เลือดข้นคน‘แซ่คู’ สู่ ‘ชินวัตร’ 5 รุ่น 3 เจนสืบต่อมรดก‘การเมือง’

เลือดข้นคน‘แซ่คู’ สู่ ‘ชินวัตร’ 5 รุ่น 3 เจนสืบต่อมรดก‘การเมือง’

ตระกูลชินวัตร 5 รุ่นสาย“เลิศ ชินวัตร”เป็นสายที่สืบทอดมรดกทางการเมืองมากที่สุด "ชินวัตร" รุ่นที่ 4 สาย "เลิศ" มีลูกๆ ประสบความสำเร็จทางการเมือง มีนายกรัฐมนตรี 2 คน (ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และมีลูกเขย (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

KEY

POINTS

  • ต้นตระกูล “ชินวัตร” มีจุดกำเนิดในประเทศไทย โดยมี “เส็ง แซ่คู” หรือ “คูชุ่นเส็ง” ที่อพยพมาจากจีน มายัง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
  • “เชียง แซ่คู” (ปู่ทักษิณ ชินวัตร) ตระกูลชินวัตร รุ่นที่ 2 เปลี่ยนมาใช้นามสกุล “ชินวัตร” เมื่อปี 2481
  • "ชินวัตร" รุ่นที่ 3 เริ่มเข้าสูู่เส้นทางการเมือง  มี "เลิศ ชินวัตร" (พ่อของทักษิณ) เคยเป็น สส.เชียงใหม่ ในรุ่นนี้มี “สุเจตน์ ชินวัตร” อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ และ “สุรพันธ์ ชินวัตร” เป็นอดีต สส.เชียงใหม่ หลายสมัย และอดีต รมช.คมนาคม
  • "ชินวัตร" รุ่นที่ 4 สาย "เลิศ" มีลูกๆ ประสบความสำเร็จทางการเมือง มีนายกรัฐมนตรี 2 คน (ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และมีลูกเขย (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย 
  • "ชินวัตร" รุ่นที่ 5 รุ่นหลานของ "เลิศ ชินวัตร" ยังคงสืบทอดเส้นทางการเมืองจากรุ่นปู่และรุ่นพ่อ มี "แพทองธาร ชินวัตร" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย
  • ตระกูลชินวัตร 5 รุ่นสาย “เลิศ ชินวัตร” เป็นสายที่สืบทอดมรดกทางการเมืองมากที่สุด 
  • 14 มี.ค.-16 มี.ค. 2567 “ทักษิณ” จะร่วมทำบุญและเคารพสถูปบรรจุอัฐิบรรพบุรุษตระกูลชินวัตร ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นครั้งแรกที่ "ทักษิณ" จะได้เคารพกู่ “พี่เยาวลักษณ์" เป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ นาทีรวมญาติคนตระกูลชินวัตร ขาดเพียง "ยิ่งลักษณ์"

ต้นตระกูล “ชินวัตร” มีจุดกำเนิดในประเทศไทย โดยมี “เส็ง แซ่คู” หรือ “คูชุ่นเส็ง” ที่อพยพมาจากจีน (ในขณะนั้น) มายัง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ก่อนจะย้ายมาตั้งรกรากที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2454

“เส็ง แซ่คู” สมรสกับหญิงไทย ชื่อ “ทองดี” มีลูกชายคนโตชื่อ “เชียง แซ่คู” ซึ่งเป็นแกนหลักของตระกูล “แซ่คู” อีกทั้งยังเป็นปู่ของนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยถึง 2 คน

“เชียง แซ่คู” เปลี่ยนมาใช้นามสกุล “ชินวัตร” เมื่อปี 2481 ดังนั้น “ชินวัตร” รุ่นที่ 2 คือ “เชียง แซ่คู” หรือ “เชียง ชินวัตร”

“เชียง” ได้แต่งงานกับ “แสง สมณะ” ให้กำเนิดลูกๆ ตระกูล “ชินวัตร” รุ่นที่ 3 รวม 12 คน

