‘ประวิตร’ นำทัพ ’พปชร.‘ เยือน สปป.ลาว ถก ‘สอนไซ’ จับมือ แก้ PM2.5 พัฒนาระบบขนส่ง
“ประวิตร” ทำทัพ “พปชร.” ข้ามโขง เข้าพบ “สอนไซ สีพันดอน” นายกฯ สปป.ลาว หนุน ความร่วมมือทุกมิติ แก้ PM2.5 พัฒนาโลจิสติกส์ การค้าการลงทุน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รองหัวหน้าพรรค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวราเทพ รัตนากร ผู้อำนวยการพรรค อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง,นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรรมการบริหารพรรค และพล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์สุวรรณ นายทะเบียนพรรคและรักษาการเหรัญญิกพรรค และ สส.พปชร.ภาคอีสาน เดินทางจากด่านชายแดนฝั่งไทยข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไปยังทำเนียบรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อพบปะนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ระดับสูง สปป.ลาวให้การต้อนรับ
โดยพล.อ.ประวิตร ได้หารือกับนายสอนไซ สีพันดอน ว่า สปป.ลาว และประเทศไทยมีความสัมพันธ์เป็นเพื่อนบ้านมาอย่างช้านาน ความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือ กับ สปป.ลาว ทุกๆ ภาคส่วน มาอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดี ในการทำหน้าที่ประธานอาเซียน ของ สปป.ลาว ในปี 2567 นี้ โดยผมพร้อมสนับสนุน อย่างเต็มที่ๆ จะพัฒนาความร่วมมือในทุกด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
“การเดินทางมาเยือน สปป.ลาว ของผม และผู้บริหารพรรคในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่จะได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ในการพัฒนาความร่วมมือด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต เพื่อรองรับการพัฒนา และการส่งเสริมด้านเกษตรกรรม สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการค้าในภูมิภาคในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายสำคัญในการดูแลรักษาป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาฝุ่นควัน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่เราจะต้องร่วมมือกัน”
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสปป.ลาวได้จัดทำ บันทึกความเข้าใจ ร่วมกันเพื่อส่งเสริม และพัฒนาความร่วมมือ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน ทั้งการป้องกัน ควบคุมมลพิษการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำและ การจัดการ สภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือ ด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ประเทศไทย และ สปป.ลาว ต่างมุ่งเน้นยกระดับ การดำเนินการในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยฝ่ายไทย ยินดีสนับสนุน และแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์ ให้ทั้งสองฝ่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป
"ในวันนี้ผมต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ได้หารือในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไทยและ สปป.ลาว จะดำรงความต่อเนื่องในความร่วมมือต่อกันให้ทั้งสองประเทศเจริญก้าวหน้าต่อไป"
ขณะที่นายสอนไซ ได้กล่าวยินดีต้อนรับคณะพรรคพปชร. ที่นำโดย พล.อ.ประวิตร ที่ได้เดินทางมาเยือนสปป.ลาวในครั้งนี้ เนื่องจากสองประเทศอยู่ติดกัน และเป็นเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนชาวไทยมาลงทุนในสปป.ลาวเป็นอันดับ 2 และยังคงเดินหน้าที่จะทำความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การบริการ การท่องเที่ยว คมนาคม ของทั้งสองประเทศ โดย สปป.ลาว มีแนวทางเช่นเดียวกับไทยที่จะพัฒนาสังคมสีเขียวให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับดูแลพปชร. ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้บริหารราชการผ่านกลไกการทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสปป.ลาว พร้อมผลักดันให้เกิดขึ้นในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการส่งออก และนำเข้าสินค้าเกษตร การควบคุมโรคระบาดในสัตว์ รวมถึง ปัญหาหมอกควัน ที่สปป. ลาว ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทย ที่ภาคการเกษตรยังมีการเผาเพื่อกำจัดวัชพืช ซึ่งถือว่าปัญหาดังกล่าว นับเป็นวาระสำคัญของทั้งสองประเทศในการ ลดปัญหา P.M 2.5 ที่เป็นทิศทางเดียวกัน และร่วมมือการแก้ไขปัญหาต่อไป
จากนั้น พล.อ.ประวิตร พร้อมคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค หรือ VLP มีพื้นที่ 3,000 ไร่ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีท่าบกท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางด้านธุรกิจ ระหว่างไทย-ลาว-จีน โดยเฉพาะการทำอุตสาหกรรมในเขตปลอดภาษี หรือ ฟรีโซน ซึ่งจะทำให้ภาษีนำเข้าและส่งออกเหลือร้อยละ 0 จุดนี้มีการก่อสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์ การค้า การลงทุน การธนาคาร ไฟแนนซ์เชียล อุตสาหกรรมเบาในเขตฟรีโซน รวมไปถึงคลังน้ำมัน
สำหรับโครงการนี้มีนักธุรกิจ ลาว จีน และไทย ร่วมลงทุน มูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญดอลลาร์ เพื่อเชื่อมโยงระบบรางและโลจิสติกส์ ระหว่างไทย ลาว จีน และในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจุดแข็งของศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งนี้ คือ นักลงทุนที่เข้ามาทำอุตสาหกรรมเบา จะมาทำสินค้าเกษตรแปรรูป หรือบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี คือ ภาษีนำเข้าและส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนเหลือร้อยละ 0 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าและส่งออกถูกลง
ทั้งนี้โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค จะใช้เวลาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอาคารสถานที่ ภายในระยะเวลา 1 ปี จึงจะสามารถเปิดให้นักลงทุนเข้ามาเช่าพื้นที่ ขณะนี้มีนักธุรกิจประมาณร้อยละ 40-50 สนใจที่จะทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าเกษตรที่เหลือจะเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์