'ปธ.กกต.' มั่นใจกลไก ปราบฮั้วเลือก สว.ได้ หนุน 'ก้าวหน้า' รณรงค์สมัครโหวต

'ปธ.กกต.' มั่นใจกลไก ปราบฮั้วเลือก สว.ได้ หนุน 'ก้าวหน้า' รณรงค์สมัครโหวต

"อิทธิพร" มั่นใจ กลไกของกกต. ป้องกันฮั้วเลือกกันเองของสว. เตือนคนรับจ้างมาโหวต เสี่ยงผิดกฎหมาย-ตรวจเจอไม่รอดแน่ พร้อมหนุน "คณะก้าวหน้า" รณรงค์คนสมัครโหวต

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวตอบคำถามถึงกรณีที่คณะก้าวหน้ารณรงค์ให้ประชาชนสมัครไปโหวต สว. ที่ถูกท้วงติงว่าเข้าข่ายทำให้ฮั้วการเลือกกันเองของ สว. ว่า ตนไม่คิดว่าถึงขั้นสุ่มเสี่ยง เพราะการรณรงค์ เชิญชวนให้คนลงสมัครเป็นสว. เป็นสิ่งที่ตนสนับสนุน เพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่ขอเตือนว่าอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย หากสงสัยขอให้คุยกับกกต. เพื่อไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยง 

เมื่อถามว่า คณะก้าวหน้าที่มีการชูนโยบาย “1 ครอบครัว 1 สว.” จะทำให้ผิดเจตนารมณ์ของการเลือก สว. หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เป็นการรณรงค์ให้สมัคร เป็นคอนเซ็ปต์ที่ฟังง่าย ให้คนฉุกคิดว่า เราในฐานะที่เป็นคนไทย เรามีคุณสมบัติ และมีความประสงค์ที่จะสมัครหรือไม่ และทำงานเพื่อประเทศ

"เรื่องนี้ไม่ถึงขั้นมีความสุ่มเสี่ยง ซึ่งถ้าสุ่มเสี่ยงก็ต้องรับฟังกรอบความเห็นของสำนักงาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ข้อเท็จจริงยังไม่ชัด อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ตอบรับแคมเปญแล้วมีผู้สมัครหลักแสนคนนั้น ทางกกต.ต้องสามารถรับมือได้  เพราะเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่แรก" นายอิทธิพร กล่าว

เมื่อถามว่าเราจะมีมาตรการป้องกันการฮั้วกันของผู้สมัครที่หลายฝ่ายมีความกังวลอย่างไร นายอิทธิพร กล่าวว่า ขอเตือนว่าอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนวิธีป้องกันตามกลไกกฎหมายคือการกำหนดค่ารับสมัครในระดับที่ไม่ได้ต่ำหรือสูงเกินไป ขณะที่การเลือกแบบไขว้กันจะทำให้เกิดความไม่แน่นอน จึงจะฮั้วกันยาก และกกต.ยังมีผู้ตรวจการเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดให้มีการเลือกว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบการกระทำใดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย อีกทั้งมีชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อสอดส่องการฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนกรณีการรับจ้างสมัครเข้าไปเลือกผู้สมัครสว. กกต.มีกระบวนการตรวจสอบ  ถ้าทำจริงก็ถือว่ามีความผิด ทั้งจำ ทั้งปรับและตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี  ถ้าตั้งใจจะฮั้วอย่ามั่นใจว่าจะรอด                

เมื่อถามถึงกรณีมีผู้ฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการสมัครสว. จะเป็นการยื้อเวลาการทำหน้าที่ของ สว.ชุดปัจจุบันหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องเชื่อมโยงกัน เมื่อเราจัดการเลือกระดับประเทศเสร็จแล้ว กฎหมายให้รอ 5 วัน เผื่อยื่นร้องเรียน และถ้ามีการร้องเรียนต้องร้องภายใน 3 วัน หลังจากวันที่เลือก ซึ่งกกต.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 วัน ส่วนกกต.จะมีการสั่งให้เลือกในวันไหนนั้น กรณีที่มีการเลือกซ่อม โดยหลักก็ต้องทำให้เร็ว เพราะฉะนั้นจะไม่ทำอะไรที่เป็นการขวาง

“เวลานี้ผมไม่คิดว่า จะมีการทำให้เลื่อน การเลื่อนต้องมีเหตุตามกฎหมาย และชัดเจน ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่อยากจะสันนิษฐานว่าเลื่อนออกไปเพราะเหตุนั้น เหตุนี้ หากมีพระราชกฤษฎีกา เราก็ต้องทำตามตารางของเรา เราไม่ได้คิดเป็นอื่น” นายอิทธิพร กล่าว

เมื่อถามว่า หากมีการยื่นต่อศาล และศาลมีคำสั่งให้ชะลอไปก่อน นายอิทธิพร กล่าวว่า เป็นกระบวนการศาล ซึ่งตนไม่แน่ใจว่า จะเป็นอย่างไร เพราะศาลมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาล และหากมีการส่งเรื่องไปศาลก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระทบต่อไทม์ไลน์ ส่วนกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาเนื้อหาของกฎหมายประกอบว่าด้วยการเลือกกันเองของสว.นั้น ทางผู้ตรวจฯ ก็จะมีกระบวนการการพิจารณาอยู่ว่า ควรส่ง หรือไม่ควรส่งเรื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในความเคลื่อนไหวต่อการเลือกสว.อีกทาง ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา40, 41 และ มาตรา42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา107 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่