ดับไฟใต้สไตล์เศรษฐา... ทำคนชายแดนใต้เป็นเศรษฐี

ดับไฟใต้สไตล์เศรษฐา...  ทำคนชายแดนใต้เป็นเศรษฐี

เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอนเมื่อ 12 มี.ค. ผ่านมาเพียงวันที่ 3 เจ้าหน้าที่ก็ปิดล้อมตรวจค้น และเกิดการยิงปะทะ จนกลุ่มก่อความไม่สงบเสียชีวิตไป 2 ราย ทำให้หลายฝ่ายคาดหมายว่ารอมฎอนปีนี้ น่าจะสันติยาก

แนวทางการแก้ปัญหาสไตล์ นายกฯเศรษฐา เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว หลังนั่งในตำแหน่งผู้นำประเทศและได้บริหารอย่างเต็มไม้เต็มมือมากว่า 6 เดือน ใกล้จะครบ 7 เดือน (เฉพาะตำแหน่งนายกฯ

เป็นการบริหารสไตล์ “เซลล์แมน” เน้นขายของแบบไม่มีต้นทุน เพราะยังไม่มีงบประมาณให้จับจ่ายเหมือนรัฐบาลอื่นๆ 

ตัวอย่างความสำเร็จขั้นต้นจากการเดินสายนอกประเทศ บางเรื่องเป็นข่าวในวงกว้างไปแล้ว แต่สำหรับความสำเร็จในประเทศ บางเรื่องยังไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก แต่ถูกตำหนิวิจารณ์ไปก่อนหน้านี้จมหู

โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

นายกฯเศรษฐา ใช้วิธีไม่แตะงานความมั่นคง (หมายถึงไม่ออกหน้าเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการมากนัก) เพราะอาจมองว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้รับผิดชอบเดิมทำต่อไป นั่นก็คือกองทัพ (ยังไม่มีใครมีความพร้อมและทำได้ดีกว่า) 

แต่ท่านใช้วิธีเซลล์แมนลงไป “สร้างโอกาส” นั่นก็คือการลงพื้นที่ 3 วัน 2 คืน ร่วมกิจกรรม “เที่ยวใต้ สุดใจ” ระหว่างวันที่ 27-29 ก.พ.67 โดยไปนอนในพื้นที่จริง นอนโรงแรม ไม่ได้นอนค่ายทหาร 

จากนั้นท่านก็ตระเวนไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว ทดลองชิม ทดลองใช้ ทดลองแนะนำ “ของดีชายแดนใต้” รายจังหวัด ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส จังหวัดละวัน ไม่มีจังหวัดไหนได้เปรียบเสียเปรียบกัน

ภาพที่ท่านทดลองชิม ทดลองใข้ “ของดีชายแดนใต้” เช่น เสื้อผ้าลายอัตลักษณ์พื้นที่ ระหว่างปฏิบัติภารกิจ และเมื่อกลับกรุงเทพฯไปแล้ว เดินทางไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ก็ยังนำ “ของดี” อีกหลายๆ ชิ้นไปใช้ ไปใส่ ไปถือ ไปสวมโชว์ เพื่อโปรโมตทางอ้อม ในแนว “ซอฟต์ พาวเวอร์” ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด

วันนี้ “เสื้อลายเมอนารอ” ของนราธิวาส ซึ่งท่านใส่ขณะลงพื้นที่บางนรา และกระเป๋าสานกระจูด ของ “กลุ่มกระจูดรายา” ที่ท่านนำไปหิ้วที่ฝรั่งเศส ระหว่างเยือนเมืองผู้นำแฟชั่นโลกอย่างเป็นทางการ แถมเข้าพบประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ได้รับความสนใจจากผู้คนที่ติดตามข่าวสาร ติดต่อสั่งซื้อ สั่งจองกันอย่างคีกคักท่วมท้น 

ยอดออเดอร์ ยอดขาย และยอดจอง แต่ละร้านพุ่งกว่าเท่าตัว หรือมากกว่านั้น ที่สำคัญทำให้คนไทยด้วยกันเองได้รับรู้ว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีของดีมากมายขนาดนี้ 

ผมเองเป็น “นักข่าวชายแดนใต้” ที่เคยไปรายงานข่าวจากสามจังหวัดในช่วงที่เหตุการณ์ตึงเครียดรุนแรงถึงขีดสุด ราวๆ ปี 2548-2549 และลงพื้นที่ต่อเนื่องตลอด 20 ปีมานี้ ผมยังเพิ่งรู้จัก “ของดี” เกือบทั้งหมดที่นายกฯเศรษฐาไปแวะชิม แวะชม แวะเยือน 

ผมบอกให้นักข่าวในพื้นที่รวบรวมมา นับได้มากกว่า 30 อย่าง และนำมากรองเหลือ 22 อย่าง ตรงตามเลขช่อง “เนชั่นทีวี 22” ปรากฏว่ามีท่านผู้ชมสนใจติดตามรับชมจำนวนมาก

