เปิดครบ! มาตรการ ป.ป.ช.คุ้มครองพยานชี้ช่องโกง ทำอย่างไร ใครเข้าข่าย
ป.ป.ช.แพร่บทวิเคราะห์เรื่อง 'คุ้มครองพยาน-ผู้แจ้งเบาะแส' ตัวละครสำคัญในมาตรการปราบปรามทุจริตของไทย เปิดหมดครบทุกขั้นตอน คุ้มครองอย่างไร ใครเข้าข่าย สิ้นสุดเมื่อใด
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง “คุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแส” มาตรการปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ช. โดยระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้กลายเป็นปัญหาที่มีความสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีเจตจำนงร่วมกันในการช่วยกันป้องกันและปราบปราม ลักษณะของการทุจริตนั้น เป็นเรื่องที่รับรู้หรือรู้เห็นกันเฉพาะผู้ให้กับผู้รับ ดังนั้น เมื่อผลประโยชน์ลงตัว จึงเป็นการยากที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำเรื่องการให้ การรับผลประโยชน์ออกมาเปิดเผยหรือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจเพื่อให้ทำการตรวจสอบ เนื่องด้วยเกรงว่าจะทำให้ตนเองและผู้ใกล้ชิดต้องได้รับความเดือดร้อนไปด้วย
ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน หรือภาคประชาสังคมเพื่อให้ตระหนักถึงภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นและเห็นความสำคัญของปัญหาการทุจริต หากพยานหรือประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากคดีทุจริตหรือผู้แจ้งเบาะแสเกิดความกลัวไม่กล้าออกมาร้องเรียน จะทำให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตและการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษยากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 63 จึงได้บัญญัติให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริต และรัฐจะต้องจัดให้มีมาตรการในการคุ้มครองประชาชนผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตด้วย ในขณะที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 131 และมาตรา 133 ได้บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการทุจริต รวมตลอดถึงการให้ความคุ้มครองการปฏิบัติงาน
ในหน้าที่แก่เจ้าพนักงานของรัฐที่ได้ให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย โดยมีการออกระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน พ.ศ. 2562 ไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมีรายละเอียดหลักเกณฑ์แนวทางการร้องขอรับการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ดังนี้
1. บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอและได้รับการคุ้มครองพยาน
ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแส รวมถึงคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานหรือบุคคลที่อื่นใดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับผู้ร้องขอด้วย
2. ขั้นตอนการร้องขอคุ้มครองพยาน
การยื่นคำร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ผู้ร้องขอสามารถกระทำได้ ดังต่อไปนี้
1) ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานด้วยตนเองต่อสำนักงาน ป.ป.ช. (ส่วนกลาง) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด ทั่วประเทศ ตามแบบที่สำนักงานกำหนด หรือ
2) ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองช่วยเหลือพยานและให้หน่วยงานดังกล่าว ประสานการปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือพยานกับสำนักงาน
3) ในกรณีเร่งด่วนหากพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสไม่สามารถมายื่นคำร้องได้ด้วยตนเอง ให้ทำเป็นหนังสือ หรือจดหมาย หรือทางเครื่องมือสื่อสารอื่น ได้แก่ โทรศัพท์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน โดยต้องระบุชื่อ สกุล และที่อยู่ของผู้ร้องขอ ตลอดจนพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องขออาจไม่ได้รับความปลอดภัย และต้องลงลายมือชื่อ หรือระบุชื่อผู้พยานหรือผู้แจ้งเบาะแสแล้วแต่กรณี
3. วิธีการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน
1) จัดพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มครอง ณ ที่พักอาศัยหรือสถานที่ที่พยานหรือผู้แจ้งเบาะแสร้องขอ
2) จัดให้พยานอยู่หรือพักอาศัยในสถานที่ที่สำนักงานกำหนด
3) จัดให้มีมาตรการปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถ
ระบุตัวพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสได้
4) จัดให้มีการติดต่อ สอบถามความเป็นอยู่หรือตรวจสถานที่ที่อยู่หรือพักอาศัยอย่างสม่ำเสมอ
5) แจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือหน่วยงานอื่น ดำเนินการให้การคุ้มครองความปลอดภัย
6) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ
ในกรณีพยานที่ขอให้การคุ้มครองช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง ประสงค์ให้คุ้มครองการปฏิบัติงานในหน้าที่ รวมถึงระดับตำแหน่งในการปฏิบัติงาน ให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเพื่อจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือพยานดังกล่าวตามสมควรด้วย
4. การสิ้นสุดการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน
1) พยานถึงแก่ความตาย
2) พยานร้องขอให้ยุติการคุ้มครองช่วยเหลือหรือขอเพิกถอนความยินยอม
3) พยานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
โดยไม่มีเหตุอันสมควร
4) พฤติการณ์แห่งความไม่ปลอดภัยของพยานเปลี่ยนแปลงไป และกรณีไม่มีความจำเป็นจะต้องให้ความคุ้มครองอีกต่อไป
5) พยานไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่มาให้ถ้อยคำเป็นพยานโดยไม่มีเหตุสมควร หรือไม่ไปเบิกความ หรือไปเบิกความแต่ไม่เป็นไปตามที่ให้การหรือให้ถ้อยคำไว้ หรือไปเบิกความเป็นพยานแต่ไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาหรือเป็นปฏิปักษ์
6) เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ได้รับแจ้งจากหน่วยงานอื่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งให้ดำเนินการคุ้มครองช่วยเหลือพยานว่า การคุ้มครองช่วยเหลือพยาน สิ้นสุดลง เนื่องจากปรากฏเหตุตามข้อ 1) – 4)
7) คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรให้การคุ้มครองช่วยเหลือพยานสิ้นสุดลง ค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน และค่าทดแทน พยานหรือผู้แจ้งเบาะแสที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้การคุ้มครอง จะได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ สิทธิที่จะได้รับค่าอาหารเครื่องดื่ม ค่าเลี้ยงชีพที่สมควรอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์ทำมาหากินได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นสำหรับการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน นอกจากนั้นยังมีสิทธิได้รับค่าทดแทนในกรณีเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของพยาน เพราะเหตุมีการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาอันเนื่องมาจากการที่พยานหรือผู้แจ้งเบาะแสจะมาหรือได้มาเป็นพยานเพื่อให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือในชั้นพิจารณาของศาล โดยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายและค่าทดแทนในการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน ให้เบิกจ่ายในอัตราที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด หรือตามที่ทางราชการกำหนดไว้ เป็นต้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ตระหนักและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองช่วยเหลือบุคคลซึ่งเป็นพยาน ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแส รวมถึงคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานหรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคคลดังกล่าวให้กล้าที่จะออกมาให้ความร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นผลให้ปัญหาการทุจริตในภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมาตรฐานความโปร่งใสหรือยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตให้สูงขึ้นเทียบเท่าในระดับสากลต่อไป