นายกฯ ตรวจติดตามการบริหารน้ำบางระกำ ‘เกณิกา‘ ย้ำรัฐบาลแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ
รองโฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ย้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ
วันนี้ (23 มีนาคม 2567) เวลา 13.30 น. ณ ประตูระบายน้ำท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือประเด็นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายบุญเหลือ บารมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกพร้อมด้วยผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
น.ส. เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีกล่าวพบปะกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับว่า จังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือตอนล่าง แต่ยังประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้ง รวมถึงปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และได้กำชับ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลกอยู่ในแผนการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของรัฐบาล ประจำปี 2568 โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน ยกระดับจากจังหวัดเมืองรองให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองหลัก ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกมีความพร้อม มีสนามบิน มีวัฒนธรรมที่ดีงาม รวมถึงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามหลายๆ สถานที่
น.ส.เกณิกา กล่าวอีกว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีได้มาดูเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้สึกยินดีที่ได้รับทราบข้อมูล รับทราบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ยืนยันรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร หากไม่มีน้ำทำการเกษตร ก็ไม่สามารถได้ผลผลิตที่ดี
ในส่วนของโครงการศึกษาความเหมาะสมในพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวาอำเภอบางบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นายกฯ ได้กล่าวถึงการลงพื้นที่วันนี้ ว่าต้องการมารับฟังข้อมูลพร้อมศึกษาความเป็นไปได้ ตนเองเข้าใจปัญหา รับทราบถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยได้สั่งการให้ดำเนินการ ดังนี้
1) ศึกษาความเป็นไปได้ ในพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวา ให้อยู่ในเขตชลประทาน
2) เสริมคันป้องกันน้ำท่วม ป้องกันตลิ่งพัง และ
3) โครงการขยายถนน 4 เลน จากบางระกำไปลานกระบือ ซึ่งอนุมัติงบแล้ว
"สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมในพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวาอำเภอบางบางระกำ กรมชลประทานจะพิจารณาดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและการพัฒนาโครงสร้างด้านการชลประทานเพื่อขยายเขตเป็นพื้นที่ชลประทาน พร้อมกับการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนหลักขอกรมชลประทานควบคู่กันไป ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 665 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ําไว้ใช้เพื่ออุปโภค-บริโภค และการเกษตร ป้องกันภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน“ น.ส.เกณิกา กล่าว