‘พญาเหยียบเมือง’ ล้างอาถรรพ์ ? ศึกอบจ.เดิมพันบ้านใหญ่‘ศรีสะเกษ’

‘พญาเหยียบเมือง’ ล้างอาถรรพ์ ?  ศึกอบจ.เดิมพันบ้านใหญ่‘ศรีสะเกษ’

จับสัญญาณของ “ค่ายสีน้ำเงิน” ผ่านสนาม “นายกอบจ.” และ "ส.อบจ."ทั่วประเทศ สมรภูมิศรีสะเกษ ดินแดนอีสานใต้ แห่งนี้เก้าอี้ “นายกอบจ.” ถูกผูกขาดโดยนายกที่ชื่อ “วิชิต ไตรสรณกุล” มายาวนานถึง 6 สมัย กินเวลากว่า 20 ปี

KEY

POINTS

  • สัญญาณ “ค่ายสีน้ำเงิน” ก่อนไปถึงการเมืองสนามใหญ่ ต้องจับตาไปที่สนาม “นายก อบจ.” และ "ส.อบจ."ทั่วประเทศ ในช่วงต้นปีหน้า
  • สนามศรีสะเกษ ดินแดนอีสานใต้เก้าอี้ “นายกอบจ.” ถูกผูกขาดโดย “วิชิต ไตรสรณกุล” มายาวนานถึง 6 สมัย กินเวลากว่า 20 ปี
  • จับตาปฏิบัติการ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” เดิมพันบ้านใหญ่ฝ่าอาถรรพ์แดง-ส้ม รักษาแชมป์?

ศึกชิงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) รวมถึงสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.) ทั่วประเทศ แทนชุดปัจจุบันซึ่งจะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 20 ธ.ค.2567 และการเลือกตั้ง น่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568

ทว่า ระยะเวลาอีกราว 8 เดือนข้างหน้า กลับปรากฎว่าฝุ่นควันการเมืองสนามท้องถิ่นเวลานี้กลับเริ่มตลบ เมื่อมีสัญญาณจากบรรดา “ซุ้มการเมือง” เปิดหน้าชักธงรบ คึกคักไม่แพ้การเมืองสนามใหญ่

โดยเฉพาะดินแดนอีสานใต้อย่าง “ศรีสะเกษ” ที่เริ่มเห็นสัญญาณจากเจ้าถิ่น “ค่ายสีน้ำเงิน” 

วันก่อน  “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะแม่ทัพสีน้ำเงิน ขนรัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทย รวมถึง สส.และอดีต สส. ลงพื้นที่ศรีสะเกษ เปิดปฏิบัติการ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” มอบนโยบายต่อหัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ช่วงหนึ่งบนเวที ยังมีการแนะนำตัว 3 ทายาทบ้านใหญ่ ทั้ง "สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ" ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ  อดีต สส.ศรีสะเกษ  "ไตรศุลี ไตรสรณกุล" เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ​ "อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ" ส.ส.ศรีสะเกษ  

‘พญาเหยียบเมือง’ ล้างอาถรรพ์ ?  ศึกอบจ.เดิมพันบ้านใหญ่‘ศรีสะเกษ’

แม้ “อนุทิน”จะชิงออกตัวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่ใช่ "ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง" ตามที่โฆษกประกาศ แต่เป็นการมารายงานตัวเจ้านาย และจะทำงานการเมืองอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เที่ยวหน้าคนที่มายืนบนเวทีนี้ ซึ่งเป็นคนศรีสะเกษ จะมากกว่านี้แน่นอน

สัญญาณของ “ค่ายสีน้ำเงิน” ก่อนไปถึงการเมืองสนามใหญ่ ต้องจับตาไปที่สนาม “นายก อบจ.” และ "ส.อบจ."ทั่วประเทศ ในช่วงต้นปีหน้า

 สนาม อบจ.ศรีสะเกษ เก้าอี้ “นายกอบจ.” ถูกผูกขาดโดย “วิชิต ไตรสรณกุล” มายาวนานถึง 6 สมัย กินเวลากว่า 20 ปี

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อปี 2563 “วิชิต” รักษาแชมป์ไว้ได้ ด้วยคะแนน 230,095 ทิ้งห่างลำดับ 2 คือ วัชระ จันทราภาณุกร ที่ได้ 33,935 คะแนน ชนิดไม่เห็นฝุ่น

ขณะที่การเลือกตั้งสนามใหญ่ ช่วงต้นปี 2566 “บ้านใหญ่ไตรสรณกุล” จากเดิมแยกเป็น 2 สาย 2 พรรค “ปิดดีล”ด้วยการผนึกกำลังบ้านใหญ่ ลงชิงตั๋วผู้แทนในนามพรรคภูมิใจไทย  ประกอบด้วย