เลือดข้นคน‘แซ่คู’ สู่ ‘ชินวัตร’ 5 รุ่น 3 เจนสืบต่อมรดก‘การเมือง’

รุ่น 3 จุดเริ่มต้นการเมือง

ครอบครัว “ชินวัตร” รุ่นที่ 3 เป็นดีเอ็นเอรุ่นแรก ที่เริ่มสนใจอาชีพนักการเมือง ช่วงที่ตระกูลชินวัตรเริ่มเข้าสู่การเมือง เป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจทหาร จอมพลถนอม กิตติขจร

 “เลิศ ชินวัตร” บิดาของ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” 2 พี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรี เคยผ่านการเป็น สส.เชียงใหม่ สมัยแรกเมื่อปี 2512 สมรสกับ ยินดี ระมิงวงศ์ มีลูกชายลูกสาวรวม 9 คน

ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ยังมี “สุเจตน์ ชินวัตร” อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ และ “สุรพันธ์ ชินวัตร” เป็นอดีต สส.เชียงใหม่ หลายสมัย และอดีต รมช.คมนาคม

 “สุเจตน์” และ “สุรพันธ์” คือพี่น้องร่วมสายเลือด “ชินวัตร” เจน 3 กับ “เลิศ ชินวัตร”

 

ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ “เลิศ ชินวัตร” ได้ระบุถึงประวัติของเขาไว้ตอนหนึ่งว่า “นายเลิศ ชินวัตร เป็นลูกหลานรุ่นที่ 3 ของ ตระกูลชินวัตร ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งในไม่กี่ตระกูลใน จ.เชียงใหม่ ที่ก่อร่างสร้างตัวด้วยความขยันขันแข็ง มีมานะ อดทนและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาตั้งแต่นายเส็ง ผู้เป็นต้นตระกูล”

 เลิศ หรือ “บุญเลิศ แซ่คู” เป็นลูกคนที่ 4 ของนายเชียง และนางแสง ชินวัตร เกิดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2462 ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2540 ในช่วงที่ “ทักษิณ” มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นรองนายกรัฐมนตรี

จุดกำเนิดความรักของ“เลิศ” เกิดขึ้นเมื่ออายุได้ 24 ปี ซึ่งเขาได้พบรักกับ “ยินดี ระมิงวงศ์” ซึ่งมีพื้นเพเป็นคน อ.สันทราย ขณะอายุ 20 ปี

ความรักระหว่าง “เลิศ”และ “ยินดี” ทำให้คนไทยได้พี่น้องตระกูลชินวัตร เป็นประมุขฝ่ายบริหารถึง 2 คน

อย่างไรก็ตาม “ชินวัตร” รุ่นที่ 3 พี่ชายของ “เลิศ” คือ พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์ ชินวัตร สมรสกับ ทวี (มณีเนตร) มีลูกๆ รวม 5 คน ซึ่ง 1 ในนี้มี “พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร” อดีต ผบ.ทบ.เป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกับ “ทักษิณ” รวมอยู่ด้วย

ทักษิณ ชินวัตร เลิศ

สาย“เลิศ-ยินดี”สู่ลูก 2 นายกฯ 

“ชินวัตร” รุ่นที่ 4 เป็นรุ่นที่คนไทยรู้จักกันทั่วประเทศ 2 พี่น้องนายกรัฐมนตรีไทย “ทักษิณ ชินวัตร” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งทั้งสองเป็นพี่น้องและยังเป็น “เหลน” ของ “เส็ง แซ่คู” เป็นหลานของ “เชียง แซ่คู” หรือ ลูกของ “เลิศ ชินวัตร”

สายของ “เลิศ ชินวัตร” เป็นสายเลือดที่ข้นที่สุด เพราะมีลูกๆ ถึง 5 คนที่ประสบความสำเร็จทางการเมือง

จากคำบอกเล่าคนในตระกูลชินวัตร บอกว่า จริงๆแล้ว “พ่อเลิศ-แม่ยินดี” มีลูกชายลูกสาวรวม 9 คน แม้ตามประวัติทั่วไปจะระบุว่ามี 10 คน 

