‘ประชามติ’ แก้ รธน.มีเงื่อนไข บีบ ‘ก้าวไกล-ด้อมส้ม’เล่นตามเกม
จากนี้ไม่เกิน 4 เดือน ประชามติ เพื่อขอฉันทามติจากปชช. ให้รื้อรธน.60จะเกิดขึ้น คำถามที่เซตไว้ มีเงื่อนไขที่ "ก้าวไกล" ไม่เห็นด้วย แต่ทางเลือกมีไม่มาก และบีบให้ต้องยอมเล่นตามเกม
Key Point :
- มติ ครม. เดินหน้า ออกเสียงประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ แบบมีเงื่อนไข ไม่แตะหมวด1 และ หมวด2
- จากนี้ไม่เกิน 120 วันการลงคะแนนจะเกิดขึ้น
- เมื่อเกมรัฐบาลถูกเซ็ตไว้แบบนี้ ความกังวลตกอยู่กับ "ก้าวไกล" ที่อาจไม่สามารถรื้อโครงสร้างใหญ่ในรัฐธรรมนูญได้ แต่ถูกมัดมือชก
- ตัวเลือก ของ "ก้าวไกล" มีไม่มาก ทางเดินเหมือนถูกบีบ หากไม่เอาประชามติครั้งแรกนี้ รัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าอาจจะไม่เกิด
- เพราะเงื่อนไขที่พ่วงมา ว่าด้วย เกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง2ชั้น คือจุดเสี่ยง ประชามติล่ม
- ดังนั้น การแก้พ.ร.บ.ประชามติ อาจได้เห็นการทำคู่ขนานในสภาฯ แต่ไม่ทันใช้กับประชามติรอบแรก
เมื่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ “แก้รัฐธรรมนูญ 2560” จำนวน 3 ครั้ง ตามที่คณะกรรมการฯ ศึกษาการทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นต่างรัฐธรรมนูญ เสนอ
เท่ากับว่า กระบวนการออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เริ่มต้นนับหนึ่งในวันที่ 23 เม.ย.
โดยมีกรอบที่ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ในระยะเวลา “ไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน” ตามมาตรา 10 ของ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กำหนดไว้
ตามคำแถลงของ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ยังระบุพ่วงถึงการแก้ไข “พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564” ด้วยว่า “ควรแก้ไข” พร้อมให้เหตุผล คือ “เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางประชาธิปไตยที่ช่วยส่งเสริมประชาชนแสดงเจตจำนงในเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง”
เท่ากับว่าในประเด็น “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” มี 2 กรณีที่ต้องดำเนินการ คือเดินหน้าทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ตามอำนาจของ “ครม.” ที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ต้องรับช่วงไปดำเนินการ และแก้ไข “พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ" ด้วยกลไกของ “สภาผู้แทนราษฎร”โดยเป็นลักษณะของการทำ 2 เรื่องแบบคู่ขนาน
ต่อเรื่องนี้ “นิกร จำนง” เลขานุการฯ กรรมการประชามติฯ ขยายความว่า “การออกเสียงประชามติ ไม่สามารถรอให้การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ แล้วเสร็จได้ เพราะจะถูกครหาว่ายื้อเวลา ขณะเดียวกัน การทำประชามติรอบแรก ไม่มีปัจจัยใดน่ากังวล รัฐบาลมั่นใจว่าการออกเสียงประชามติจะผ่าน แม้กฎหมายประชามติจะกำหนดเกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งแบบ 2 ชั้น”
แสดงว่าการกำหนดวันที่จะทำประชามติ ตามกรอบที่ “กรรมการฯ ประชามติ” เซตไว้ คือ “กลางเดือนสิงหาคม”
ส่วนคำถามที่เตรียมนำไปทำประชามติ ยึดตามข้อเสนอ คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
แม้ว่า คำถามประชามติที่มีเงื่อนไข “ก้าวไกล” กังวลนักหนาว่าจะเป็นอุปสรรคให้การออกเสียงประชามติรอบแรก ที่นำทางไปสู่ การรื้อรัฐธรรมนูญ ของ คสช. ไม่เป็นเอกภาพ และสุ่มเสี่ยง “ไม่ผ่าน” เพราะด้วยเงื่อนไขไม่แก้หมวด 1 หมวด2 ทำให้คนที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญทุกหมวดไม่เห็นด้วย
อีกทั้งในกติกาทำประชามติ กำหนดเงื่อนไขใช้เกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ชั้นแรก ว่าด้วยผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ต้องออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหหมด และชั้นสอง ว่าด้วยเสียงผ่านประชามติต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
ทว่า “ฝั่งรัฐบาล” มองว่า “เป็นปัญหาของก้าวไกล ไม่ใช่ของรัฐบาล”
โดยแนวทางที่เคาะนี้ จะทำ “ก้าวไกล” ต้อง “เล่นตามเกมรัฐบาล” และเป็นผู้ที่ออกแรง “รณรงค์ด้อมส้ม” ให้สนับสนุนการออกเสียงประชามติครั้งนี้ หากอยากได้แนวทางนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญของประชาชน
กรณีนี้ ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่แฝงด้วยนัยการเมือง หากประชามติแบบมีเงื่อนไขผ่านความเห็นชอบ เท่ากับการันตีว่า “หมวด 1 และหมวด 2” ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ถูกแก้ไข มัดมือกระบวนการ “ยกร่างรัฐธรรมนูญ” ที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นด้วยเช่นกัน
ขณะที่แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ว่าด้วยการปลดล็อกเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้นที่ใช้เป็นเกณฑ์ผ่านประชามตินั้น เบื้องต้น “ฝ่ายรัฐบาล” จะแก้ไขตามหลังการออกเสียงประชามติคราวแรก ด้วยกลไกของสภาฯ ที่ขณะนี้ “พรรคเพื่อไทย” ยื่นร่างแก้ไขต่อสภาฯ และเชื่อว่า “ก้าวไกล” จะหนุนด้วย เพราะมีร่างแก้ไขเสนอต่อสภาฯ ด้วยเช่นกัน
ทว่าในมุมของการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ยังมีความต้องการให้ทันกับการลงประชามติรอบแรก ด้วยการเร่งเกม ชงพิจารณารอบเดียวกับ “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568” ที่เตรียมเปิดวิสามัญในเดือน มิ.ย.โดยในเดือน พ.ค.นี้ ประเด็นเหล่านี้จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น.