ประธาน กกต. ยันชงศาล รธน. 'ยุบพรรคก้าวไกล' ยึดกฎหมาย ไร้ใบสั่ง
'ประธาน กกต.' ยืนยันชงศาล รธน. 'ยุบพรรคก้าวไกล' ยึดหลักกฎหมาย ไร้ใบสั่ง ชี้โทษหนัก ตัดสิทธิทางการเมือง กก.บห. 10 ปี ส่วนคำร้องยุบ 'ภูมิใจไทย' อยู่ในมือนายทะเบียนพรรค กำลังพิจารณาอยู่
เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประธาน กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุม กกต. มีมติส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณา ยุบพรรคก้าวไกล ว่า วานนี้ (12 มี.ค.) ที่ประชุม กกต. ได้พิจารณาข้อเสนอแนะที่สำนักงานกกต. นำเสนอต่อที่ประชุมว่าการดำเนินการของพรรคก้าวไกล ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการ ล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ที่ประชุม กกต.มีมติ เห็นควรที่จะส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สำหรับกระบวนการพิจารณาในเรื่องนี้ที่ประชุม กกต. ได้ขอให้สำนักงาน กกต . ศึกษาวิเคราะห์รายละเอียด ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2567 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ในกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในขณะหัวดำรงแหน่งหัวพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล ใช้การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ จากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 โดยศาลสั่งให้เลิกการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การเขียนเพื่อให้มีการ ยกเลิก ม.112 และไม่ให้ แก้ ม.112
นายอิทธิพร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 92 โดยใช้คำว่าเมื่อกกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครองฯ ให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งเรื่องดังกล่าวใช้เวลาพอสมควร โดยสิ่งที่เป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง มีทั้งรายละเอียด ข้อกฎหมายข้อเท็จจริง พร้อมทั้งพยานหลักฐานและเอกสารประกอบ มีคำไต่สวนการให้ถ้อยคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยเป็นหลักฐานเพียงพอที่ทำให้ กกต.สามารถส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้
เมื่อถามว่าสังคมออนไลน์ได้ตั้งข้อสงสัยว่า กกต. รับใบสั่งจากใครหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เราทำงานมาก็ทำงานตามกฏหมาย คนที่จะสั่งให้เราปฎิบัติหน้าที่คือกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ ซึ่ง กกต. ก็เป็นองค์กรอิสระที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และนิติธรรม เพราะฉะนั้นถ้าไม่ทำตามกฏหมาย ก็ถือว่าปฏิบัติตามหน้าที่
ส่วนกรอบระยะเวลาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลนั้น นายอิทธิพร กล่าวว่าตามกระบวนการแล้ว ถ้ามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการตามคำร้องประกอบไปด้วยมติกกต. คำวินิจฉัยเอกสารอื่นๆ โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ถ้าเสร็จเสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น
ส่วนกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์แสดงความเห็นว่า โทษที่ร้ายแรงที่สุด ในเรื่องนี้คือตัดสิทธิ์ทางการเมือง กรรมการบริหารพรรค นายอิทธิพรกล่าวว่า ตามกฏหมายมาตรา 92 ถ้า กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค กกต. สามารถยื่นขอให้ศาลพิจารณายื่นถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาระยะเวลาไว้ ที่เป็นระยะเวลาคือถ้าขอให้ศาลสั่งไม่ให้ตั้งพรรคใหม่หรือขอให้ศาลสั่ง ไม่ให้เป็นกรรมการบริหารพรรคอื่น ซึ่งมีกรอบระยะเวลาว่า ศาลจะสั่งได้ไม่เกิน 10 ปี
ส่วนจะมีการดำเนินคดีอาญาด้วยหรือไม่นั้น ประธาน กกต. กล่าวว่า ต้องพิจารณาต่อไป ว่า การกระทำเช่นนั้น ฝ่าฝืนกฎหมายอื่นๆด้วยหรือไม่
เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะมีการยื่นตรวจสอบพรรคการเมืองอื่นอีกด้วยหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ถ้ามีการเสนอเรื่องพรรคการเมือง หรือผู้บริหารพรรคการเมืองพรรคใดกระทำการฝ่าฝืนกฏหมายที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การที่จะจะต้องยื่นต่อศาล กกต.ก็จะดำเนินการ ไม่ได้มีเฉพาะเจาะจงว่าเป็นพรรคใด
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องให้มีการยุบพรรคภูมิใจไทย จากกรณีรับเงินบริจาคจาก หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นายอิทธิพร กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองคือเลขาธิการ กกต. ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐาน ยังไม่ถึงขั้นที่จะสรุปความเห็นเพื่อนำเรื่องสู่เข้าที่ประชุม กกต.