การทูตเชิงรุกลุยเปิดตลาดใหม่ ยุทธศาสตร์เพิ่มโอกาสเศรษฐกิจ
“ปานปรีย์” อัปเดตงาน 6 เดือนกระทรวงการต่างประเทศ ยึดแนวทาง “การทูตเชิงรุก” ดึงไทยกลับมาอยู่ในเวทีโลก สถานะไทยได้รับการยอมรับดีขึ้น ลั่น 6 เดือนข้างหน้าเร่งผลักดันการทูตที่เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ลุยเปิดตลาดใหม่แอฟริกาใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง ผลักดัน "เอฟทีเอ"
ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ แถลงที่กระทรวงการต่างประเทศ วานนี้ (1 เม.ย.) ถึงการทำงานในรอบ 6 เดือน ที่เดินทางเยือนต่างประเทศ ของรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วย โดยมีการสรุปใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
ปานปรีย์ กล่าวว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยห่างเหินไปจากจอเรดาร์โลก เสมือนว่ามีปฏิสัมพันธ์กับต่างชาติน้อยลง เป็นผลทำให้บทบาทในด้านต่างประเทศของไทยลดน้อยลง โดยเฉพาะในอาเซียนที่เคยโดดเด่นมาก่อน น้อยลงไปมาก แต่การใช้นโยบายการทูตเชิงรุกทำให้ประเทศไทยมีสถานะและได้รับการยอมรับดีขึ้น
การกลับมาสู่เวทีโลกของไทย สะท้อนจากการไปเยือนต่างประเทศจำนวนมากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และการที่ไทยต้อนรับการเดินทางเยือนระดับสูงจากหลายประเทศทั่วโลก และล่าสุด ได้ยกระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับสหราชอาณาจักร (UK) อีกทั้งที่ผ่านมายังร่วมประชุมในเวทีนานาชาติต่างๆ เช่น การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
“การทูตเชิงรุก” ดึงไทยกลับสู่เวทีโลก
ปานปรีย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยใช้การทูตสนับสนุน การเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีก็มีความหมายมาก โดยเฉพาะที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้พบปะภาคเอกชนกับบริษัทชั้นนำของโลกมากถึง 60 บริษัท ที่ชักชวนให้มาลงทุนในไทย โดยเน้นการดึงดูดด้านการลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว
นอกจากนี้ ทางกระทรวงยังผลักดันข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับหลายประเทศ อาทิ ศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เขตเศรษฐกิจ 4 ประเทศในยุโรป (เอฟตา) และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งรายหลังกำลังเร่งผลักดันเพื่อให้บรรลุได้ในกรอบปี 2568 ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ และในภารกิจ 6 เดือนหลังจากนี้ จะมุ่งเปิดตลาดใหม่ในแอฟริกาใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยให้มากขึ้นด้วย
“การทูตทันท่วงทียามวิกฤติ” ช่วยคนไทย
ปานปรีย์ กล่าวว่า ในกรณีของอิสราเอล-ปาเลสไตน์นั้น เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไทยต้องตั้งหลักในการนำตัวคนไทยกลับประเทศในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมีมากถึง 7,000 กว่าคน ซึ่งทางกระทรวงต้องดำเนินการการทูตอย่างทันท่วงทียามวิกฤติ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ปั่นป่วน ไม่รู้ว่าตัวประกันกันถูกจับไปที่ไหน แต่ทางกระทรวงก็ดำเนินการพูดคุยเจรจาขอการประสานและความช่วยเหลือจากหลายประเทศ เช่น ไปคุยกับรัฐมนตรีของกาตาร์ อียิปต์ และอิหร่าน และประสานกับอีก 2-3 ประเทศทางโทรศัพท์ หาช่องทางไปพูดคุยกับคนที่สามารถคุยกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสได้ เพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด
การดำเนินการดังกล่าวสามารถช่วยตัวประกันจำนวนมากออกมาได้ ขณะนี้ยังมีอีก 8 คนที่ยังอยู่ในกาซา สามารถยืนยันได้ว่า 3 คนยังมีชีวิต ส่วนอีก 5 คนยังไม่ทราบว่าถูกจับตัวอยู่ที่ใดเพราะกระจัดกระจายอยู่ แต่ยังมีความหวังว่าทั้ง 8 คนยังปลอดภัย นอกจากนี้ ก็ยังมีความพยายามพูดคุยผ่านสหรัฐและจีน เพื่อให้ช่วยผลักดัน แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงก็ตาม
จุดยืนสมดุลบนภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียด
รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำว่า ไทยมีท่าทีและจุดยืนทางการต่างประเทศที่สมดุลและเป็นมิตร ไม่เลือกข้าง อยู่บนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศและผลประโยชน์ของพี่น้องคนไทย ซึ่งการที่ เจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐ และ หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน มาพูดคุยกันที่ไทย ถือเป็นเรื่องที่สะท้อนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ส่วนกรณีของ “เมียนมา” นั้น ปานปรีย์กล่าวระหว่างการตอบคำถามสื่อมวลชนว่าสำหรับสถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้ การที่ไทยจะเข้าไปเป็นตัวเชื่อมหรือเป็นคนประสานงานให้เลิกขัดแย้งนั้น อาจจะยังเร็วเกินไป จึงมาศึกษาว่าใน 5 ข้อฉันทามติที่ประชาคมอาเซียน มีมติออกมาเพื่อแก้ปัญหาให้เมียนมากลับมามีสันติภาพและความสงบ มีข้อไหนที่สามารถดำเนินการไปได้ก่อน
หนึ่งในฉันทามติที่อาเซียนเห็นพ้อง คือให้มีการหยุดความรุนแรงในเมียนมา แต่ปัจจุบันก็ยังเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ แต่หนึ่งในนั้นก็มีเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งไทยเห็นว่าการช่วยเหลือประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก และทางอาเซียนก็เห็นด้วยกับการที่จะเริ่มด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก่อน
อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นในช่วงแรกยังอาจดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหากการช่วยเหลือในช่วงแรกประสบความสำเร็จ ก็จะขยายความช่วยเหลือไปยังระดับอื่นๆ ให้กว้างขึ้นต่อไป “ถ้าเมียนมาไม่สงบ ไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด” ปานปรีย์ กล่าว
“การทูตที่ประชาชนสัมผัสได้”
ปานปรีย์ กล่าวอีกว่า มีการลงพื้นที่ชายแดนหลายรอบเพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ การข้ามแดนและการค้าชายแดน โดยเฉพาะในเรื่องการส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ ซึ่งภารกิจในช่วง 6 เดือนหลังนี้ จะส่งออกแรงงานชาวไทยไปต่างประเทศให้ได้กว่า 1 แสนคน ตามเป้าหมายการขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศกว่า 1 แสนอัตราในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตอบคำถามสื่อมวลชนถึงการมีนโยบายรองรับหรือไม่ กรณีที่อิสราเอลจัดหาแรงงานจากประเทศอื่น เช่น มาลาวี ศรีลังกา และกัมพูชา เข้าไปทดแทนแรงงานไทยที่กลับประเทศไปนั้น ปานปรีย์ ระบุว่า มีแรงงานไทยบางส่วนที่ตัดสินใจกลับไปทำงานในอิสราเอลอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่แรงงานไทยจะเลือกไปทำงานที่ใดก็ได้ แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ ในกรณีของอิสราเอลนั้น มองว่าอาจเป็นการหยั่งเชิงแรงงานไทยก็เป็นได้ แต่กรณีมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาล (จีทูจี) ในเรื่องนี้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงาน
แนวทางที่กระทรวงย้ำก็คือ ขอให้แรงงานไทยไปทำงานในพื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงที่มีความขัดแย้งหรือพื้นที่ที่มีความทับซ้อนการอ้างสิทธิการปกครองกับปาเลสไตน์ เช่น พื้นที่ในเขตฉนวนกาซา ทั้งนี้ตนได้พูดคุยกับประธานาธิบดีของอิสราเอล ซึ่งทางอิสราเอลรับปากที่จะดูแลความปลอดภัยของแรงงานชาวไทยให้เต็มที่ที่สุด กรณีที่แรงงานชาวไทยจะเดินทางกลับไปทำงานในอิสราเอล
ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศจะยังผลักดันเรื่องนโยบายฟรีวีซ่าต่อไป ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และจะพยายามดำเนินการต่อในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ในกรณีที่มีข่าวเรื่องแนวโน้มญี่ปุ่นอาจพิจารณายกเลิกมาตรการฟรีวีซ่ากับประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่มาจากระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีประเด็นหลักอยู่ที่การพบกรณีการทำผิดกฎหมายมากขึ้น ซึ่งทำให้แต่ละประเทศมีสิทธิที่จะทบทวนวีซ่าได้ แต่ก็จะพยายามพูดคุยรับฟังข้อเท็จจริง และรีบหาทางแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้มีการทบทวนฟรีวีซ่ากับญี่ปุ่นตามที่หลายฝ่ายเป็นกังวล
“การทูตที่จับต้องได้ เกิดการดำเนินการทูตอย่างมีทิศทางและยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้และเพิ่มศักดิ์ศรีให้กับคนไทย” ปานปรีย์ กล่าว