุทยาน เกิดจากข้อมูลหน่วยงานรัฐไม่เชื่อมโยงกัน จี้รัฐเร่งปรับปรุงแนวเขตแต่ละหน่วยงาน ตรวจสอบสิทธิผู้ถือครองเป็นเกษตรกรจริงหรือไม่ ปชช.-ท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วม ย้ำไม่นำปมนี้ไปตัดสิทธิคนที่ได้มาถูกต้อง
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการพบหลักหมุดที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อันนำมาซึ่งการติดตามตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับ 2 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ
นายอภิชาติ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีข้อสังเกตต่อเหตุการณ์นี้ใน 4 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นที่ 1 ปัญหาข้อพิพาทแนวเขตที่ดินกรณีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาแนวเขตที่ดินที่ทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานรัฐ และระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนเกิดขึ้นอยู่ตลอด ซึ่งล้วนแต่เกิดจากการที่แต่ละหน่วยงานใช้ข้อมูลคนละชุด รวมถึงมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ทั้งแนวเขต ส.ป.ก. แนวเขตป่าอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ดินอื่น ๆ ของรัฐที่ต่างมีการประกาศทับซ้อนกันจำนวนไม่น้อย รวมถึงกรณีทับซ้อนกับที่ดินเดิมของประชาชนที่ได้ใช้ประโยชน์มาก่อน
"ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งรัดโครงการปรับปรุงแนวเขตที่ดินเพื่อยุติปัญหาและป้องกันปัญหาในอนาคต ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อถ่วงดุลและตรวจสอบข้อมูลร่วมกันจากหลายฝ่ายให้เป็นที่ยุติร่วมกัน และสร้างมาตรการเชิงระบบเพื่อป้องกันการประกาศแนวเขตที่ดินรัฐทับซ้อนที่ดินของประชาชนหรือซ้อนทับกันเอง" นายอภิชาติ กล่าว
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้เคยเสนอแนวทางเชิงนโยบายต่อเรื่องนี้ไว้แล้ว นั่นคือการออกแบบกระบวนการใหม่เป็นการเฉพาะเพื่อดำเนินการสำรวจข้อมูลการถือครองและพิสูจน์สิทธิอย่างเป็นธรรม โดยใช้ข้อมูลที่หลากหลาย สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเชิงพื้นที่ ซึ่งต้องจัดสรรงบประมาณขึ้นมาใหม่ ไม่สามารถใช้กรอบการดำเนินงานหรืองบประมาณปกติของแต่ละหน่วยงานได้ เพราะที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่ามีปัญหาความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อสถานการณ์
ประเด็นที่ 2 กรณีข้อพิพาทดังกล่าวพบข้อพิรุธหลายประการ เช่น การพิจารณาคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิ ส.ป.ก. ความถูกต้องของขั้นตอนการสำรวจรังวัดแปลงที่ดิน สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม ขัดแย้งกับการเป็นพื้นที่เกษตรปกติ ซึ่งอันที่จริงการได้มาซึ่งสิทธิในที่ ส.ป.ก.นั้นต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบพิจารณาหลายขั้น ทั้งชั้นเอกสารที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติ ขั้นสำรวจรังวัดแปลงที่ดิน การสอบสวนสิทธิ ตรวจสอบบัญชีคัดเลือกเกษตรกร ตรวจสอบระยะเวลาการถือครองที่ดิน หรือการแจ้งผลและคัดค้าน
"ตัวอย่างกรณีนี้จำนวนหลายแปลง พบว่าผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ไม่ทราบว่าบุคคลที่มีชื่อได้รับการจัดสรรคือใคร ไม่พบว่าเป็นชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ เป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้ได้รับการจัดสรรเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ ส่อให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการทุจริตในการออก ส.ป.ก. ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบัน และส่วนหนึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากพบการกระทำความผิดจริงอาจจะมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการถูกดำเนินคดี แต่ประชาชนทั่วไปไม่มีทางรู้ว่ามีฝ่ายนโยบายเกี่ยวข้องหรือได้สั่งการหรือไม่ อย่างไร" นายอภิชาติ กล่าว
