‘เศรษฐา’ บนพื้นที่สื่อ กลยุทธ์ KPI นายกฯ ?
ถ้าลองย้อนไปในอดีต “นายกฯ” ไทยแต่ละคน ต่างถูกจดจำด้วยผลงานสำคัญๆ ที่พลิกโฉมหน้าของประเทศ หรือนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติ
Key Points
- เมื่อทักษิณ ชินวัตร ถูกสปอตไลต์ส่อง กับอิทธิพลในเกมอำนาจรัฐบาลนี้
- กลยุทธ์การทำงานของเศรษฐา ทวีสิน ที่เน้นออนทัวร์ เดินสายโชว์ตัว สร้างกระแส ชิงพื้นที่สื่อ
- ท่ามกลางความเสียดายของคนในเพื่อไทย ที่หวั่นเสียโอกาส เมื่อได้เป็นรัฐบาล แต่กอบกู้วิกฤติศรัทธายังไม่ได้เท่าที่ควร
- ในวันที่เพื่อไทยต้องการจุดเปลี่ยนเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้ง
ผ่านไปร่วมครึ่งปีกับรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เริ่มเห็นทิศทาง และสไตล์การทำงานที่เด่นชัดขึ้น
จากนักธุรกิจที่โฟกัสเรื่องตัวเลขผลประกอบการ และภาพลักษณ์เป็นสำคัญ
คาแรคเตอร์การทำงานของเศรษฐา สมัยอยู่ภาคเอกชน คนที่เกี่ยวข้องต่างรู้ดีว่า ดุดันไม่เกรงใจใคร ด้วยอำนาจและสถานะตรงนั้นเอื้อให้ทุกอย่างต้องขึ้นกับความต้องการของเศรษฐา
มาวันนี้ เมื่อบริบทเปลี่ยน เข้ามาอยู่ในการเมือง มีตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหาร มีอำนาจเด็ดขาดในตัวพอสมควร สำหรับการตัดสินใจ กำหนดทิศทางอนาคต และก้าวต่อไปของประเทศ
ในช่วงต้นที่เศรษฐา ขึ้นเป็นนายกฯ ใหม่ๆ เต็มไปความคึกคัก ขึงขัง วาง KPI หรือดัชนีชี้วัดความสำเร็จในตัวรัฐมนตรี
ผ่านไปเกือบ 6 เดือน โฟกัสหลายอย่างของเศรษฐา อาจพูดได้ว่า ก้าวข้ามมาตรฐานที่ตัวเองเคยวางไว้ไปไกลโข
รัฐมนตรีของเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลหลายคน ยังจับจุดการทำงานไม่ถูก ควานหาผลงานไม่ได้ บางคนเข้าขั้นรัฐมนตรีโลกลืมด้วยซ้ำ
สไตล์การทำงานของเศรษฐาในฐานะนายกฯ วันนี้ จึงแตกต่างจากตัวตนที่แท้จริงของตัวเองแบบหน้ามือหลังมือ
ด้วยความเป็นมือใหม่ในมิติแห่งอำนาจทางการเมือง สเต็ปในการสร้างบารมีให้นักการการเมืองจากพรรคร่วมฯ หรือแม้แต่เพื่อไทยต้องซูฮกก็ยังแทบไม่เห็น
จนมีข้อสังเกตว่า บรรดารัฐมนตรี หรือข้าราชการ ที่นอบน้อมนายกฯ เป็นเพราะให้เกียรติ หรือเคารพเฉพาะตำแหน่งผู้นำ อาจไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล
ความดุดันที่เคยใช้จนกลายเป็นบุคลิกติดตัว ถึงวันนี้ในจังหวะที่เศรษฐาต้องใช้พระเดช พระคุณ กระตุ้นหรือกำราบนักการเมืองที่ร่วม ครม. ก็แทบไม่เห็น
การแบ่งงานรองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆ เศรษฐา แทบไม่เคยข้องแวะหรือล้วงลูก มอบหมายงานแล้วก็มอบหมายเลย รัฐมนตรีหลายคนจึงค่อนข้างชิล
สิ่งที่เห็นชัดสุดในตัวเศรษฐา คือ เน้นเดินสายลงพื้นที่เป็นหลัก แทบไม่ว่างเว้น