โดย “ปิยะนุช ลิ้มพัฒนาชาติ” (เสียชีวิตเมื่อปี 2556) ซึ่งสมรส สง่า ลิ้มพัฒนาชาติ ไม่ได้เป็นพี่น้องสายตรงของพี่น้องร่วมสายเลือด “ทักษิณ” ในสายของ “เลิศ”และ “ยินดี”

เลือดข้นคน‘แซ่คู’ สู่ ‘ชินวัตร’ 5 รุ่น 3 เจนสืบต่อมรดก‘การเมือง’

เมื่อไล่เรียงทายาทสายตรงของ “เลิศ” และ “ยินดี” ทั้ง 9 คน มีดังนี้

1.เยาวลักษณ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) สมรสกับ พ.อ.(พิเศษ) ศุภฤกษ์ คล่องคำนวณการ มีลูกสาว 2 คน

2.ทักษิณ ชินวัตร สมรสกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มีลูกชาย-ลูกสาว รวม 3 คน คือ โอ๊ค พานทองแท้ เอม พินทองทา และ อิ๊งค์ แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

3.เยาวเรศ สมรสกับ วีระชัย วงศ์นภาจันทร์ มีลูก 3 คน (ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตนายทะเบียนพรรคไทยรักษาชาติ)

4. อุดร (ถึงแก่กรรมแล้ว) สมรสกับ “ดารารัตน์” มีลูกสาว 1 คน

5. เยาวภา สมรสกับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีลูกชายและลูกสาวรวม 3 คน (ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย)

6.พายัพ สมรสกับ พอฤทัย จันทรพันธ์ มีลูก 4 คน (ฤภพ ชินวัตร อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ)

7.มณฑาทิพย์ หรือชื่อเดิม เยาวมาลย์ สมรสกับนายแพทย์สมชัย โกวิทเจริญกุล มีลูกสาว 2 คน

8.ทัศนีย์ ชินวัตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)

9.ยิ่งลักษณ์ สมรสกับ อนุสรณ์ อมรฉัตร มีลูกชาย 1 คน

เลือดข้นคน‘แซ่คู’ สู่ ‘ชินวัตร’ 5 รุ่น 3 เจนสืบต่อมรดก‘การเมือง’

ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ชินวัตรรุ่น 4 เจน 2 สืบทอดการเมือง 

บรรดาพี่น้องชินวัตร รุ่นที่ 4 สายของ “เลิศ ชินวัตร” ลูกสาวคนโต “เยาวลักษณ์ ชินวัตร” เป็นผู้สืบทอดมรดกทางการเมืองต่อจากบิดาบังเกิดเกล้า

“เยาวลักษณ์” มีลูกสาว 2 คน คือ "ปณิตา ชินวัตร" รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ "นัทธฤทัย คล่องคำนวณการ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปสโตนดิจิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด

“เยาวลักษณ์” เป็นพี่สาวแท้ๆของ “ทักษิณ” เคยผ่านการตำแหน่งทางการเมืองเป็นเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ และเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.เชียงใหม่ เคยเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อปี 2522-2541

ต่อมา “เยาวลักษณ์” ได้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง และเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อปี 2531 ส่งผลให้เป็นอัมพาต ถัดมา 1 ปี ศาลจังหวัดชลบุรี จึงสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของ “มณฑาทิพย์” ผู้เป็นน้องสาว

ว่ากันว่า ลูกสาว 2 คนของ “เยาวลักษณ์” อายุไล่เลี่ยกับ “ยิ่งลักษณ์” อีกทั้งลูกสาวคนโต “ปณิตา” มีความคล้ายกับ“น้าปู” ยิ่งลักษณ์เป็นอย่างมาก

ด้วยวัยที่ยิ่งลักษณ์ห่างจาก “เจ๊ใหญ่” พี่สาวคนโตถึง 22 ปี และพี่สาวมักจะพาน้องสาวในวัยเด็กไปไหนมากับลูกสาว 2 คนอยู่เสมอ

และ“น้าปู” ยังอายุห่างจากหลานสาว เพียงแค่ 3 ปี ทำให้หลายคนอาจเข้าใจว่า “ยิ่งลักษณ์” เป็นลูกสาวอีกคนของ“เยาวลักษณ์”

ทักษิณ

“ทักษิณ ชินวัตร” ลูกชายคนโตของ “เลิศ-ยินดี” ประสบความสำเร็จการทำธุรกิจ จนก้าวเดินตามบิดาเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ เคยรับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2537 ภายใต้สังกัด “พรรคพลังธรรม” รวมทั้งเป็น สส.กทม. พรรคพลังธรรม

ก่อนจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม และมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก่อนตัดสินใจรวบรวมแกนนำพรรคพลังธรรมบางส่วน เข้าร่วมก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” เป็นของตัวเอง และได้ชนะในการเลือกตั้งถล่มทลาย “ทักษิณ”ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และนายกฯ คนแรกของตระกูล“ชินวัตร”ในที่สุด

ส่วน “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” (เจ๊แดง) น้องสาวของ “ทักษิณ” ก็เล่นการเมืองตามรอยพี่ชายและบิดา ผ่านการเป็น สส.เชียงใหม่ ครั้งแรก

เมื่อปี 2544 ต่อมาได้รับการเลือกตั้ง ปี 2548 เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย พร้อมทั้งถูกยกให้เป็น “ครูใหญ่” ผู้มีบารมีของ สส.โซนภาคเหนือของ “เพื่อไทย”

ขณะที่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” สามีเคยผ่านการเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน สส.สัดส่วน ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 26 โดยถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า เป็นนายกฯ ที่ไม่ได้ก้าวเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาลแม้แต่วันเดียว เพราะช่วงรับตำแหน่งปี 2551 ทำเนียบฯ ได้ถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมยึดไว้อยู่หลายเดือน

“เยาวภา” มีลูกชายและลูกสาวรวม 3 คน คือ ยศธนัน (เชน) ชินณิชา (เชียร์) กับชยาภา (เชอรี่)

“ชินวัตร” รุ่นที่ 4 อีกคนที่เล่นการเมืองคือ “พายัพ ชินวัตร” ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.เชียงใหม่ พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2548 รวมทั้งเคยเป็นแกนนำภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย

“พายัพ” มีลูกชาย 4 คน ประกอบด้วย ฤภพ ชินวัตร พิรุณ ชินวัตร  พอพงษ์ ชินวัตร  พีรพัฒน์ ชินวัตร

“ดีเอ็นเอ”ทางการเมืองอีกคนที่พีคที่สุด คือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวคนเล็กของ “ทักษิณ”

ว่ากันว่า เป็นดีเอ็นเอที่หลอมรวมกันระหว่าง “เยาวลักษณ์” และ “ทักษิณ” อย่างลงตัว 

“ยิ่งลักษณ์” ใช้เวลาเพียง 49 วัน เปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2554 ก่อนประสบความสำเร็จเดินตามรอยพี่ชายที่เปรียบเสมือนเป็นพ่อคนที่ 2 ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ และเป็นนายกฯ คนที่ 28

เลือดข้นคน‘แซ่คู’ สู่ ‘ชินวัตร’ 5 รุ่น 3 เจนสืบต่อมรดก‘การเมือง’ เลือดข้นคน‘แซ่คู’ สู่ ‘ชินวัตร’ 5 รุ่น 3 เจนสืบต่อมรดก‘การเมือง’

ชินวัตรรุ่น 5 เจน 3 ดีเอ็นเอ“ทักษิณ” 

“ชินวัตร” รุ่นที่ 5 หรือ “ชินวัตร” ดีเอ็นเอทางการเมือง รุ่นที่ 3 เป็นรุ่นหลานของ “ปู่เลิศ” รุ่นนี้มีดีเอ็นเอทางการเมืองที่สืบทอดจาก “ปู่เลิศ”

เริ่มที่สายของ “ทักษิณ ชินวัตร” มี “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลูกสาวคนเล็ก ที่เป็นถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ปัจจุบันมีตำแหน่งรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

