ประวัติชีวิตการเมือง ทวี ไกรคุปต์ อดีตนักการเมืองราชบุรี เสียชีวิต วัย 85 ปี
เปิดประวัติชีวิตการเมือง "ทวี ไกรคุปต์" อดีตนักการเมืองดังราชบุรี บิดา "เอ๋ ปารีณา" อดีตสส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เสียชีวิตอย่างสงบแล้วด้วยวัย 85 ปี
วันนี้ 20 เมษายน 2567 มีรายงานแจ้งข่าวเศร้า "ทวี ไกรคุปต์" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตนักการเมืองดังราชบุรี บิดาของ "เอ๋ ปารีณา ไกรคุปต์" อดีตส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เสียชีวิตอย่างสงบแล้วด้วยวัย 85 ปี
โดย นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ระบุว่า "ขอแสดงความไว้อาลัย!!! นักการเมืองอาวุโส 1 ในขุนพลของป๋าเปรม ท่านทวี ไกรคุปต์ ที่จากไปอย่างสงบเมื่อคืนนี้
คุณเอ๋ ปรีณา ไกรคุปต์ ได้เขียนมาบอกเมื่อสองทุมเศษเพราะทราบว่าคุ้นเคยนับถือกันมานานแล้ว เป็นการจากไปในเวลาที่ดาวพฤหัสย้ายราศีเข้าทับลัคนาดวงเมืองตามที่พยากรณ์เมื่อวานนี้ครับ ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ"
ประวัติ ทวี ไกรคุปต์
"ประวัติ ทวี ไกรคุปต์" อดีตรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี 7 สมัย และเป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมไทย และพรรคเอกภาพ
ทวี ไกรคุปต์ เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 เป็นบุตรของนายแสวง กับนางทุเรียน ไกรคุปต์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์
สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมรสกับ นางสิริบังอร ไกรคุปต์ อดีตผู้พิพากษาสมทบ
มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ นายสีหเดช ไกรคุปต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด และ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี 4 สมัย
ชีวิตการเมือง งานการเมือง "ทวี ไกรคุปต์"
ทวี ไกรคุปต์ เข้าสู่งานการเมือง ด้วยการเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ. 2518 ก่อนที่จะมาลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี
และได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2522 ได้รับเลือกเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2539 ส่วนการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 ได้ลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทย แต่แพ้ให้กับนางประไพพรรณ เส็งประเสริฐ จากพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาจึงวางมือ โดยให้นางปารีณา บุตรสาวลงสมัครรับเลือกตั้งแทน
ทวี ไกรคุปต์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2524
เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เมื่อปี พ.ศ. 2535 วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ทวี ไกรคุปต์ได้เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิก พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับนาย บุญจง วงศ์ไตรรัตน์
การทำงานการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร "ทวี ไกรคุปต์"
ทวี ไกรคุปต์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 7 สมัย คือ
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2522 จังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคสยามประชาธิปไตย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2526 จังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคชาติไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 จังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคกิจสังคม
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 จังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคกิจสังคม
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535 จังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคความหวังใหม่
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 จังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 จังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ชีวิตหลังจากวางมือทางการเมือง "ทวี ไกรคุปต์"
ช่วงรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ทวี ได้นั่งอดข้าวประท้วงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่เวลาเที่ยง เพื่อประท้วงการปฏิวัติยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในปี พ.ศ. 2557 นายทวี ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) สนับสนุนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ "ทวี ไกรคุปต์"
- พ.ศ. 2535 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2530 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
อ้างอิง : Paisal Puechmongkol ,วิกิพีเดีย