เขต 4 อุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต สส.น้องสาววิชิต เขต 5  ธีระ ไตรสรณกุล พี่ชายวิชิต  ขณะที่“กวาง”ไตรศุลี ลูกสาววิชิต ลง สส.ปาร์ลี้ลิสต์ ลำดับที่ 9 ในนามพรรคภูมิใจไทย 

ส่วนเขตที่เหลือ ภูมิใจไทยส่งผู้สมัคร โดยโฟกัสไปที่กลุ่มทายาทบ้านใหญ่ รวมถึงอดีต สส. และอดีตผู้สมัครที่ลงล้างตา 

ไม่ว่าจะเป็น เขต 1 สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต สส. ลูกชายฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองศรีสะเกษ และเป็นหลานชาย มานะพันธ์ อังคสกุลเกียรติ รองนายก อบจ. ลงรักษาแชมป์ 

เขต3 ธนา กิจไพบูลย์ชัย อดีตผู้สมัครลงล้างตา และ เขต 8 อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ อดีต สส.ลูกชายมงคลพัฒน์ สรรณ์ไตรภพ นักธุรกิจใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย ลงรักษาแชมป์ 

‘พญาเหยียบเมือง’ ล้างอาถรรพ์ ?  ศึกอบจ.เดิมพันบ้านใหญ่‘ศรีสะเกษ’

 การเลือกตั้งเวลานั้น เกิดเกม “บู๊ห้ำหั่น” ระหว่างเพื่อไทย เปิดเกม “ไล่หนู ตีงู” ไม่ต่างจากภูมิใจไทยที่ใช้กลยุทธ  “เสาเข็มพลังหนู” เข้าสู้ 

ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า สนามอีสานใต้แห่งนี้ ถูกปกคลุมด้วยสีแดง ถึง 7 เขต จากทั้งหมด 9 เขต ขณะที่ค่ายสีน้ำเงิน มีเพียง

 เขต 3 "ธนา"ที่ล้างตาจนสามารถตีตั๋วผู้แทนเป็น สส.สมัยแรกได้สำเร็จ ขณะที่อีกเขต เขต 8 อาสพลธ์ สามารถรักษาแชมป์ได้สำเร็จ เช่นเดียวกัน 

ขณะที่เขตอื่นที่เหลือ สิริพงศ์ ได้รับการปลอบใจด้วยตำแหน่งผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ ขณะที่ “กวาง”ไตรศุลี ที่แม้จะอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับเซฟโซน แต่ก็ยังพลาดเป้า ได้รับการปลอบใจด้วยตำแหน่ง เลขานุการ รมว.มหาดไทย

กระทั่งต่อมา เกิดเกมพลิกขั้ว “เพื่อไทย”และ“ภูมิใจไทย” จับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ปิดตำนาน"ไล่หนู ตีงู" ในท้ายที่สุด 

ชอตต่อไป ย่อมต้องจับตาศึกเลือกตั้งเลือกตั้ง นายก อบจ.ว่า ฝั่ง“วิชิต”นายก อบจ.ผูกขาด มากว่า 20 ปี  เวลานี้มีทายาท 2 คน ที่เล่นการเมืองคือ “กวาง” ไตรศุลี และ ชิตพล ไตรสรณกุล ส.อบจ.ศรีสะเกษ เขต อ.กันทรลักษ์

แน่นอนว่า รอบนี้บ้านใหญ่ “ไตรสรณกุล” ถือเดิมพันสูงลิบ ทั้งการล้างอาถรรพ์จากการเมืองสนามใหญ่ บวกรักษาแชมป์การเมืองสนามท้องถิ่น เป็นสมัยที่ 7 

ขณะที่ “ค่ายเพื่อไทย” แม้เวลานี้จะอยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกับภูมิใจไทย แต่ในสนามท้องถิ่น ไม่มีฝ่ายใดยอมให้กัน 

โดยเฉพาะฐานเสียงสนามใหญ่เลือกตั้งครั้งล่าสุด เพื่อไทยมีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้ง 9 เขต ตุนไว้ในมือ จึงถือเป็นอีกหนึ่งเดิมพันที่มีลุ้น

ทว่า โจทย์ใหญ่ที่ประมาทไม่ได้ ทั้งภูมิใจไทย เพื่อไทย นั่นคือกระแส “พรรคส้ม” ที่เวลานี้กราฟยังขาขึ้นไม่หยุด