ดองผ่าน อสส.3 ยุค! ฉากหลังคดีฟอกเงินซื้อที่ดิน ก่อนฟ้อง ‘อนันต์ อัศวโภคิน’

ดองผ่าน อสส.3 ยุค! ฉากหลังคดีฟอกเงินซื้อที่ดิน ก่อนฟ้อง ‘อนันต์ อัศวโภคิน’

นี่คือพยานหลักฐาน และเส้นทางการเงินที่สำคัญปรากฏในสำนวนการตรวจสอบของ ปปง. และดีเอสไอ ก่อนนำไปสู่การสั่งฟ้องของ อสส.ในวันนี้

KEY

POINTS

KeyPoints

  • อนันต์ อัศวโภคิน” นักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย ถูก อสส.สั่งฟ้องคดีฟอกเงินจากการซื้อขายที่ดินต่อจากสหกรณ์คลองจั่น
  • คดีนี้ถูกดองในชั้นการชี้ขาดของ อสส.มานานราว 4 ปี ผ่านยุค อสส.ถึง 3 คน ก่อนที่ “อำนาจ เจตเจริญรักษ์” อสส.คนปัจจุบันจะสั่งฟ้อง
  • เมื่อปี 2562 ยุค “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” เป็นอธิบดีสำนักงานคดีพิเศษ เคยส่งความเห็นไม่สั่งฟ้องไปยัง “ดีเอสไอ” แต่ “พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง” อธิบดีดีเอสไอ มีความเห็นแย้งว่าควรสั่งฟ้อง ก่อนเรื่องจะถูกดองยาว
  • โชว์พยานหลักฐานชิ้นสำคัญ เป็นเส้นทางการเงินซื้อขายที่ดิน ในคำสั่งอายัดทรัพย์ของ ปปง.

คดีนี้เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปนานกว่า 4 ปี จนหลายคนอาจลืมไปแล้ว สำหรับกรณี "ฟอกเงิน" ในการซื้อขายที่ดินจากการยักยอกทรัพย์ของ "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 ก็มีความคืบหน้า พลันที่มีกระแสข่าวว่า “อำนาจ เจตเจริญรักษ์อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งฟ้อง “อนันต์ อัศวโภคิน” เจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ในคดียักยอกทรัพย์ “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น” ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินจากการซื้อที่ดินไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา 

ขณะนี้ อสส.ได้ส่งเรื่องกลับมาที่สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ดำเนินการนำตัวเขาส่งฟ้องต่อศาล สำหรับขั้นตอนต่อไปอัยการสำนักคดีพิเศษ จะต้องทำหนังสือแจ้ง “อนันต์” เพื่อให้มารายงานตัว และนำตัวส่งฟ้องศาลตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 เม.ย.นี้

ประเด็นที่น่าสนใจคดีนี้ถูกดองในชั้นอัยการมานานตั้งแต่ปี 2562 ตั้งแต่ยุค “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” อดีต อสส. เมื่อครั้งเป็นอธิบดีสำนักงานคดีพิเศษ โดยส่งสำนวนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยเห็นว่า “ไม่สมควรสั่งฟ้อง” คดีนี้ ทว่า “พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง” อธิบดีดีเอสไอ (ขณะนั้น) จัดทำ “ความเห็นแย้ง” เห็นควรให้ “สั่งฟ้อง” เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า หลักฐานทางเส้นทางการเงินมีเพียงพอ 

โดยขั้นตอนความเห็นแย้งของอธิบดีดีเอสไอดังกล่าว ไปอยู่ระหว่างการพิจารณาของ อสส.นานถึง 4 ปี ผ่านยุคของ อสส. 3 คน ไล่เรียงมาตั้งแต่ “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์-สิงห์ชัย ทนินซ้อน-นารี ตัณฑเถียร” กระทั่งสู่ยุค “อำนาจ เจตเจริญรักษ์” จึงมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้

โดยพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในคดีนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เคยออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดรายของ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานสหกรณ์คลองจั่น ในคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์คลองจั่น ในส่วนของที่ดิน ที่โอนขายให้กับ “บรรณพจน์ ดามาพงศ์” (พี่ชายบุญธรรม คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ) และ “อนันต์ อัศวโภคิน” 

โดยผลจากการตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของ “ศุภชัย” ที่มีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และนำเงินไปลงทุนซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลง โฉนดที่ดินเลขที่ 31343 ,31344 และ 31345 ตั้งอยู่ตำบลคลองสอง (คลอง 2 ตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่รวม 312 ไร่ 1 งาน 17.6 ตารางวา และหุ้นของบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด โดยวิธีการสั่งจ่ายเช็คจำนวน 11 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 321,400,000 บาท

ในส่วนคดีของ “อนันต์ อัศวโภคิน” ปปง. ระบุในคำสั่งอายัดทรัพย์ว่า ภายหลังจากบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด ได้รับเงินลงทุนของ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” กับพวกแล้ว บริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 31344 ให้กับนายอนันต์ อัศวโภคิน ที่ดินเนื้อที่ 46-3-56.2 ไร่ ราคาไร่ละ 2,000,000 บาท เป็นเงิน 93,781,000 บาท 

โดยปรากฎว่ามีการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาถวายที่ดินของ “ศุภชัย” ให้กับพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เป็นการส่วนตัว มี “อนันต์ อัศวโภคิน” ลงลายมือชื่อ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนพระเทพญาณมหามุนี และมีพยานลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าว เว้นแต่ “ศุภชัย” ไม่ได้ลงลายมือชื่อ

หลังจากนั้นเมื่อ 25 มิ.ย. 2558 “อนันต์” ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บริษัทไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด ในราคา 492,350,250 บาท และได้รับเงินที่เหลือจากการขายที่ดิน จำนวน 468,731,250 บาท นำไปชำระหนี้ให้บริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด และหนี้อื่นบางส่วน โดยนำเงินส่วนใหญ่จำนวน 303,000,000 บาท ไปบริจาคให้มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เพื่อนำไปก่อสร้างอาคาร บุญรักษา

นี่คือพยานหลักฐาน และเส้นทางการเงินที่สำคัญปรากฏในสำนวนการตรวจสอบของ ปปง. และดีเอสไอ ก่อนนำไปสู่การสั่งฟ้องของ อสส.ในวันนี้

อย่างไรก็ดียังมีผู้ถูกกล่าวหาในตระกูล “อัศวโภคิน” อีกรายคือ “อลิสา อัศวโภคิน” เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินต่อจาก “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” จำนวน 8 แปลง 57 ไร่ บริเวณตำบลคลอง 3 อำเภอคลองหลวง อยู่ใกล้กับวัดพระธรรมกาย ที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของดีเอสไออีกเช่นกัน และยังไม่มีความคืบหน้าในตอนนี้

ขณะที่ “อนันต์” เมื่อเดือน เม.ย. 2566 ยังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดร่วมกับ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ยักษ์ใหญ่ด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงบริษัท แอตแลนติก เรียลเอสเตท จำกัด บริษัทในเครือข่าย LH กับพวก คดีถูกกล่าวหาว่า สนับสนุนพนักงานในหน่วยงานของรัฐกระทำผิดประเด็นทุจริตในการขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริเวณโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนหารายได้ร่มเกล้า ระยะที่ 10 (พาร์ควิลล์ ร่มเกล้า) เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาชี้ขาดของ อสส.อีกเช่นกัน

อ่านข่าว: ผ่าอาณาจักรอสังหาฯแสนล้าน! “อนันต์ อัศวโภคิน” ก่อนโดน ป.ป.ช.ลงดาบ

ในมุมธุรกิจ “อนันต์ อัศวโภคิน” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดในบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH จำนวน 2,860,000,047 หุ้น หรือคิดเป็น 23.93% (รวมมูลค่า 28,028,000,460 บาท ราคาพาร์ 9.80 บาท/หุ้น) โดย “แลนด์แอนด์เฮ้าส์” มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จำนวน 117,107.19 ล้านบาท นำส่งงบการเงินปี 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565) มีรายได้รวม 36,482.29 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,312.52 ล้านบาท 

ทั้งนี้ “แลนด์แอนด์เฮ้าส์” เป็นผู้หุ้นใหญ่ใน บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ 24.98%, บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ 30.23% (มี บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ ถือด้วย 19.87%) 

ขณะที่ในนามส่วนตัว “อนันต์ อัศวโภคิน” เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และที่จดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากว่า 40 แห่ง

ทั้งหมดคือเบื้องลึกฉากหลังคดีนี้ ก่อนที่ อสส.จะลงนามคำสั่งฟ้อง คดีที่ค้างคาใจสาธารณชนมาอย่างยาวนาน รอลุ้นบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร