แจกเงินดิจิทัล 10000 ล่าสุด “คนจน“ หรือ “เจ้าสัว” กระเป๋าตุง
จับตา เงินดิจิตอล หรือ แจกเงินดิจิทัล 10000 ล่าสุด “คนจน“ หรือ “เจ้าสัว” กระเป๋าตุง ในกระแสความสนใจของประชาชน
เรื่องนี้มาแรง กรณี เงินดิจิตอล หรือ แจกเงินดิจิทัล 10000 ล่าสุด นโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับคำถามดังๆว่า “คนจน“ หรือ “เจ้าสัว” กระเป๋าตุงกันแน่
ถ้าฟังจากการแถลงข่าวของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ชัดเจนก็คือ รัฐบาลพร้อมเดินหน้าลุยแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท แน่นอน เพราะ หนึ่ง เป็นนโยบายเรือธงของ พรรคเพื่อไทย และของรัฐบาลเศรษฐา สอง มีผลทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย แม้ว่าจะมีคำถามมากมายตามมาเหมือนเดิม และกระแสคัดค้านต่อต้าน ก็ยังคงอยู่เรื่องเดิม คือ แหล่งที่มาของเงิน และคนรวย เจ้าสัว ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตสินค้าจะได้ประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจาก ข้อสงสัยของประชาชน ที่พรรคเพื่อไทย รวบรวมมาตอบ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของพรรคเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ดูเหมือนหลายอย่างอธิบายได้อย่างชัดเจน แต่มีบางอย่างที่ยังอธิบายแบบคลุมเครือ เป็นช่องว่างให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร
ที่ชัดเจน ก็คือ ประชาชนสัญชาติไทย อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท จำนวน 50 ล้านคน ถือว่าเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาแจกเงินดิจิทัลฯ 1 หมื่น
แต่ที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด และยังคลุมเครือ ก็คือ การใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น ใครได้ประโยชน์สูงสุดกันแน่ ถ้าดูจากที่โครงการกำหนดเอาไว้
นั่นคือ สามารถซื้อสินค้าในร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่รวมห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ตามนิยามและเงื่อนไขที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เป็นต้น
ถามว่า ร้านค้าขนาดเล็ก (ร้านชุมชน) ขึ้นเงินทันทีไม่ได้ ต้องเอาไปซื้อของต่อ (เขาสายป่านสั้น) สร้างภาระให้ร้านเล็กมากกว่าหรือเปล่า?
คำตอบ เงื่อนไขดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบมากขึ้น แม้ร้านค้าขนาดเล็กไม่สามารถถอนเงินสดได้ แต่นำยอดเงินที่มีในแอปพลิเคชันไปใช้จ่ายต่อได้ทันทีกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ
ถาม ทำแบบนี้ ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ๆ ของเจ้าสัว ก็รวยอยู่ดี แล้วจะช่วยรายย่อยได้จริงหรือ?
คำตอบ โครงการออกแบบให้ประชาชนซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็กภายในอำเภอในการใช้จ่ายรอบแรก และร้านค้าขนาดเล็กดังกล่าว สามารถใช้จ่ายต่อกับร้านค้าทุกประเภทได้ จึงเกิดประโยชน์กับร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนเป็นหลัก
ถาม รายย่อยที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี จะทำยังไง จะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้
คำตอบ ร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ แต่หากไม่อยู่ในระบบภาษี จะไม่สามารถถอนเงินสดจากโครงการได้
ส่วนรัศมีการใช้จ่าย คือ 1. การใช้จ่ายของประชาชนกับร้านค้าจะต้องใช้จ่ายภายในอำเภอ 2. การใช้จ่ายของร้านค้ากับร้านค้าไม่จำกัดพื้นที่
ประเด็นที่เห็นชัดขึ้นมาทันที เมื่อมีการเปิดให้ร้านสะดวกซื้อ รวมอยู่ในร้านค้าขนาดเล็กที่สามารถใช้เงินดิจิทัลฯซื้อสินค้าได้ ก็คือ “เจ้าสัว” นั่นเองที่ได้ประโยชน์สูงสุด
โดยนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช แสดงความเห็นผ่าน เฟซบุ๊ก เทพไท-คุยการเมือง ระบุตอนหนึ่งว่า
“เมื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมเปิดรับร้านค้าเข้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดมีมากว่า 8-9 ล้านรายทั่วประเทศ รวมถึงร้านสะดวกซื้ออย่างร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นด้วยนั้น อย่าลืมว่าตอนนี้ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุด ครอบคลุมทุกพื้นที่ มีอยู่ทุกปั๊มน้ำมัน ปตท. มีทุกซอย มีตั้งแต่ปากซอยยันปลายซอย ทำให้ร้านค้ารายย่อย ร้านโชห่วยตายหมดแล้ว
“เมื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้ซื้อของที่ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นได้ จะมีสินค้าหลายชนิดหลั่งไหลเข้ามาวางขายในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นเพื่อจำหน่าย ให้กับผู้ต้องการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตซื้อสินค้า เชื่อว่าเงินของโครงการนี้ประมาณ 5 แสนล้านบาท จะไหลเข้าสู่ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นไม่ต่ำกว่า 50% หรือ 2.5แสนล้านบาทเป็นอย่างน้อย เข้ากระเป๋ากลุ่มทุนรายใหญ่ หรือกระเป๋าเจ้าสัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ขณะเดียวกัน “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ ชี้ประเด็นเช่นกันว่า
“การแจกเงินหมื่นบาทนั้น ประชาชนไม่ได้ถือเงิน แต่ได้เพียงสิ่งของที่มีมูลค่าหมื่นบาทจากราคาต้นทุน 3,500 บาท และส่วนที่เหลือประมาณ 5,000 บาทเป็นกำไรเข้ากระเป๋านายทุนใหญ่ผู้ผลิตสินค้า เท่ากับรัฐบาลให้คนจนไปช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจของคนรวย ดังนั้น จึงอธิบายการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เลย เพราะการแจกเงินแบบนี้คือการเอาสินค้าเข้าร้าน 7-11 แล้วให้คนจนไปเบิกมาใช้ในราคาหมื่นบาทก็เท่านั้น”
สำหรับที่มาของเงิน ที่ก่อนหน้านี้จะใช้วิธีออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่ถูกหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้รู้คัดค้านว่า ทำไม่ได้เพราะจะเป็นการทำผิดกฎหมาย การเงินการคลัง หรือไม่ รวมถึง“ป.ป.ช.”ที่ตั้งคณะทำงานศึกษาและติดตามโครงการ ก็ออกมาเตือนในประเด็นเดียวกัน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น
ทำให้การแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่มาของเงิน จาก 3 แหล่ง คือ
เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
เรื่องนี้ “จตุพร” ชี้ว่า งบประมาณของไทยเป็นงบแบบขาดดุล ซึ่ง ต้องกู้มาชดเชยอยู่ดี ดังนั้น จึงเท่ากับเป็นการซ่อนรูปแบบเงินกู้มาแจกไว้ในงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นอาการบิดเบี้ยวโดยกลบซ่อนความรับผิดชอบของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
นอกจากนี้ การกู้ยืมเงินจาก “ธ.ก.ส.” ก็มีประเด็นให้คิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเช่นกัน
โดยนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก "กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij" ระบุตอนหนึ่งว่า
“...ตาม พ.ร.บ. ธ.ก.ส.นั้น ในหมวด 2 มาตรา 9 ได้ระบุวัตถุประสงค์ของ ธกส. ไว้ถึง 17 ข้อ...
ที่อ่านแล้วยังไม่ชัดว่า มีข้อไหนเปิดให้ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ให้รัฐบาลนำมาแจกประชาชนได้ (แม้บางคนมีอาชีพเป็นเกษตรกรก็ตาม) เพราะวัตถุประสงค์การแจกเงินดิจิทัลประกาศไว้ชัดว่า “เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “เพื่อการบริโภค” ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการ “ส่งเสริมการเกษตร”
ก่อนหน้านี้ก็เคยคิดว่า รัฐบาลอาจใช้ ธ.ก.ส.เพื่อการนี้ได้ แต่ว่า ตั้งแต่ปี 2561 มี พ.ร.บ.วินัยทางการคลัง ยํ้าประเด็นชัดเจนในมาตรา 28 ว่า รัฐบาลใช้เงินของรัฐวิสาหกิจโดยขัดหรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ไม่ได้...”
ในขณะที่ “ธ.ก.ส.” พร้อมสนองนโยบายรัฐบาล โดยออกมาขานรับว่า โครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้เข้าไปสนับสนุน ทั้งในมิติของการให้สินเชื่อและเป็นแหล่งทุนในการดำเนินการ โดยธ.ก.ส. ยังคงสามารถบริหารสภาพคล่องและความแข็งแรง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสถาบันการเงิน
“โครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่มีการแถลงฯนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งในโครงการของรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องในมิติของเกษตรกรผู้รับ ที่ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างการประสานงานในรายละเอียดที่จะดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม”
สรุปว่า “ธ.ก.ส.” ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้?
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ ปัญหาของโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น ของรัฐบาลเศรษฐา ออกแบบเอาไว้ค่อนข้างซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา กล่าวคือ ต้องการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตให้เกิดรอบการใช้จ่ายหลายรอบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า จะได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
ประการต่อมา “สินค้า” ที่ซื้อขายด้วยเงินดิจิทัลฯนั้น เป็นสินค้าจากโรงงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ผลิตก็คือ นายทุนขนาดใหญ่ เจ้าสัว ผู้มั่งคั่งร่ำรวยอยู่แล้ว ส่วนคนยากคนจน เกษตรกร รวมทั้งคนอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับประมาณ 50 ล้านคน อาจเป็นแค่ “ฟันเฟือง” หมุนเงินเข้ากระเป๋า “เจ้าสัว” หรือไม่ คือ สิ่งที่เห็นชัด กว่า เป้าหมาย “กระตุ้นเศรษฐกิจ” เสียอีก
แม้ว่า ในท้ายที่สุด อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่บ้าง หรือไม่ ก็ตาม
อีกอย่างที่เห็นชัดที่สุด ก็คือ คะแนนนิยมทางการเมือง ที่พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา จะได้รับ จากการใช้เงินภาษีของประชาชน โดยไม่ต้องรอผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คุ้มหรือไม่กับงบประมาณ 5 แสนล้านบาท
อย่างนี้ คนจนได้อะไรแค่ไหน ใครกันแน่ที่จะกระเป๋าตุงจากงบฯ 5 แสนล้านบาท ใครกันแน่ ที่ได้ประโยชน์สูงสุด ก็ลองคิดดู!?