ปานปรีย์กระชับสัมพันธ์ ‘เยอรมนี’ ดันไทยกลับสู่เวทีเศรษฐกิจโลก
'ปานปรีย์' เร่งกระชับสัมพันธ์เศรษฐกิจ 'เยอรมนี' 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมายสำคัญของไทย ในโอกาสใกล้ยกระดับความสัมพันธ์สู่ 'หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน' ชวนขยายการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า เดินหน้าเร่งเจรจา FTA ในกรอบปี 2569
การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 22 ปี ของประมุขแห่งสหพันธ์รัฐเยอรมนี ประธานาธิบดีฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา นับเป็น “จุดเริ่มต้นใหม่” ในรอบทศวรรษของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เยอรมนี ที่กำลังปูทางไปสู่ความร่วมมือต่างๆ ตามมาอีกมากทั้งในกรอบทวิภาคีหรือพหุภาคีภายใต้สหภาพยุโรป (อียู)
ในโอกาสนี้ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษระหว่างการเดินทางเยือนประเทศเยอรมนี วันที่ 21-25 ก.พ. 2567 ว่า เยอรมนีเป็น 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่ไทยจะผลักดันการกระชับความสัมพันธ์ก่อน เพื่อดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับที่ลึกขึ้น รวมถึงผลักดันเรื่องการค้าและการลงทุนที่จะมีการเปิดตลาดระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น
การเดินทางเยือนเยอรมนีในครั้งนี้เพื่อเตรียมการไปสู่การเดินทางเยือนประเทศเยอรมนีอย่างเป็นทางการของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 13 มี.ค. 2567 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการผลักดันการค้าและการลงทุนที่ไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ยุโรป (EFTA) ที่เป็น 2 หัวใจสำคัญในขณะนี้
ยกระดับสู่ ‘หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน’
รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า การเยือนครั้งนี้หลักๆ เป็นการเตรียมการสำหรับการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรี จึงมีการเตรียมการกับทีมไทยแลนด์ซึ่งได้พบหารือกับเอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน ข้าราชการฝ่ายความมั่นคงทั้งสามเหล่าทัพ ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายพาณิชย์ และหน่วยงานด้านการลงทุน โดยหลักจะเป็นเรื่องการค้าและการลงทุน และการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอีกจุดหนึ่งที่สำคัญก็คือ ไทยและเยอรมนีใกล้ที่จะยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นสู่การเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Strategic Partnership)
ในระดับเจ้าหน้าที่กำลังพูดคุยในรายละเอียดกันอยู่ ซึ่งหากเสร็จทันก็น่าจะมีการลงนามกันได้ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการ ถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญและเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมแล้วที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพราะเวลานี้หากสังเกตดูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีจะเห็นว่ามีความใกล้ชิดกันมากจากการเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 22 ปี ของประธานาธิบดีเยอรมนี และการที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะไปเยือนเยอรมนีในวันที่ 13 มี.ค. เช่นกัน
ขณะเดียวกัน ยังเป็นผลมาจากทิศทางที่เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” โดยเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศใหญ่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” ซึ่งมีไทยและประเทศในอาเซียนรวมอยู่ด้วยมากขึ้น ส่วนตัวได้ไปร่วมประชุมด้านอินโด-แปซิฟิก ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อเดือนที่แล้ว พบว่ามีการให้ความสนใจกับภูมิภาคนี้กันมากขึ้นอย่างชัดเจน
การยกระดับสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านจะทำให้มีการไปมาหาสู่กันที่มากขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการในด้านต่างๆ เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกัน และจะมีเรื่องการค้าและการลงทุนในหลายมิติที่จะมีการหารือกันในโอกาสต่อไป โดยการมาครั้งนี้ยังได้เข้าร่วมการสัมมนาธุรกิจและกล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ OAV Stiftungsfest จัดโดยสมาคมเอเชียตะวันออกของนครเบรเมิน (OAV Bremen) ในเมืองท่าใหญ่สุดอันดับ 2 ในเยอรมนี ซึ่งได้มีการพบกับนักธุรกิจ นักการเมือง และนักการทูตเยอรมนีเพื่อพูดคุยเรื่องโอกาสการค้าและการลงทุนในไทยด้วย
ดึงลงทุน ‘รถยนต์อีวี’ ในไทย
โครงการที่ไทยต้องการดึงดูดการลงทุนจากเยอรมนีที่สุด เป็นพวกโครงการขนาดใหญ่ตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ เช่น แลนด์บริดจ์ หรือด้านเทคโนโลยีกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เยอรมนีมีศักยภาพ แต่อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยโฟกัสมากที่สุดก็คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
