ปธ.ศาล รธน.ปลื้มผลงาน 26 ปี ยืนหยัดพิทักษ์ รธน.-หลักการปกครองประชาธิปไตยฯ
'นครินทร์ เมฆไตรรัตน์' ปลื้มผลงานครบรอบ 26 ปีศาลรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายขัดหลักนิติธรรม-ละเมิดสิทธิ-รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยืนหยัดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ-สร้างบรรทัดฐานทางกฎหมาย
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมทางวิชาการประจำปี เนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ ในหัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” โดยมีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย ศ.ดร.Merab Turava ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจีย นาง Manana Kobakhidze รองประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจีย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนหน่วยงานราชการ และนักวิชาการด้านกฎหมายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการเป็นจำนวนมาก
นายนครินทร์ กล่าวเปิดการประชุมทางวิชาการประจำปีว่า ตลอด 26 ปีที่มีการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ดำรงหลักนิติธรรมของประเทศ รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นไปตามหลักนิติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง
นายนครินทร์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรณีการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เป็นการออกคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวก่อน แล้วออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าว หรือกรณี พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ที่มีกำหนดข้อสันนิษฐานไว้ตั้งแต่เริ่มแรกว่า ถ้าบุคคลใดกระทำความผิด ให้กรรมการผู้จัดการของบริษัท หรือนิติบุคคลนั้นทุกคนต้องร่วมรับผิดไปด้วย โดยยังไม่ได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงใด ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญ จากการทำหน้าที่ดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำการยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันทั้งหมดของประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 76 ฉบับ ด้วยกัน
นับแต่มีการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อปี 2541 จนถึงปัจจุบัน ได้มีคำร้องเข้าสู่การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1,881 คำร้อง โดยศาลมีคำวินิจฉัย จำนวน 812 คำวินิจฉัย และคำสั่ง จำนวน 1,047 คำสั่ง ซึ่งมีคดีร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ที่ได้มีขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 586 คำร้อง โดยศาลมีคำวินิจฉัย จำนวน 6 คำวินิจฉัย และคำสั่ง จำนวน 570 คำสั่ง
นายนครินทร์ กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังคงยืนหยัดรักษาความชอบธรรมของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพยายามที่จะสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ หรือตรากฎหมายที่มุ่งไปในทางคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนต่อไป
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปศาลรัฐธรรมนูญพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล โดยได้พัฒนากระบวนการยุติธรรมที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย ผ่านช่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เช่น ยื่นคำร้องผ่านทางระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing and e-Service System) ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และในทุกประเภทคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีหรือผลคำวินิจฉัย หรือคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องที่ได้ยื่นผ่านทางระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นดังปณิธานของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่ายึดหลักนิติธรรม ค้ำจุนประชาธิปไตย ห่วงใยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน