ล้ม‘เรือดำน้ำ’ ดีล‘ฟริเกต’ ‘บิ๊กป้อม’บุกเบิก ‘เพื่อไทย’โละทิ้ง
" รมว.กลาโหม" เตรียมนำข้อสรุปแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ เข้าสู่การประชุม ครม. หลังสงกรานต์ เพื่อบรรจุในวาระเพื่อพิจารณาเห็นชอบหนึ่งในสองแนวทาง คือ เดินหน้าต่อ และ ยกเลิก
Key Points
- โครงการเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่ารัฐบาลจะเดินหน้า หรือ ยกเลิก
- งบประมาณมหาศาล ทุ่มไปกับการเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้ โครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างสมรรถนะการปฏิบัติการใต้น้ำไว้เรียบร้อยหมดแล้ว
- จีนไม่คืนเงินค่างวด 8,000 ล้านบาท ขั้นตอนอยู่ระหว่างเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ส่วนค่าปรับผิดสัญญา หมดสิทธิ์เรียกร้อง
ช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ห้วงที่ประธานาธิบดีจีน “สี จิ้นผิง” เดินทางมาประชุมเอเปกประเทศไทย เป็นเวลาเดียวกับที่เรือดำน้ำลำแรกของกองทัพเรือ ประสบปัญหาไม่สามารถนำเครื่องยนต์ MTU เยอรมนี มาติดตั้งได้ ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักไป หลังดำเนินการเสร็จแล้ว 50%
“พล.อ.ประยุทธ์” จับเข่าคุย “สี จิ้นผิง” เพื่อหาทางออกร่วมกัน และแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีแนวคิดล้มโครงการเรือดำน้ำ เพราะให้ความสำคัญ ถึงความต้องการด้านยุทธการกองทัพเรือในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องทรัพยากรและอธิปไตยทางทะเล 2 ฝั่ง หลังประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำเข้าประจำการ
อีกทั้ง “กองทัพเรือ”ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาล เตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้ โครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างสมรรถนะการปฏิบัติการใต้น้ำไว้เรียบร้อยหมดแล้ว หากไม่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการ เป็นเรื่องน่าคิดว่า สิ่งเหล่านี้จะทำอย่างไร
ทั้งการส่งกำลังพลไปศึกษาและอบรมหลักสูตรในต่างประเทศด้านเรือดำน้ำ ท่าจอดเรือดำน้ำ และอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ การจัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำพร้อมอาคารฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ
โรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ คลังเก็บตอร์ปิโด และทุ่นระเบิดสนับสนุน อาคารทดสอบและคลังอาวุธปล่อยนำวิถี โครงการผลิตแผนที่เรือดำน้ำและระบบแสดงข้อมูลข่าวสารกรองทางอุทกศาสตร์
จัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง อาคารพักข้าราชการ กองเรือดำน้ำ จัดหาเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบก สนับสนุนเรือดำน้ำ และระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ
ประเด็นที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ มองเรื่องบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แน่นอนว่าหากยกเลิกเรือดำน้ำ เรื่องความสัมพันธ์ไม่ได้กระทบเฉพาะระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น แต่มีปัจจัยเกี่ยวเนื่องทั้ง การป้องกันประเทศ ความสัมพันธ์ด้านการทหาร บริษัทค้าอาวุธ
“สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม เตรียมนำข้อสรุปแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)หลังสงกรานต์ เพื่อบรรจุในวาระเพื่อพิจารณาเห็นชอบ เสนอ 2 ทางเลือก คือยึดตามความต้องการกองทัพเรือ ด้วยการเดินหน้าต่อ โดยอนุมัติแก้สัญญา เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ CHD620 ของจีนพร้อมขยายกรอบเวลา
ส่วนแนวทางที่สองเสนอให้ยกเลิก และหาก ครม.มีมติตามแนวทางนี้ กองทัพเรือก็มีหน้าที่เสนอเรื่องขอยกเลิกข้อตกลง โดยให้เหตุผลที่ไม่สามารถนำเครื่องยนต์มาติดตั้งในเรือดำน้ำได้ ทำให้เลยกรอบเวลา เนื่องจากโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2560 สิ้นสุดปี 2566 เป็นเงื่อนไขประกอบ เพราะไม่สามารถส่งมอบงานได้
อีกทั้งในระเบียบการจัดซื้อรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ระบุชัดว่า ให้สองฝ่ายหาข้อยุติฉันมิตร ไม่มีเงื่อนไขข้อบังคับต้องจ่ายค่าปรับ หรือข้อเรียกร้องอื่นๆ
ส่วนจะทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กำหนดโทษความผิดทางอาญาและทางแพ่งเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากจีนไม่คืนเงินค่างวดประมาณ 8,000 ล้านบาท ตัวชี้วัดคือ การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน
เบื้องต้น “สุทิน”ขอเปลี่ยนเป็น “เรือฟริเกต” โดยอ้างกระแสสังคมไม่ยอมรับ เพราะเครื่องยนต์ที่จีนผลิตเองไม่เคยผ่านการใช้งานในเรือดำน้ำชาติใดมาก่อน พร้อมขอนำค่างวดเรือดำน้ำ 8,000 ล้านบาท หักลบกลบหนี้ ส่วนที่ขาดจะนำมาจ่ายเพิ่ม สำหรับตัวเรือดำน้ำไทย ขอให้จีนรับซื้อ เพราะปัจจุบันมีใช้ในกองทัพเรือจีนอยู่แล้ว หรือนำไปขายต่อ
แหล่งข่าวกองทัพเรือระบุว่า หากรัฐบาลมีนโยบายให้ยกเลิกเรือดำน้ำ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยต้องเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด หากมองในเชิงธุรกิจ จีนไม่คืนเงินให้ไทยโดยทันที เช่น กรณีจีนรับปากนำตัวเรือดำน้ำไปขายต่อให้ ก็ไม่ชัดว่าจะขายได้เมื่อไหร่ ต้องใช้เวลานานแค่ไหน หรืออาจขายไม่ได้ และที่สำคัญจีนจะมีเงื่อนไข ห้ามไทยคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลารอขายตัวเรือดำน้ำ
แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ขอให้จีนชดเชยให้บริษัท CSOC (บริษัทต่อเรือดำน้ำให้ไทย)นั่นหมายความว่า รัฐบาลจีนรับซื้อเรือดำน้ำลำนี้เข้าประจำการให้กับกองทัพเรือจีน ส่วนไทยหากจะซื้อเรือฟริเกต หรือเรือ OPV ก็ให้นำเงินมาจ่ายเพิ่ม
แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุต่อว่า ในขณะที่การจัดทำงบประมาณ สำนักงบประมาณจะให้ความสำคัญในเรื่องการใช้งบประมาณตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ นั่นหมายความว่า งบประมาณที่ขอไปซื้อเรือดำน้ำ ก็ต้องได้เรือดำน้ำ แต่มาได้เรือฟริเกต จะตอบคำถามสำนักงบประมาณอย่างไร
แต่หากสามารถทำได้ กองทัพเรือก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับส่วนราชการอื่น ในการของบประมาณ นำไปใช้โครงการหนึ่งแต่กลับไปได้อีกโครงการหนึ่ง ดังนั้นการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานราชการจะเคร่งครัดต่อการดำเนินการ เพราะเป็นกฎระเบียบ ข้อบังคับ และเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
“ที่ผ่านมากองทัพเรือได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่มีหน้าที่ในเรื่องนี้โดยตรง นำงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ ไปซื้อเรือฟริเกตแทน ล้วนแต่ยืนยันตรงกันว่าเป็นไปไม่ได้” แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุ
ดังนั้น รัฐบาลเพื่อไทยจะเป็นผู้ชี้ขาด โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ กองทัพเรือ ว่ายังคงเดินหน้าต่อ หรือยกเลิก แล้วเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต
ซ้ำรอยยุค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่เคยยื้อโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองเยอรมัน จนเลยกรอบเวลาที่กำหนด ต่อมา “ยิ่งลักษณ์” ไฟเขียวให้ “กองทัพเรือ” จัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูงแทน ในช่วงนั่งเก้าอี้นายกฯ ควบ รมว.กลาโหม
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ และมาสานต่อยุครัฐบาล คสช. กำลังจะถูกรัฐบาลเพื่อไทยพับเก็บเป็นครั้งที่สอง