เปิดท้ายขาย ‘ยุทโธปกรณ์’ ใบสั่งการเมือง กองทัพเสี่ยงคุก
จัดหมวด "ยุทโธปกรณ์" กองทัพ ขายทอดตลาด "รถถัง -เครื่องบิน -เฮลิคอปเตอร์- เรือรบ" อาวุธสงครามติดข้อกฎหมาย สัญญาจัดซื้อ ยานพาหนะขนส่งรุ่นลายครามกองเป็นสุสาน ตีค่าเป็นเศษเหล็ก ไร้เอกสารตั้นขั้ว
KEY
POINTS
- ยุทโธปกรณ์กองทัพบกที่ปลดประจำการกองเป็นพะเนินในหน่วยทหาร สั่งจำหน่ายไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่อยากไล่รื้อเอกสารเมื่อ 30ปีที่แล้ว บางส่วนสูญหาย
- สหรัฐฯ ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไทยก็จริง แต่ไม่ได้ขายเทคโนโลยี
- ยุทโธปกรณ์บางกลุ่มอยู่ในข่ายห้ามบุคคลทั่วไปครอบครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ เช่น ปืน มีด ดาบ กระสุน เสื้อเกราะ ส่วน รถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ เรือรบ
ว่ากันด้วยไอเดียของฝ่ายการเมือง ที่ฝาก “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพานิช เลขานุการ รมว.กลาโหม มาสื่อสารกับคนในกองทัพ ให้นำ “ยุทโธปกรณ์เก่า” ปลดประจำการในหน่วยทหารมาขายทอดตลาด หางบประมาณมาจัดซื้อของใหม่ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ขั้นตอนยุ่งยากกว่าที่คิด
มีเรื่องเล่ากันว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมพระธรรมนูญทหารย้ายสถานที่ตั้งจากสนามหลวงไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ศรีสมาน ดอนเมือง เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาถึง 1 ปี ตรวจสอบเอกสารหาที่มาที่ไป ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ หลังหมดสภาพการใช้งาน ให้ตรงตามเลขควบคุม ก่อนสั่งจำหน่าย และได้เงินมาประมาณ 10,000 บาท ส่วนที่หาเอกสารไม่เจอก็ต้องทำลายทิ้ง
ยิ่งเป็น “ยุทโธปกรณ์”ของกองทัพ ไม่ต้องพูดถึง เพราะจัดซื้อจัดหากันมาเมื่อ 30-40 ปี หากขออนุมัติจำหน่าย ต้องหาเอกสารต้นขั้วให้ครบทุกแผ่น ไม่ต่างกับตอนที่ได้มา
ทั้งนี้ก็เพื่อหาที่มาที่ไป ได้มาด้วยวิธีการใด เช่น แบบโครงการความช่วยเหลือทางทหารระหว่างกองทัพบก หรือ FMS หรือไม่ เพราะมีสัญญาข้อผูกมัดของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้ก็เพื่อหาที่มาที่ไป ได้มาด้วยวิธีการใด เช่น แบบโครงการความช่วยเหลือทางทหารระหว่างกองทัพบก หรือ FMS หรือไม่ เพราะมีสัญญาข้อผูกมัดของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไป
นอกจากนี้ ยุทโธปกรณ์บางกลุ่มอยู่ในข่ายห้ามบุคคลทั่วไปครอบครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ เช่น ปืน มีด ดาบ กระสุน เสื้อเกราะ ส่วน รถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ เรือรบ เป็นส่วนหนึ่งของยุทโธปกรณ์ด้านยุทธวิธี อยู่ในหมวดอาวุธสงคราม