นี่คือความสำคัญจากการบริหารงานสไตล์เซลล์แมนของท่านนายกฯ ปรากฏว่าทำให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างโอกาสได้จริงๆ 

ที่สำคัญ “ของดี” หลายๆ อย่างไม่ใช่เป็นฝีมือของปราชญ์ชาวบ้าน หรือคนทำงานในท้องถิ่นทั่วๆ ไป อย่างผ้าลายเมอนารอ จริงๆ แล้วมาจากการทอของกลุ่มเด็กกำพร้า ครอบครัวเหยื่อความรุนแรง ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส 

นี่คือการกระจายรายได้ กระจายโอกาส และกระจายความหวังมากที่สุดครั้งหนึ่งที่ผมเคยติดตามทำข่าวในพื้นที่นี้มาถึง 20 ปี

ช่วงที่ท่านนายกฯลงไปปฏิบัติภารกิจ 3 วัน 2 คืน เป็นช่วงที่กำลังมีวิวาทะระหว่างกลุ่มสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติสุข กับกลุ่มที่ทักท้วง หลังข้อตกลงเบื้องต้น ดราฟต์แรกที่เรียกว่า “JCPP” ปรากฏสู่สาธารณะ 

แม้จะยังไม่ใช่ “ข้อตกลงสันติภาพ” เป็นเพียงกรอบการทำงานร่วมกันที่มาจากการหารือกันของทั้งสองฝ่าย แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยก็มองว่า เป็นเนื้อหาที่อันตราย และสุ่มเสี่ยงเสียเปรียบ ถึงขั้นอาจเสียดินแดน หรือเสียอำนาจการปกครองได้ในอนาคต

แต่ฝ่ายที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ก็ออกมาแสดงจุดยืนแข็งขัน หากเป็นฝ่ายการเมืองในสภา ก็นำโดยพรรคก้าวไกล นอกสภานำโดยกลุ่มเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม เรียกร้องให้นายกฯเศรษฐาประกาศเจตจำนงให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับการพูดคุยสันติภาพ 

แต่ตลอด 3 วันที่ท่านลงพื้นที่ ท่านนายกฯไม่ยอมตอบคำถามนี้ และไม่พูดเรื่องนี้เลย ในท่าทีที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ไม่อยากทำลายบรรยากาศ และทำลายแผนสันติสุขแบบ “เศรษฐา” ตามที่ท่านคิดมาและทดลองทำ

ผมพาดหัวข่าวในช่วงนั้นว่า “ดับไฟใต้สไตล์เศรษฐา ทำคนชายแดนใต้ให้เป็นเศรษฐี” ซึ่งสอดรับกับคำชี้แจงของโฆษกรัฐบาลว่า แนวทางการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อกลบเสียงปืน เสียงระเบิด เป็นแนวทางที่ท่านนายกฯคิดและเชื่อ และทดทลองทำ

บรรยากาศด้านบวกเป็นไปอย่างที่ผมเล่า นักท่องเที่ยวจากจังหวัดต่างๆ หลั่งไหลกันไปที่ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่เป็น “ของดีชายแดนใต้” เรียกว่าเที่ยวและชิม-ช้อปตามรอยนายกฯ คึกคักกันแบบสุดๆ 

ส่วนกระบวนการพูดคุยเจรจาที่ท่านนายกฯไม่ได้ประกาศเจตจำนง ปรากฏว่าก้าวแรก หรือแผนที่ 1 ว่าด้วยการร่วมกันทำให้เกิดบรรยากาศ “รอมฎอนสันติสุข” ทำท่าจะล้ม เพราะมีการก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ 2 เหตุการณ์ก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน 

นั่นก็คือเหตุปาระเบิดที่ร้านคาเฟ่อเมซอน กลางวันแสกๆ ที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และเหตุปล้นรถกระบะของ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์ของน้ำอัดลมยี่ห้อดัง แล้วนำรถไปเป็นพาหนะปล้นร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างของชาวบ้านไทยพุทธอีกทีหนึ่ง 

ขณะที่ย้อนหลังกลับไป 1 เดือนก่อนรอมฎอน มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 13 ครั้ง ตาย 6 ศพ บาดเจ็บ 9 ราย

และเมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอนเมื่อ 12 มี.ค. ผ่านมาเพียงวันที่ 3 เจ้าหน้าที่ก็ปิดล้อมตรวจค้น และเกิดการยิงปะทะ จนกลุ่มก่อความไม่สงบเสียชีวิตไป 2 ราย ทำให้หลายฝ่ายคาดหมายว่ารอมฎอนปีนี้ น่าจะสันติยาก

