'รัฐบาล' ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.กว่า 3.5 ล้านราย ดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ไร้คนค้ำ
"โฆษกรัฐบาล" เผย รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา กยศ. ปรับโครงสร้างลูกหนี้ กว่า 3.5 ล้านราย เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี ลดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำทุกกรณี
30 มี.ค.2567นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (หนี้กยศ.) ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานของระบบการศึกษาไทย และต้องแก้ไขเร่งด่วน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ซึ่งกลุ่มลูกหนี้ กยศ. จะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับการแก้ไข
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ลูกหนี้ กยศ. ในปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้มีกว่า 3.5 ล้านราย คิดเป็นเงินมูลค่าจำนวน 454,645 ล้านบาท ในส่วนของหนี้ที่คงค้างอยู่ในขณะนี้ 5 ล้าน 3 แสนราย ผิดนัด 49% มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2547 จำนวน 5 ล้านคน โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแล และให้บูรณาการความร่วมมือกัน ซึ่ง กยศ. ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการที่รองรับกฎหมายหลายประเด็น รวมทั้งออกประกาศปรับปรุงยอดหนี้ กองทุน หลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการคืนเงิน ส่วนที่ชำระเงินที่ปรับปรุงใหม่ รวมถึงระเบียบกองทุนที่งดบังคับคดีชั่วคราว สำหรับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ได้มีมติเห็นชอบแนวทางแก้ไขหนี้ด้วยการให้คำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการปรับชำระหนี้ มีการนำยอดหนี้มาคำนวณใหม่ที่ตัดเงินต้นก่อนค่อยไปตัดดอกเบี้ย ผู้กู้ยืมบางรายสามารถปิดบัญชีได้ทันที มีการคืนเงินผู้ที่ชำระเกินหลังจากปรับเกณฑ์ นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังได้เปิดลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ทั่วประเทศตั้งแต่ 15 ก.พ. 2567 ทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.
“รัฐบาลให้ความสำคัญ และเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงปัญหาหนี้ กยศ. ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และสั่งการให้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้กู้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน รวมถึงลดกระบวนการดำเนินคดี/บังคับคดี ซึ่งกองทุนฯ จะมีเงินกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สามารถนำไปหมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา รุ่นต่อไป” นายชัย กล่าว