อย่างไรก็ตาม การเปิดประมูลขายยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตาม พ.ร.บ.กระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลาง ที่อนุญาตให้ดำเนินการใด ภายใต้ระเบียบ ข้อกำหนด ที่ใช้บังคับกับทุกส่วนราชการทั่วประเทศ
โดยยุทโธปกรณ์ที่นำมาประมูลขายต่อ ส่วนใหญ่เป็นยานพาหนะส่งกำลังบำรุง รถประจำตำแหน่งผู้บังคับบัญชา รถตู้ รถบัส รถจิ๊บ เมื่อครบเวลาใช้งาน ก็เปิดประมูลเป็นล็อต ครั้ง 20-30 คัน รวมทั้งเรือขนส่งกำลังพล
บางกรณีใช้วิธีการแลกเปลี่ยน เช่น รีเทิร์นของเก่า นำของใหม่มาใช้ หรือก่อนหน้านี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเคยนำรถยนต์ จำนวน 50 คันไปแลกกับแอร์ คิดเป็นจำนวนเงินได้หลายล้านบาท
แน่นอนว่า การประมูลจัดจำหน่ายแต่ละครั้ง เอกสารต้นขั้วยุทโธปกรณ์แต่ละชนิดต้องครบถ้วน ไม่ติดสัญญาหรือข้อผูกมัดใดๆ มิฉะนั้นผู้เกี่ยวข้อง คนขออนุมัติจำหน่าย จะมีความผิดขายของหลวง มีโทษติดคุก บางกรณีต้องชดใช้ค่าเสียหาย หากการดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอน
ปัจจุบัน ยุทโธปกรณ์กองทัพบกที่ปลดประจำการมีจำนวนมากในหน่วยทหาร แต่ไม่สามารถสั่งจำหน่ายได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่อยากไล่รื้อเอกสารกองเป็นพะเนิน บางส่วนเอกสารสูญหาย เช่น รถกระบะของกองทัพบกอายุ 30 ปี จอดเป็นสุสานที่กองคลัง กรมการขนส่งทหารบก ปากเกร็ด จ.นนทบุรี แม้จะมีเอกสารครบ แต่หาผู้รับซื้อยาก ปัจจุบันรถได้เสื่อมสภาพกลายเป็นเศษเหล็ก ไม่คุ้มทุนคนซื้อ เพราะต้องขนย้ายรถเอง
ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน รถถัง ปืนใหญ่ เรือรบ หากปลดประจำการ จะนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ของแต่ละเหล่าทัพ บางส่วนทำเป็นปะการังเทียม เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใต้ทะเล เช่น ปี 2553 กองทัพบกปลดประจำการรถถังรุ่น Type 69-II จำนวน 25 คัน ที่ผลิตในประเทศจีน หลังใช้งานมา 23 ปี ได้มอบให้ นำไปทำปะการังเทียม
แหล่งข่าวกองทัพบกยอมรับว่า รถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ เรือรบ ถ้าขายก็ผิดกฎหมาย เพราะเป็นอาวุธสงคราม เป็นส่วนหนึ่งของยุทโธปกรณ์ ใช่ว่าอยู่ๆ จะเอาไปขายได้ เช่น เฮลิคอปเตอร์ หากปลดประจำการก็ต้องถอดยุทโธปกรณ์สำคัญทั้งหมดออก เราซื้อมาก็จริง แต่เราไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรื่องเทคโนโลยี เจ้าของแบรนด์เขาไม่ยอมให้เราขายให้เอกชน เช่น Black Hawk ซื้อมาจากสหรัฐอเมริกา เป็นยุทโธปกรณ์ที่อยู่ในความควบคุม เช่น หรือ เฮลิคอปเตอร์ เบลล์ หากเอาไปขายโดยไม่แจ้งสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถทำได้
