ตรวจสัญญาณเขย่าครม. 6 เดือน - จุดอ่อนผลงานไม่ประจักษ์

ตรวจสัญญาณเขย่าครม. 6 เดือน - จุดอ่อนผลงานไม่ประจักษ์

ตรวจสัญญาณเขย่าครม. 6 เดือน จุดอ่อนผลงานไม่ประจักษ์ จับตาทายาทการเมือง กลุ่มทุน เร่งดันนโยบายสำคัญ กู้เรตติ้งก่อนพลิกเกมอำนาจ

KEY POINTS :

  • การปรับครม.ถูกพูดถึงในวงลับ-วงไม่ลับ แม้ นายกฯ เศรษฐา จะปฏิเสธกระแสข่าว แต่แรงกดดันจากใครบางคนเริ่มส่งสัญญาณแรง
  • ตามสไตล์ของ "นายใหญ่" มักให้เวลารัฐมนตรีพิสูจน์ผลงาน 6 เดือน จึงจะมีการประเมิน KPI ใครสอบตกต้องกระเด็นพ้นเก้าอี้
  • ในส่วนของ "พรรคร่วมรัฐบาล" จะมีการแจ้งให้ทราบว่า "เพื่อไทย" จะขยับในช่วงใด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการส่งชื่อปรับเข้า-ปรับออกเช่นกัน

การปรับ คณะรัฐมนตรี แม้ในการบริหารจะเป็นอำนาจเต็มของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แต่หลังฉากการเมืองทุกพรรคร่วมรัฐบาลรู้กันว่า มีใครกำกับดูแลอำนาจของนายกฯ และมีส่วนสำคัญในการจัดสรรโควตารัฐมนตรีมาตั้งแต่ต้น

จังหวะในการปรับ ครม.ที่มักเป็นสูตรของ “เพื่อไทย” ในการประเมินผลงานคือ ราวๆ 6 เดือน รอบนี้บรรดา สส.คาดกันว่า จะอยู่ในช่วงปลายเดือน เม.ย. ถึงต้นเดือน พ.ค.นี้

โดย"เพื่อไทย”ในฐานะพรรคแกนนำ จะแจ้งไปยังพรรคร่วมรัฐบาลล่วงหน้า หากพรรคใดมีความประสงค์จะปรับภายใน หรือขอสลับสับเปลี่ยนโควตา ก็สามารถแจ้งความจำนงมายังนายกฯ และส่งรายชื่อตามมาได้ 

แน่นอนว่า การประเมินผลงานรอบแรก ย่อมส่งผลต่อสถานะ “รัฐมนตรี” ทุกเก้าอี้ ซึ่งแต่ละคนก็ต้องลุ้นว่าผลงานตัวเอง อยู่ในข่ายได้ไปต่อ หรือจะถูกปรับออก 

ทำให้รัฐมนตรี หลายรายเริ่มเช็คสถานการณ์ตัวเอง ขณะที่บางรายซึ่งเคยถูกเตือนก็เร่งพีอาร์ผลงาน 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐมนตรีจำนวนหนึ่งแทบไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคม ไม่ปรากฎผลงานเป็นรูปธรรม ในส่วนนี้ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกเปลี่ยนตัวให้แถวต่อไปเข้ามาทดแทน  

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมรายชื่อ “รัฐมนตรี” ที่ถูกกล่าวถึงทั้งวงในวงนอก โดยต้องผ่านกระบวนการประเมินผลงาน ตาม KPI ที่ถูกกำหนดไว้ จึงจะรู้ว่าสุ่มเสี่ยงอยู่ในข่ายถูกปรับเปลี่ยนหรือไม่ รวมถึงวัดกันที่คอนเนกชั่นกับผู้มีบารมีนอกพรรค

“เพื่อไทย”ครบประเมิน KPI ครึ่งปี 

สำหรับพรรคเพื่อไทย มีกระแสมาระยะหนึ่งว่า นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ต้องการสละเก้าอี้ รมว.คลัง เหลือเพียงแค่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะอยากมีเวลาทำงานในพื้นที่ฐานเสียงของพรรค รักษากระแสความนิยม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้มีการพูดถึงสูตรควบตำแหน่ง เพื่อไม่ให้นายกฯ ขาลอย โดยเล็งไปที่เก้าอี้ รมว.กลาโหม ที่นายกฯ พลเรือน หลายคนในอดีตเคยควบมาแล้ว ที่สำคัญใน ครม.ก็ยังไม่เคยมอบหน้าที่รองนายกฯ ดูแลด้านความมั่นคง แต่ในระยะหลังมานี้สูตรนายกฯ นั่งควบได้ถูกตีตก เพราะอาจไม่ตอบโจทย์การทำงานภาพใหญ่