ล่าสุดเพิ่งออนทัวร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ 27-29 ก.พ. ที่ผ่านมา ถัดมามีคิวไปร้อยเอ็ดและกาฬสินธ์ุ 2 มี.ค.นี้
โดยในวันที่ 3 มี.ค. ตรงกับวันอาทิตย์ มีนัดประชุมครม.ในช่วงบ่าย ซึ่งเลื่อนมาจากนัดปกติทุกวันอังคาร ซึ่งครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 5 มี.ค. แต่ดันไปติดคิวเดินสายทัวร์เมืองนอกของเศรษฐา ที่ยิงยาวตั้งแต่ 4-14 มี.ค. ตั้งแต่ร่วมเวทีประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย ต่อด้วยทัวร์ยุโรป ฝรั่งเศสและเยอรมนี
การเดินสายของเศรษฐา จึงเริ่มถูกตั้งข้อสังเกตมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงความพอเหมาะพอดี และ KPI ของตัวเอง
การที่เศรษฐา เลือกวางบทบาทตัวเองในตำแหน่งนายกฯ ด้วยการเน้นเดินสายลงพื้นที่ นัยหนึ่งอาจปฏิเสธไม่ได้ว่า มุ่งที่จะสร้างกระแส สร้างความนิยมส่วนตัว
โดยอาจมาจากปัจจัยและเงื่อนไขทางการเมืองในบริบทปัจจุบัน เมื่อทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ามาอยู่ในเกม หรือพยายามหลบหลีกบารมี และรัศมีจากบ้านจันทร์ส่องหล้า ไม่อยากตอบสนองอะไรใครหรือไม่ โดยมีข้อสังเกตว่าเมื่อนายใหญ่มีคำสั่งใด ก็ปล่อยให้สั่งผ่านแกนนำเพื่อไทยไปทำแทน ไม่ได้ข้องแวะกับเศรษฐา
เหตุผลดังกล่าว รวมถึงการที่เศรษฐา ไม่อาจสั่งบรรดารัฐมนตรีที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูง ซึ่งกำกับงานสำคัญๆ ได้เพราะเนื้อในดูจะไม่เอื้อให้เศรษฐา อยู่นิ่งๆ นั่งบริหารบ้านเมือง
เป็นไปได้ว่าเศรษฐา อาจเห็นชัดขึ้นว่างานไม่ออก จึงต้องใช้วิชาตัวเบา เทียวไปเทียวมาอย่างที่เห็น
หลายคนที่มีบทบาทในขั้วอำนาจวันนี้ โดยเฉพาะคนในเพื่อไทย ต่างเสียดายโอกาสที่อุตส่าห์ทำลายต้นทุนทางการเมืองตัวเองมากมาย เพื่อพลิกมาจับมือกับพรรค 2 ลุงเป็นรัฐบาล แต่พอถึงเวลา กลับกอบกู้วิกฤติศรัทธา กลับยังทำไม่ได้เท่าที่ควร
อนาคตของเศรษฐา บนเก้าอี้นายกฯ จะมั่นคงได้นานแค่ไหน ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมือง และผลงาน ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ลำพังการเดินสายของเศรษฐา เพื่อหาคอนเทนต์พีอาร์มาร์เก็ตติ้ง หากสร้างกระแสสุดปังได้จริง จนสามารถกระชากเพื่อไทยขึ้นจากหล่มตระบัดสัตย์ได้ ก็นับว่าน่าสนใจ แต่ถ้าทดลองแล้วพบว่ากลยุทธ์นี้ไม่ได้ผล ก็ยังมีเวลากลับตัว
เพราะถ้าลองย้อนไปในอดีต นายกฯ ไทยแต่ละคน ต่างถูกจดจำด้วยผลงานสำคัญๆ ที่พลิกโฉมหน้าของประเทศ หรือนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติ
จะว่าไปแล้ว ก็ยังไม่เคยปรากฎนายกฯ คนใดถูกจารึก ถูกจดจำ เพราะมีข่าวในสื่อมากมาย
ทุกอย่างอยู่ที่ผลสัมฤทธิ์ของงาน ถ้าถูกตาต้องใจประชาชน ย่อมได้รับความไว้วางใจ และได้โอกาสทำต่อ ไม่ใช่เมื่อถูกเปลี่ยนตัว ก็ไม่มีใครเสียดาย