“แม้เราจะซื้อยุทโธปกรณ์ แต่เราไม่มีเอกสิทธิ์ที่จะนำไปขายต่อ หรือยกให้ใครได้ เพราะในการจัดซื้อจัดหาแต่ละครั้ง มีสัญญาผูกมัด ถึงมีคำพูดที่ว่า สหรัฐฯ ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เราก็จริง แต่ไม่ได้ขายเทคโนโลยี เช่น เรือหลวงสุโขทัย ทำไมสหรัฐฯ ต้องมาดำน้ำเพื่อเอายุทโธปกรณ์ของเขาขึ้นมา นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เขาควบคุมทุกอย่าง”
"แม้แต่กรณีเฮลิคอปเตอร์ตก สหรัฐฯ ยังส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบสาเหตุการตก เพราะเป็นสัญญาระหว่างประเทศผูกมัดไปตลอด แม้ยุทโธปกรณ์จะสิ้นสภาพการใช้งาน จะเอาไปทำอะไรต้องรายงานสหรัฐฯ แม้จะรื้ออุปกรณ์สำคัญหมดสิ้นแล้ว จะขายโครงเฮลิคอปเตอร์ก็ต้องรายงานสหรัฐฯ หากอนุมัติก็ขายได้ แต่ถูกตีราคาเป็นเศษเหล็ก ปัจจุบันคนนำไปประดับร้านอาหาร แถว จ.อยุธยา หรือโคราช จ.นครราชสีมา ก็มีซากโครงเฮลิคอปเตอร์เบลล์ให้เห็น" แหล่งข่าวกองทัพบก ระบุ
อีกข้อจำกัดของการจัดจำหน่ายต้องดูแหล่งที่มาของยุทโธปกรณ์ เอกสารการจัดซื้อ ระเบียบต่างๆ คนจำหน่ายก็ไม่อยากจำหน่าย เพราะต้องไปขุดหาเอกสารในแต่ละชิ้น ซึ่งมีอายุ 30-40 ปี สร้างความยุ่งยาก และไม่มีเจ้าหน้าที่อยากทำ เช่น ซื้อมาอย่างไร งบประมาณจากอะไร ราคาเท่าไหร่ ใช้อย่างไร ตัวเลขจำนวนสิ่งของที่มีอยู่ ตรงหรือไม่ ก่อนจะทำเรื่องอนุมัติขาย
บางครั้งมีการย้ายหน่วย เอกสารก็หาย บางหน่วยก็ใช้วิธีการทุบทิ้ง หากไม่มีเอกสาร เช่น ไปหาเอกสารต้นขั้วของรถคันนี้ไม่เจอ แต่มีรถจอดอยู่ แล้วใครจะกล้าจำหน่าย เพราะไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่เช่นนั้นคนดำเนินการเสี่ยงติดคุก หรือบางครั้งอาจต้องชดใช้ นี่คือสาเหตุที่ของกองกันอยู่เป็นพะเนินกัน ในหน่วยทหาร
รถพยาบาลของโรงพยาบาลพระมงกุฎก็เช่นกัน หมดสภาพแล้วก็ไม่กล้าจำหน่าย เพราะหาเอกสารต้นขั้วไม่เจอ ไม่รู้ว่าเป็นรถบริจาค ขึ้นทะเบียนเป็นของหน่วย หรือของมูลนิธิ ส่วนใหญ่คนที่บริจาคก็เอาแต่รถมา ไม่ให้เอกสาร จึงไม่รู้ที่มาที่ไป สัญญาซื้อขายก็ไม่มี แค่ถ่ายรูปรับมอบกัน
เช่นเดียวกับรถถ่ายทอดสดของ ททบ.5 ซื้อมาในนามกองทัพบกหรือไม่ จอดทิ้งเอาไว้สั่งจำหน่ายได้หรือไม่ พอขายได้ แต่ใครจะซื้อเพราะเป็นรถรุ่นโบราณ ซื้อสมัย พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เป็น ผบ.ทบ.ก็ไม่กล้าขาย เพราะคนที่รู้เรื่อง บางส่วนเกษียณอายุราชการ บางส่วนก็ล้มหายตายจาก เหลือเพียงทหารรุ่นใหม่ ที่ไม่รู้รายละเอียดแต่ต้องมารับความเสี่ยง
ดังนั้นคนในกองทัพจึงอยากฝากเลขานุการ รมว.กลาโหม “พล.อ.ณัฐพล”ช่วยสื่อสารกับฝ่ายการเมือง อยากให้กลับไปแก้กฎหมาย ระเบียบกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางก่อน หากทำได้ การโละยุทธปกรณ์ในกองทัพ เปิดท้ายขายของ คนสั่งจำหน่ายจะได้ไม่เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง