'ส.ว.สมชาย' ว่าไง 'ไอลอว์' ตั้งคำถาม วิทยานิพนธ์ป.เอก คล้ายงานวิชาการอื่น
"ไอลอว์" ตั้งคำถาม วิทยานิพนธ์ป.เอกของ "ส.ว.สมชาย แสวงการ" มีลักษณะคล้ายงานวิชาการอื่นหลายจุด พร้อมยกตัวอย่างเปรียบเทียบ
เมื่อวันที่ 20 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า iLaw ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตของ ส.ว.สมชาย แสวงการ ที่พบว่ามีความคล้ายข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งหลายจุดนั้น เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
ทั้งนี้ ส.ว.สมชาย สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี 2565 จากหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต หนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ ปัจจุบันอุดมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมติเห็นชอบโดยวุฒิสภาที่มีสมชายเป็นสมาชิก
งานวิจัยยาว 264 หน้า (รวมภาคผนวกและประวัติผู้เขียนที่มีความยาวสองหน้า) สำรวจที่มาของ ส.ว. ทั้งในต่างประเทศและในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเห็นว่า ส.ว. ระบบ “เลือกกันเอง” ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 นั้น “เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้” แต่ก็ยังมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เสนอให้ผู้สมัครในกลุ่มเลือกกันเองแทนการเลือกไขว้ หรือให้มีกลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
โดย ilaw อ้างกว่า ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ มีข้อความหลายท่อน ตรงกับงานวิชาการอื่นๆ ที่เด่นสุดคือ หนังสือของสถาบันพระปกเกล้า “รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุท ตั้งถาวร ตีพิมพ์ในปี 2558 ซึ่งมีข้อความที่เหมือนกันมากกว่า 30 หน้า
อาทิ ตั้งแต่หน้า 38 ในดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย หัวข้อ 2.3.1 “กลุ่มที่หนึ่ง: กลุ่มประเทศที่กำหนดให้ความเป็นตัวแทนของวุฒิสภายึดโยงกับพื้นที่” ไปจนถึงหน้า 64 ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายของบทที่สอง มีเนื้อหาตรงกับหน้าที่ 77-115 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า ในหน้า 38 ของดุษฎีนิพนธ์ของสมชายถึงกับลอกเอาเชิงอรรถของหน้า 77 ในหนังสือสถาบันพระปกเกล้ามาทั้งหมด
ilaw ยังระบุด้วยว่า “ยังพบว่าในบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย มีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงเอาไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมด แทนที่จะสรุปแนวคิดและเขียนใหม่เป็นภาษาของตัวเอง เพื่อป้องกันการคัดลอกผลงาน”
ทั้งนี้ ilaw ยังระบุด้วยว่า ดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีการอ้างถึงงานของ iLaw ด้วย โดยเป็นบทความ “รวมข้อมูล 250 สว. ‘แต่งตั้ง: กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช.’” ซึ่งมีการอ้างถึงสถิติของ สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประกอบด้วยบุคคลที่เคยรับตำแหน่งในยุค คสช. โดยมีเนื้อหาเหมือนกันทุกคำ ไม่มีการปรับเปลี่ยนคำใหม่ เพียงแต่มีการตัดรายชื่อของ สว. ที่บทความยกตัวอย่างให้เห็นเท่านั้น เช่น ปรีชา จันทร์โอชา, อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์
นอกจากนี้ ilaw ยังได้ยกเอาข้อความในวิทยานิพนธ์ และ หนังสือเล่มต่างๆ มาโพสต์เปรียบเทียบด้วย