จากการพบปะและพูดคุยในการเยือนครั้งนี้ทางฝั่งเยอรมนีเข้าใจดีว่าประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี คนไทยมีการใช้งานกันมากขึ้น และกำลังจะก้าวไปสู่การพัฒนาด้านอีวีอย่างเต็มรูปแบบ ทางเยอรมนีก็ดูน่าจะมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้านรถยนต์อีวีในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน เข้าใจว่าฝั่งนักลงทุนอาจรอทางเลือกที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่เชื่อว่าอีกไม่นานทางกลุ่มยุโรปคงมีการมอบนโยบายให้มีการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทยมากขึ้น
ส่วนตัวได้ไปเยี่ยมชมโรงงานเมอร์เซเดส เบนซ์ ที่เมืองเบรเมิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานของเบนซ์ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี เห็นว่ามีความทันสมัยมากและมีเทคโนโลยีในการประกอบรถที่มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง และยังเห็นสัญญาณใหม่ว่าเขาจะมุ่งไปทางการพัฒนาอีวีมากขึ้น จากเดิมในอดีตที่มีการพูดถึงเทคโนโลยีหลายอย่างทั้งอีวี ไฮบริด และไฮโดรเจน ซึ่งอาจทำให้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายุโรปจะมุ่งไปยังเทคโนโลยีไหน แต่วันนี้มีการระบุว่าจะไปทางอีวีมากขึ้น
เร่งบรรลุ FTA ตามกรอบปี 2568
ทั้งนี้แม้ว่าระหว่างการเสวนาเรื่องความสัมพันธ์ไทยและเยอรมนีในบริบทของอินโด-แปซิฟิก ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ สติฟตุง สมาชิกรัฐสภาเยอรมนี กุนธอร์ คริชโบม มีการพูดถึงเอฟทีเอไทย-อียู ว่าอาจต้องใช้เวลาอีกระยะ
แต่ปานปรีย์มองว่าเป็นเรื่องปกติของการเจรจากับอียูที่มีสมาชิก 27 ประเทศ แต่ภายใต้บริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนไปและการที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกำลังเป็นที่สนใจของโลก ก็อาจทำให้มีการผ่อนคลายความตึงเครียดในเรื่องนี้ลง
รมว.ต่างประเทศกล่าวว่าเยอรมนีเองก็ให้ความสำคัญกับอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น จากในอดีตที่เยอรมนีและอียูอาจจะให้ความสำคัญน้อย แต่ในระยะหลังโดยเฉพาะหลังจากที่เกิดสงครามการค้า และมีปัญหาเรื่องการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ทุกประเทศก็ต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่าต่อจากนี้จะทำการค้ากันอย่างไร จุดนี้อาจทำให้เริ่มผ่อนคลายลงเพราะเห็นความสำคัญกับกลุ่มอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น เพราะเวลานี้ทุกประเทศไม่สามารถอยู่ตามลำพังคนเดียวได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน หรือความมั่นคง
ดัน ‘ไทย’กลับสู่โฟกัสในเวทีโลก
ปานปรีย์ ยังระบุถึงกระแสที่ต่างชาติกำลังลดการกระจุกของการลงทุน และกระจายตัวออกไปเพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ว่า เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก จะทำอย่างไรให้ประเทศที่มีศักยภาพสูงซึ่งไม่ใช่แค่เยอรมนี เห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้ามาลงทุน และให้เราพร้อมรับทุนที่เข้ามาตรงนี้ซึ่งเป็นทุนสมัยใหม่ เช่น พลังงานทางเลือก เทคโนโลยี เศรษฐกิจสีเขียว ขณะที่การลงทุนในไทยกำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากตัวเลขขอรับสิทธิประโยชน์การลงทุนในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นราว 40% เมื่อเทียบปีก่อน
“เราในฐานะกระทรวงต่างประเทศที่เดินทางไปทั่วโลกก็จะเร่งสร้างความเข้าใจกับนานาชาติว่าเรามีความพร้อมในด้านนี้ และประเทศไทยก็กลับสู่แนวทางประชาธิปไตยแล้ว จึงไม่มีเรื่องอะไรที่ต่างชาติควรจะกังวล หากจะมีก็คงเป็นเรื่องอุปสรรคบางประการในการทำมาค้าขาย แต่รัฐบาลก็รับทราบและกำลังแก้ไขอยู่ โดยเฉพาะการอำนวยการสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Dong Business)” ปานปรีย์กล่าว
ประเทศใหญ่ในอียูเห็นชอบฟรีวีซ่า ‘เชงเกน’
สำหรับกรณีความพยายามผลักดันให้มีนโยบายฟรีวีซ่าเชงเกนจากอียูนั้น หากมีได้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ทั้งคนที่จะมาท่องเที่ยวและประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การเจรจากับอียูไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่เจรจาแบบ 1 ต่อ 1 เพราะเป็นการคุยกับ 27 ประเทศ ซึ่งต้องให้ความเห็นชอบทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ปัจจุบันได้คุยไปแล้วกับประเทศใหญ่ๆ ในอียู ซึ่งก็มีการเห็นชอบด้วยดีกับไทย แต่กับประเทศขนาดเล็กก็อาจมีติดขัดบางประเด็นอยู่บ้าง เช่น การสูญเสียค่าธรรมเนียมจากการทำวีซ่าซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของโลกจะมุ่งไปสู่การเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างประเทศกันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดแล้ว จะมุ่งไปสู่นโยบายฟรีวีซ่ากันมากขึ้น หลายๆ ประเทศที่สุดแล้วก็จะต้องดำเนินนโยบายฟรีวีซ่า และในมุมของอียูเอง ทุกวันนี้ก็สามารถเดินทางมาไทยได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า มาจับจ่ายใช้สอยและสร้างรายได้ในประเทศไทย ในทางกลับกันไทยไปอียูยากกว่า การนำเงินไปใช้จ่ายในกลุ่มอียูก็จะถูกจำกัดลง
เพราะฉะนั้นหากอียูคิดว่าการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่สำคัญ หรือคนไทยมีแนวโน้มที่จะเดินทางไปในกลุ่มอียูมากขึ้น ก็น่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งให้ชัดเจนว่าควรจะทำให้เกิดฟรีวีซ่าโดยเร็ว