“ชลน่าน ศรีแก้ว” รมว.สาธารณสุข แม้จะเป็นอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เสียต้นทุนทางการเมืองในช่วงพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลไปมาก ปรากฎว่ามี “ผู้ไม่หวังดี” ปล่อยข่าวเขย่าเก้าอี้ เพื่อหวังให้ “ชลน่าน” กลับไปทำหน้าที่ สส.ในสภาฯ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของพรรคในเวลานี้ 

“สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ลูกสาว “กำนันป้อ” วีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ผู้นำบ้านใหญ่โคราช และทุนรายสำคัญ ว่ากันว่า จำนวน สส. ในมือ “กำนันป้อ” มีมากพอที่จะเป็นแบ็คอัพให้กับ “ลูกสาว” แต่ข่าวการทำงานด้านลบ ไม่ผ่านมาตรฐาน เริ่มกระฉ่อนในพรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะกรณีการใช้งบประมาณของ “บางหน่วยงาน”ภายในกระทรวง ถูก“บิ๊กข้าราชการ”เบิกจ่ายเป็นว่าเล่น แต่“เจ้ากระทรวง”กลับไม่รู้ที่มาที่ไป จน สส.เพื่อไทยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ “รมว.ปุ๋ง”ว่า อาการน่าเป็นห่วง เพราะประสบการณ์น้อย จนไม่ทันเกม

“พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สายตรง “นายหญิงแดนไกล” สถานการณ์บนเก้าอี้รัฐมนตรี ไม่มั่นคง เนื่องจาก “เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า” ไม่พอใจวิธีทำงานนัก  ระยะหลังจึงปรากฏภาพ “มาดามนครบาล” พยายามปรับตัว แก้เกมโดยเคียงข้างนายกฯ เศรษฐาอยู่หลายอีเวนต์

จุดอ่อนผลงาน-ครบดีล-แถว 2 รอเสียบ

“เกรียง กัลป์ตินันท์” รมช.มหาดไทย แม้จะดูแลกำกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่แทบไม่มีผลงานในการบริหารงานกระทรวง เมื่อถูก“ทีมบุรีรัมย์”ข่มรัศมี จนขยับตัวสร้างผลงานได้ยาก

ที่สำคัญผลงานการเลือกตั้ง สส.อุบลราชธานี  เพื่อไทยรักษาฐานเดิมไว้ได้เพียง 4 ที่นั่งจาก 11 ที่นั่ง ทำให้เครดิตการเมืองของ “เกรียง”วูบไปพอสมควร แม้ความสัมพันธ์ส่วนตัวจะแนบแน่นกับ “นายใหญ่” แต่เมื่อผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์ เก้าอี้รัฐมนตรีจึงอยู่บนความเสี่ยงไม่น้อย

“ไชยา พรหมา” รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีชื่อในกลุ่มเสี่ยงหลุดจากเก้าอี้ เกือบทุกโผ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ผลงานได้ อีกทั้งในพรรคยังมองว่า กรณีไชยาถือว่า “นายใหญ่” ได้ตอบแทนพอสมควรแล้ว

สำหรับโควตารัฐมนตรีที่ยังว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง ชื่อของ “พิชิต ชื่นบาน” ที่ปรึกษานายกฯ หัวหน้าทีมทนายตระกูลชินวัตร มั่นใจว่าปมถุงขนมสามารถเคลียร์กับ“กฤษฎีกา”ได้เรียบร้อยแล้ว จึงหวังจับจองเก้าอี้รอบสองนี้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม พิชิตก็ยังมีอุปสรรคใหญ่ เมื่อบิ๊กเนมอย่าง “ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.บัญชีรายชื่อ ยังเป็นตัวสอดแทรก เพราะยี่ห้อ “ชูศักดิ์” ที่ถนัดงานด้านกฎหมาย และมีความจำเป็นในชอตต่อไป โดยถูกวางตัวให้ดูแลประเด็นใหญ่ คือการแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ

จับตาภูมิใจไทยเขย่าโควตากลุ่มทุน

พรรคภูมิใจไทย ต้องถือว่าแรงเขย่ากันเองภายในพรรคมีน้อย เพราะเจ้าของพรรค ยังมีพาวเวอร์บริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

โควตารัฐมนตรีหลักๆ จึงกระจุกตัวอยู่ในเครือข่าย “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ที่ต้องเดินตามนโยบาย “ครูใหญ่” และแถวถัดไปรอเวลาส่งต่อทายาทการเมือง “ตระกูลชิดชอบ” เข้ามาฝึกงาน

อีกส่วนที่กติกาชัด โควตาที่จัดสรรให้ “กลุ่มทุน” ผู้สนับสนุนพรรคอย่างไม่เป็นทางการ หากยังส่งกำลังบำรุงอย่างดี เก้าอี้รัฐมนตรีย่อมไร้ความเสี่ยง แต่เมื่อใดที่ขาดตกบกพร่อง มีโอกาสจะถูกกลุ่มอื่นเทคโอเวอร์เก้าอี้ไปได้ไม่ยาก 

พปชร.ศึก“เจ้ากระทรวง”ยังไม่สงบ

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ กับกระแสข่าวศึก “ 2 เจ้ากระทรวง” ที่เปิดฉากรบกันเอง ก็ยังไม่สงบ

เมื่อฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีสส.ในมือ พยายามเดินเกมล็อบบี้ให้ หัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปลี่ยนตัวเจ้ากระทรวง เพราะไร้ผลงาน 

ทว่าอีกฝ่าย มี “ลูกสาว" คอยเป็นแบ็คอัพ ทั้งงานในกระทรวง และงานการเมือง เมื่อรู้ทันถึงความเคลื่อนไหว จึงพยายามเดินเกมเอาคืน

ขณะเดียวกัน อีกด้าน ก็มี สส.พลังประชารัฐ อยากให้ พล.อ.ประวิตร เข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเอง เพื่อหย่าศึกขัดแย้งในเรื่องนี้ แต่ปัญหาการเมืองจะวกกลับไปยังเพื่อไทย ซึ่งเคยประกาศจุดยืนไม่เอา “2 ลุง”

ด้าน “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.สาธารณสุข ไม่ถนัดกับบทบาทในกระทรวงหมอ จึงตั้งท่าขอเปลี่ยนกระทรวงในโควตาของพรรค

ส่วน “ไผ่ ลิกค์” สส.กำแพงเพชร ที่หลุดคิวในรอบแรก ด้วยปัญหาคุณสมบัติ รอบสองนี้ จึงตั้งความหวังไว้สูงว่า จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยตามโควตาของพรรค แต่ล่าสุด กลับมีผู้ท้าชิง ประกาศตัวขอลุ้นโควตานี้เช่นกัน คือ “อนันต์ ผลอำนวย” สส.กำแพงเพชร ด้วยกัน แต่คนละสายกับ “ไผ่” และอีกราย "ตรีนุช เทียนทอง" สส.สระแก้ว ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกรักหัวหน้าพรรค ก็หวังจะรีเทิร์น  

แถวสอง รทสช.ลุ้นต่อคิว

พรรครวมไทยสร้างชาติ สถานะรัฐมนตรีบนเก้าอี้ รมว.พลังงาน รมว.อุตสาหกรรม และ รมช.คลัง ค่อนข้างนิ่ง ไม่มีสัญญาณจากพรรคนี้ว่าจะ ขยับปรับเปลี่ยนตำแหน่งใด 

ทว่า เก้าอี้ของ อนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ เริ่มถูกจับตา ว่าอาจสั่นคลอนเพราะพิษจาก“คนใกล้ชิด” ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับ “บิ๊กเนม-ลูกพรรค”

ทำให้แคนดิเดตหลายคนในรวมไทยสร้างชาติ แอบมีลุ้น เข้ามาเสียบแทน ตั้งแต่ สุชาติ ชมกลิ่น อดีต รมว.แรงงาน สุพล จุลใส สส. ชุมพร และ ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ

เมื่อรัฐบาลครบรอบประเมินผลงาน สัญญาณที่ถูกส่งออกมา แม้บรรดา“รัฐมนตรี” จึงต้องลุ้นกันหนัก เพราะสถานการณ์รัฐบาล ว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจ ที่ยังไม่สู้ดีนัก จึงขึ้นอยู่กับผู้มีบารมีเหนือรัฐบาล จะเลือกใช้บริการใคร มาช่วยกันกู้เรตติ้ง ผลักดันนโยบายสำคัญให้ผ่าน เพื่อเป็นผลงานก่อนพลิกเกมอำนาจครั้งใหม่  

ตรวจสัญญาณเขย่าครม. 6 เดือน - จุดอ่อนผลงานไม่ประจักษ์