นายอภิชาติ กล่าวด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่ภายใต้กระแสนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บางประการของที่ดิน ส.ป.ก. โดยใช้คำว่า “โฉนด ส.ป.ก.” ขณะนี้มีช่องว่างให้คนบางกลุ่มหรือกลุ่มนายทุนที่ไม่ใช่กลุ่มเกษตรกรตัวจริงแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หาช่องทางเพื่อเข้ามาจับจองถือครองพื้นที่มากยิ่งขึ้น หากเป็นเช่นนั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีการเตรียมมาตรการป้องกันที่ดินรัฐหลุดมือจากประชาชนกลุ่มเกษตรกร จนกลายเป็นคำถามต่อมาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่รับผิดชอบนโยบายนี้โดยตรง รวมถึงนายกรัฐมนตรี จะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร และจะมีแนวทางป้องกันอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร
ประเด็นที่ 3 จากที่มีการอ้างข้อมูลว่า นอกจากพื้นที่เขาใหญ่แล้ว ยังพบการออก ส.ป.ก.ทับซ้อนเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ โดยจากการสำรวจอุทยานแห่งชาติ 142 แห่งพบพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 205,000 ไร่ เฉพาะแค่พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานก็สูงถึง 7-8 หมื่นไร่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และมีการแถลงจากสำนักงาน ส.ป.ก.ว่า เราจะไม่จัดพื้นที่แนวกันชนให้กับเกษตรกรทำกินโดยเด็ดขาด
"ประเด็นนี้ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นที่แนวกันชนที่ถูกกล่าวอ้างว่าจะดำเนินการเพิกถอนทั้งหมดกว่าสองแสนไร่นั้นไม่ใช่ต้นตอของปัญหาทั้งหมด แต่เกิดจากกระบวนการขั้นตอนของหน่วยงานรัฐ ซึ่งต้องแยกแยะเป็นกรณี ไม่ควรจะนำเอาปัญหาพิพาทกรณีเดียวนี้ไปเหมารวมกับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งประเทศ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ส.ป.ก.อื่น ๆ ที่ดำเนินการถูกต้อง และมีประชาชนทำประโยชน์ตามสิทธิ จึงไม่ควรจะนำปัญหาเรื่องแนวเขตของรัฐที่ทับซ้อนกันและยังไม่มีความชัดเจนนี้ไปเป็นเงื่อนไขให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีสิทธิถูกต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างไม่เป็นธรรม" นายอภิชาติ กล่าว
ประเด็นที่ 4 นโยบายด้านการปฏิรูปที่ดินมีความจำเป็นที่ต้องเป็นไปเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรรายย่อย ดังนั้น การพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบาย ส.ป.ก.ควรเป็นไปด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นตั้งแต่ระดับชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บนฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์เชิงสหวิชาการอย่างรอบด้านเนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างของประเทศที่สัมพันธ์โดยตรงกับปัญหาการจัดการที่ดิน ดังนั้น บทบาทของหน่วยงานด้านปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงไม่ควรทำเพียงแต่การจัดสรรที่ดิน แต่ควรมีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถพัฒนาอาชีพ เงินทุน สาธารณูปโภค การตลาด เพื่อสามารถรักษาที่ดินพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้
นายอภิชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาจริง ควรเร่งตรวจสอบข้อมูลสิทธิของผู้ได้รับ ส.ป.ก.ทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลผู้ถือครองจริงในปัจจุบันว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรตามคุณสมบัติหรือไม่ ซึ่งหากเป็นผู้ที่ผิดคุณสมบัติตามระเบียบกฎหมายต้องเร่งดำเนินการเพิกถอนสิทธิ และจัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้อง