นี่คือสถานการณ์จริงที่ยังวนอยู่ที่เดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือการที่ท่านนายกฯสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่ง และทำให้เกิดกระแสเรียกร้องจากคนที่เป็นชาวบ้านจริงๆ คนทำมาค้าขาย ประกอบอาชีพจริงๆ ในพื้นที่ว่า หยุดก่อเหตุรุนแรงกันเสียทีเถิด จะได้ทำมาหากินบ้าง จะอดตายเพราะยากจนที่สุดในประเทศไทยกันอยู่แล้ว

ผมเองยอมรับว่า แต่เดิมก็เห็นว่าท่านนายกฯให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในมิติความมั่นคงน้อยเกินไป เพราะไม่ยอมแสดงท่าทีเรื่องนี้ เรียกว่าไม่พูดถึงเลยก็ยังได้ ส่วนในภาพใหญ่ รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการ สมช.ก็ยังไม่ได้เริ่มงานจริงๆ เสียที

แต่แนวทางการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจหนนี้ ถือว่าน่าสนใจ และเปลี่ยนความคิดผมไปพอสมควร

สิ่งที่จะต้องเกิดตามมา และต้องเร่งทำให้ได้ เพื่อไม่ปล่อยให้โอกาสการ “ดับไฟใต้” หลุดลอยไปอีก นั่นก็คือการสานต่อโครงสร้างพื้นฐาน 5 ประการ เพื่อสนับสนุนการค้าขาย และการท่องเที่ยว เพราะ “ของดีชายแดนใต้” มีมากจริงๆ นั่นก็คือ 

1.เร่งโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม พวกถนน สะพาน อุโมงค์ เพื่อให้การคมนาคมขนส่งสะดวกรวดเร็ว ทั้งขนคนและขนสินค้า

2.เร่งโครงสร้างพื้นฐานแบบดิจิทัล ที่เรียกว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ ในการสนับสนุนสินค้าไทยสู่ตลาดโลก เพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ “ของดีชายแดนใต้” ตลาดและความสนใจสั่งซื้อยังจำกัดอยู่แค่ในประเทศ เนื่องจากไม่มีแพลตฟอร์มอวดโฉมและเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

การสร้าง “แพลลฟอร์มไทย” จำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน จะได้เลิกพึ่งแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งเอาเปรียบผู้ค้า ผู้ผลิต และโกยเงินออกนอกประเทศ โดยรัฐบาลควรปรับบทบาทมาเป็นผู้ควบคุมมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานสินค้า และมาตรฐานแพลตฟอร์ม

3.เร่งโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว โดยเฉพาะระบบการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรม หมดเวลาบังคับเรียนเฉพาะภาษาไทย แต่ควรสร้างช่องทางการพัฒนาภาษามลายูให้เชื่อมต่อกับโลกมุสลิม และโลกอาหรับที่มีกำลังซื้อมหาศาล 

การเรียนการสอน การสอบเรียนต่อ การสอบเข้าทำงานในบางตำแหน่งสำคัญ อาจต้องเพิ่มความรู้ความสามารถทางภาษามลายูเข้าไปด้วย โดยไม่ต้องจำกัดให้เรียนเฉพาะพี่น้องมุสลิม เพราะคนพุทธ คนไทยเชื้อสายจีนก็เรียนได้ (บางคนก็สื่อสารได้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีทักษะมากพอในระดับติดต่อธุรกิจ) 

4.สนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างจริงจัง มียุทธศาสตร์ และไม่โกง อย่าไปเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนข่าวฉาวโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” เมื่อเร็วๆ นี้ 

ผมเพิ่งได้คุยกับ ท่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรม “คุณปุ้ย” พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ทราบว่ากำลังฟื้นแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพราะมีพื้นที่นิคมอยู่แล้วที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 

ช่วยเร่งผลักดันอย่างมียุทธศาสตร์ ระดมคนเก่งมาช่วยกัน อย่าท้อหรือล้มเลิกเพราะโดนระเบิดแค่ลูกสองลูก เนื่องจากคนค้าน คนเตะตัดขาย่อมมีแน่ ไม่ใช่แค่กลุ่มโจรใต้ที่ไม่อยากให้เกิดการพัฒนา แต่คนบางกลุ่มในประเทศเพื่อนบ้านที่เสียประโยชน์ก็ต้องระมัดระวังไม่แพ้กัน 

และ 5.ทำพื้นที่ให้ปลอดภัย โดยใช้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของคนในพิ้นที่เอง ลดการใช้กำลังทหาร ตำรวจ จากภาคอื่น แต่ผลิตกองกำลังประจำถิ่นที่มีคุณภาพขึ้นมา และดูแลตัวเอง หากจะตั้งด่านบนถนนก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาคมในพื้นที่นั้นๆ ความขัดแย้งจะลดลง ความร่วมมือไม้ร่วมมือจะเกิดขึ้นแทน 

ฝากท่านนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งท่องเที่ยว พาณิชย์​ อุตสาหกรรม รวมถึงยุติธรรม และคมนาคม เดินหน้าอย่างเร่งด่วน อย่าปล่อยให้โอกาสดีๆ หลุดลอยไปอีก!