พจมาน ทักษิณ ส่วน “พานทองแท้ ชินวัตร” ลูกชายคนโต ไม่เปิดหน้าลงเล่นการเมือง แต่เป็นที่รับรู้ว่า “โอ๊ค” ก็มีส่วนสำคัญอยู่เบื้องหลังในการจัดทัพผู้สมัคร สส.พรรคเพื่อไทย ลงสู้ศึกเลือกตั้ง เพราะเคยได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2566

ขณะที่ “เอม” พินทองทา คุณากรวงศ์ ชินวัตร ลูกสาวคนโต ไม่ประสงค์จะเล่นการเมือง เพราะต้องการบริหารธุรกิจในเครือเอสซีเป็นหลัก

เขยชินวัตร ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) สามีของ “พินทองทา” ถูกมองเป็นอีกชื่อหนึ่ง หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับคนในตระกูลชินวัตร รุ่นที่ 5 ไฟลต์บังคับของ “ทักษิณ” อาจเลือก “ณัฐพงศ์” มาขัดตาทัพ

“ผมไม่ได้เป็นแม้กระทั่งสมาชิกพรรคเพื่อไทยเลยนะครับ และวันนี้ผมเป็นซีอีโอ เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชันอยู่ ก็โฟกัสสิ่งที่ทำตอนนี้ให้ดีที่สุด” ณัฐพงศ์ เคยตอบคำถามสื่อเมื่อปี 2564

แพทองธาร พานทองแท้ ลูกหลานชินวัตรที่เล่นการเมือง ยังมีสายของ “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” มี “เชียร์” ชินณิชา ลูกสาว ซึ่งเคยเป็น สส.เชียงใหม่ 2 สมัย

สำหรับ “ชินณิชา” เคยเป็น สส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เวลาต่อมาได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้พ้น สส. จากกรณีแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ เมื่อปี 2555

ขณะที่ “เยาวเรศ ชินวัตร”อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ คนที่ 20 น้องสาว “ทักษิณ” และพี่สาวของ “ยิ่งลักษณ์” มีลูกรวม 3 คน แซน “ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” ซัน “รัตนพล วงศ์นภาจันทร์” และ ซูน “ธนวัต วงศ์นภาจันทร์”

มีเพียง แซน “ชยิกา” เพียงคนเดียว ที่เข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยเริ่มเข้ามาทำงานอยู่เบื้องหลัง เกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย และคณะทำงานด้านต่างประเทศให้กับ “น้าปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งเป็นนายกฯ

ปี 2561 “ชยิกา” ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) มีตำแหน่งเป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค ต่อมาพรรค ทษช.ได้ถูกยุบพรรคจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ทำให้ “ชยิกา” ถูกตัดสิทธิลงเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบัน “แซน ชยิกา” เป็นคณะที่ปรึกษาของ รมว.การต่างประเทศ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

สายของ “พายัพ ชินวัตร” มี ไนท์ “ฤภพ” ลูกชายคนโตเคยลงเล่นการเมือง เป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ต่อมาถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี จากคำวินิจฉัยยุบพรรค ทษช.

แพทองธาร  ทักษิณ

วันที่ 14 มี.ค.-16 มี.ค. 2567 “ทักษิณ” จะร่วมทำบุญและเคารพสถูปบรรจุอัฐิบรรพบุรุษตระกูลชินวัตร ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 

เป็นครั้งแรกที่ "ทักษิณ" จะได้เคารพกู่ “พี่เยาวลักษณ์" ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ นาทีรวมญาติคนตระกูลชินวัตร สายเลือด "แซ่คู" ในสาย "ทักษิณ" ที่ขาดเพียง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เท่านั้น

ไล่เรียงคนแซ่คู หรือตระกูลชินวัตร 5 รุ่น จะพบว่าสาย“เลิศ ชินวัตร”เป็นสายที่สืบทอดมรดกทางการเมืองมากที่สุด จากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อ มาถึงรุ่นลูกหลาน ที่ยังสานต่องานการเมือง อย่างไม่สิ้นสุด