'ก้าวไกล' เชื่อไฟไหม้ 'วินโพรเสส' ไม่ใช่อุบัติเหตุ จ่อประสานกมธ.อุตฯ สอบ

'ก้าวไกล' เชื่อไฟไหม้ 'วินโพรเสส' ไม่ใช่อุบัติเหตุ จ่อประสานกมธ.อุตฯ สอบ

สส.ระยอง ก้าวไกล จี้ รัฐบาลเยียวยาปชช. หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ รง.วินโพรเสส ชี้เบาะแส เชื่อเหตุไม่ใช่อุบัติเหตุ เตรียมประสาน กมธ.อุตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ

ที่รัฐสภา นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล แถลงที่รัฐสภา เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสส อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเป็นสถานที่เก็บกากสารเคมีอันตราย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา รวมถึงควรพิจารณาถึงแผนการรับมือในเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อเปิดประเทศให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ควรพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือด้วย เช่น  การขนย้ายสารเคมีอันตราย เป็นต้น ขณะเดียวกันเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ควรพิจารณาในแง่ของการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบในพื้นที่เพื่อให้มีความรวดเร็ว เพราะกรณีที่เกิดขึ้นพบว่ากว่าจะประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ที่สามารถใช้เครื่องมือ อุปกรณ์เพื่อสามารถดับเพลิงได้ต้องใช้เวลารอถึงช่วงเย็นในวันเกิดเหตุ

นายชุติพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้น ตนมองว่าเป็นเหตุที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ ทั้งนี้ตนไม่ขอกล่าวหาใคร แต่พบข้อพิรุธ คือ โรงงานดังกล่าวถูกปิดตัวลงแล้ว และอุตสาหกรรมจังหวัดมีคำสั่งให้ขนย้ายกากสารเคมีในพื้นที่ เพราะพบว่ามีสารเคมีอันตรายรั่วไหลลงแหล่งน้ำในพื้นที่ เมื่อ 19 เม.ย. แต่เกิดเหตุเมื่อ 22 เม.ย. ขณะเดียวกันโรงงานดังกล่าวถูกตัดไฟฟ้าจึงไม่มีไฟฟ้าให้ลัดวงจร อย่างไรก็ดีตนอยากให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดว่ามีใครเข้า-ออก พื้นที่ด้วย เพราะทราบว่ามีทรัพย์สินในโรงงาน เช่น รถยกโฟล์คลิฟท์ ด้วย

“รัฐบาลควรเร่งพิจารณาเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้จากข่าวที่ปรากฎพบว่าโรงงานดังกล่าวเป็นเจ้าของเดียวกันกับโรงงานกากสารเคมีที่อยุธยา ซึ่งเกิดขึ้นถึง2 ครั้งในช่วงเวลา 2เดือน ดังนั้นต้องมีคนรับผิดชอบ” นายชุติพงศ์ กล่าว

เมื่อถามถึงการตรวจสอบในส่วนของกรรมาธิการของสภาฯ นายชุติพงศ์ กล่าวว่า ตนจะประสานไปยังกรรมาธิการการอุตสาหกรรมเพื่อลงพื้นที่ร่วมกัน เมื่อสถานการณ์เบาบางลง และจะขอประสานไปยังรมว.อุตสาหกรรม เป็นระยะ อย่างไรก็ดีตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณาหามาตรการรับมือ รวมถึงการติดตามการเคลื่อนย้ายสารเคมี รวมถึงแผนเผชิญเหตุเพื่อไม่ให้เมื่อเกิดเหตุแล้วประชาชนได้รับผลกระทบในอนาคต.