เปลี่ยนขุนคลัง เร่งเกมปรับ ครม. จับตา‘พิชัย ชุณหวชิร’ตัวเต็ง
จังหวะการปรับ ครม.ในรอบแรกนี้ แม้โฟกัสหลักจะอยู่ที่การเปลี่ยนตัว “ขุนคลัง” และยังมีอีก 2 ตำแหน่งที่ว่างอยู่ จึงคาดหมายกันว่าศูนย์กลางอำนาจของพรรคเพื่อไทย อาจขยับสับเปลี่ยน เพื่อวางสมการการเมืองกันใหม่ จากสัญญาณการเข้าออกบ้านจันทร์ส่องหล้าคึกคักอย่างไม่ขาดสาย
KEY POINTS :
- เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เตรียมสละเก้าอี้ "ขุนคลัง" เนื่องจากไม่มีเวลามากพอจะไปบริหารงานกระทรวง ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล
- แม้จะมีตัวเต็งหลายคนรอเสียบ แต่ล่าสุดชื่อของ “พิชัย ชุณหวชิร” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธาน ตลท. มาแรงกว่าใคร โดยมีสัมพันธ์ที่ดีกับ ครอบครัวชินวัตร
- จังหวะการเปลี่ยนตัว รมว.คลัง จะทำให้เกิดแรงสะเทือนกระทบไปยัง รัฐมนตรี กระทรวงอื่น ที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยน ภายหลังมีการประเมินผลงาน
ผ่านพ้น 6 เดือน รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถึงเวลาประเมินผลงานรัฐมนตรีรายบุคคล เพื่อให้รีดศักยภาพการทำงานให้ผลิดอกออกผลรวดเร็วที่สุด
เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ต้องเผชิญโจทย์ใหญ่ในการกู้วิกฤตศรัทธาจาก “แฟนคลับ-ฐานเสียง” หลังฉีกสัญญาประชาคมจับมือกับ “พรรค 2 ลุง” จัดตั้งรัฐบาล
ทว่า โจทย์ใหญ่คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากพอในการพลิกวิกฤติให้ฟื้นกลับคืนมาได้ หากปล่อยเวลาให้ทอดยาวออกไป จะเป็น “เพื่อไทย”เอง ที่จะเสียแต้มการเมือง เสียเครดิตเจ้าของพรรคที่สั่งสมมานาน
เมื่อเดิมพันใหญ่อยู่ที่ปม “เศรษฐกิจ” แต่รัฐบาลกลับไม่มีทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาระดมสมอง วางแผนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอย่างมีระบบ การทำงานในช่วงที่ผ่านมา จึงแยกกันทำ แยกกันเดิน จนไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน ประมุขฝ่ายบริหารที่ผ่านมามักจะไม่นั่งควบคลัง เพราะเป็นกระทรวงสำคัญในการบริหารจัดการงบประมาณ และขับเคลื่อนประเทศในเชิงยุทธศาสตร์ แต่มักเลือกใช้บริการ “คนไว้ใจ” ให้มาเป็นเสมือนมือขวา
ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นายกฯศรษฐา ซึ่งควบเก้าอี้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เข้ากระทรวงเพื่อทำงานในฐานะ รมว.คลัง เพียง 3 ครั้ง แม้จะมอบหมายงานให้ “2 รัฐมนตรีช่วย” แต่งานหลายอย่างต้องผ่าน “รัฐมนตรีว่าการ” จึงทำให้งานกระทรวงคลังติดขัดอยู่พอสมควร
อย่างไรก็ตาม “เศรษฐา” รู้แล้วว่าการควบขุนคลังทำให้เกิดปัญหาในเชิงบริหาร จึงเตรียมถอย สละเก้าอี้ รมว.คลัง เปิดทางให้มี “ขุนคลัง” คนใหม่เข้ามาแทน โดยมีกระแสข่าวว่าเจ้าตัวอยากเลือก “มือขวา” ด้วยตัวเอง
เนื่องจากต้องการหามือทำงานที่ตอบสนองนโยบายด้านเศรษฐกิจของ “เพื่อไทย” โดยเฉพาะนโยบายแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งยังติดหล่ม-ติดเงื่อนไขของ กกต.และ ป.ป.ช. ทำให้รัฐบาลไม่กล้าเสี่ยงเดินหน้า พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
นโยบายดังกล่าวกระทรวงการคลัง ต้องเป็นหัวขบวนคิดวิธีดำเนินการให้ได้ ลำพังตัว “เศรษฐา” รู้ดีว่าหากดันทุรัง อาจจะจบไม่สวย เพราะมีบทเรียนในอดีตหลอกหลอนมาหลายครั้ง จึงจำเป็นต้องใช้มี “คนใจกล้า” มารับเผือกร้อนแทน เพื่อกันตัวเองออกไปอยู่เซฟโซน
นอกจากนี้ ยังมีภารกิจผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 นโยบายเงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570 รวมทั้งข้าราชการด้วย
รวมถึงนโยบายทุกครอบครัวมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน เพื่อลดช่องว่างรายได้ หากรายได้ของครัวเรือนต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จะได้รับการเติมให้ครบ 20,000 บาทต่อเดือน จนกระทั่งครอบครัวมีรายได้เพียงพอ
นโยบายเหล่านี้อยู่ในลิสต์ที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” ต้องทำให้สำเร็จภายในเวลาที่เหลืออยู่ แต่จะเริ่มคิกออฟจริงจังในช่วงเวลาใดต้องดูสัญญาณผู้มีอำนาจที่คอยบัญชาการ
นอกจากนี้ นายกฯเศรษฐายังมีปมฟาดฟันกับ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีที่รัฐบาลต้องการให้ลดดอกเบี้ย แต่แนวทางของ เศรษฐพุฒิ-ธปท. ต้องการให้คงดอกเบี้ยเอาไว้ก่อน เพื่อรอประเมินเศรษฐกิจโลก
โดย “เศรษฐา” ลงไปชักธงรบกับ “เศรษฐพุฒิ” ด้วยตัวเอง ลงแรงเปิดหน้าเจรจา แต่สุดท้ายต้องยอมถอยปัญหาเหล่านี้ หากจะมี “มือเศรษฐกิจ” ลงไปช่วยลดแรงปะทะ อาจทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีกว่านี้
เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทยยังไม่มีความคืบหน้า นโยบายของพรรคก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมแม้แต่เรื่องเดียว ฉะนั้นการเปลี่ยนตัว “ขุนคลัง” จึงมีความจำเป็น
ล่าสุด มีชื่อ “พิชัย ชุณหวชิร” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถูกโยนออกมา
ว่ากันว่า ได้รับการผลักดันจาก “เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า-นายหญิงแดนไกล” ให้เข้ามาช่วยงานกระทรวงการคลังจริงจังมากขึ้น หลังเข้ามาร่วมทีมที่ปรึกษานายกฯ เมื่อ ก.ย.ปีที่แล้ว
"พิชัย ชุณหวชิร" ไม่ใช่คนอื่นคนไกลของ “ชินวัตร-เพื่อไทย” เคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นยุคที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นบริษัทมหาชน
ว่ากันว่า “พิชัย” อยู่ฉากหลังทีมงานของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.พลังงาน (2546-2548) ในการช่วยแปรรูป ปตท.
ที่สำคัญหลังการรัฐประหารในปี 2557 “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ปรากฎชื่อ “พิชัย ชุณหวชิร” เป็น 1 ใน 11 พยาน ช่วยชี้แจงข้อมูลตัวเลขหักล้างข้อมูลของ ป.ป.ช.
ขณะเดียวกัน 3 ปมร้อนในมือ “พิชัย” ในฐานะประธาน ตลท. ซึ่งต้องพิสูจน์ฝีมือตัวเองเช่นกัน ประกอบด้วย
1. Fund Flow หายมูลค่าซื้อขายต่ำ - นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างหนัก ขณะที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ในระดับต่ำและเบาบางลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับอดีต
2. หุ้นร้อนบั่นทอนความเชื่อมั่น เป็นปัญหาที่รอแก้ไข จากช่องโหว่การทุจริตในตลาดทุน ของหุ้น MORE หรือ STARK ที่ร่วมกันตกแต่งบัญชี สร้างทั้งออเดอร์เทียม ลูกหนี้ปลอม แต่เอาผิดใครไม่ได้กัดกินตลาดหุ้น
3. โรบอตเทรดเอาเปรียบรายย่อย (Naked Short) ไม่กระจ่าง การใช้โรบอตเทรด โดยเฉพาะระบบ High Frequency Trading (HFT) การส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง เป็นที่น่ากังวลว่าจะเข้ามาช่วงชิงความได้เปรียบนักลงทุนรายย่อยหรือไม่ ขณะที่การทำ “Naked Short Selling” ยังเป็นที่ถกเถียงว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ทำไมไม่มีการแก้ไข กลุ่ม NVDR หัวดำสร้างราคา ต้องสร้างความกระจ่างให้แก่นักลงทุน
จังหวะการปรับ ครม.ในรอบแรกนี้ แม้โฟกัสหลักจะอยู่ที่การเปลี่ยนตัว “ขุนคลัง” และยังมีอีก 2 ตำแหน่งที่ว่างอยู่ จึงคาดหมายกันว่าศูนย์กลางอำนาจของพรรคเพื่อไทย อาจขยับสับเปลี่ยน เพื่อวางสมการการเมืองกันใหม่ จากสัญญาณการเข้าออกบ้านจันทร์ส่องหล้าคึกคักอย่างไม่ขาดสาย