'พัรชวาท' ปัดวัวหายล้อมคอก ตั้งศูนย์แก้ PM 2.5 เชียงใหม่-ภาคเหนือ 10 เม.ย.นี้
"พัรชวาท" เผย นายกฯ สั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาPM 2.5 ทุกจังหวัดภาคเหนือ ระดมยุทโธปกรณ์เข้าพื้น ที่บูรณาการแก้ปัญหาทุกมิติ ประสาน กต.-กองทัพ คุยเพื่อนบ้านงดเผา ปัดล่าช้า วัวหายล้อมคอก
9 เม.ย.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันแถลงข่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน
โดย พลตำรวจเอก พัชรวาท ระบุว่า ทางนายกฯ ได้เน้นย้ำไว้ 3 เรื่อง โดยให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป โดยให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะใน จ.เชียงใหม่ ที่ต้องรับผิดชอบ 8 อำเภอ ที่ประกาศภัยพิบัติ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจัง และให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัด เป็นผู้ให้ข่าวเพียงผู้เดียว คนอื่นไม่เกี่ยว พร้อมยืนยันว่า ได้ทำงานบูรณาการตามนโยบาย 9 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาพีเอ็ม 2.5 เกิดขึ้นนานแล้ว แต่กระทรวงทรัพย์ฯ เพิ่งออกมาแอ็คชั่นในช่วงนี้ ถือเป็นความล่าช้าเกินไปหรือไม่ พลตำรวจเอก พัชรวาท ยืนยันว่า ไม่ล่าช้า เพราะที่ผ่านมาเราทำมาตลอด ไม่ใช่วัวหายแล้วล้อมคอก เราทำจริงจัง
ด้าน ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า พรุ่งนี้ศูนย์ปฏิบัติการที่เชียงใหม่ จะมีความพร้อมในการแก้ปัญหา โดยมียุทปกรณ์จากกองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมฝนหลวงฯ ที่จะเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ไปที่ จ.เชียงใหม่ ในขณะเดียวกันพลตำรวจเอก พัชรวาท ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานกระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนกองทัพบกได้มีการประสานผ่านทางคณะกรรมการชายแดนทั่วไป พร้อมยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาครั้งนี้รัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยวันพรุ่งนี้ข้าราชการระดับ ซึ 10 ขึ้นไปจะไปร่วมปฏิบัติการที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะใช้มาตรการคล้ายกับการแก้ปัญหาโควิด-19
ขณะที่ นายจตุพร กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯ ว่า จะครอบคลุมการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็มในทุกมิติในการบริหารจัดการ เช่น จุดฮอตสปอต การดูแลเบื้องต้นให้ประชาชนที่ประสบปัญหา ก็จะมีกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแล ในส่วนการบังคับใช้กฎหมาย เป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งในทุกจังหวัดจะมีการเปิดศูนย์ฯ และทางกระทรวงต่างๆ จะส่งเจ้าหน้าที่และข้อมูล เข้าไปร่วมในทุกศูนย์ของแต่ละจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่น