'ปริญญา' แนะ 'กกต.' จับตาซื้อเสียงโหวตสว. หวั่นเป็นปมให้การเลือกสะดุด
"ปริญญา" เชื่อมีผู้สมัครเป็นสว. 2แสนคน ชี้อาจมีปัญหา แนะ "กกต." จับตาการซื้อเสียง มองรณรงค์สมัครโหวต ไม่ผิด -เจตนาดีให้มีผู้สมัครอิสระสู้ผู้สมัครจัดตั้ง
ที่รัฐสภา นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ต่อการได้มาซึ่ง สว. ด้วยการเลือกกันเอง 3 ระดับ โดยไทม์ไลน์กำหนดให้เปิดรับสมัครวันที่ 13 พ.ค. ว่า ตนเชื่อว่าจะมีผู้สมัครจำนวนมาก ถึง 2แสนคน ดังนั้นอาจมีปัญหาและข้อร้องเรียนเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดีตนมองการรณรงค์ของคณะก้าวหน้าต่อการให้ประชาชนสมัครโหวต สว. นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ เพื่อต้องการผู้โหวตอิสระสู้กับผู้สมัครที่มีการจัดตั้งจากนักการเมืองบ้านใหญ่ในพื้นที่
นายปริญญา กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่มีคนมองว่าการเลือกสว.ครั้งนี้อาจมีการฮั้วกันที่จะเกิดขึ้น ตนมองว่าด้วยระบบที่ให้เลือกกันเองตาม 20 สาขาวิชาชีพ และเลือกไขว้ ทำให้การฮั้วกันทำได้ยาก อีกทั้งการลงคะแนนให้กันถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นจะมีการซื้อเสียงหรือให้ผลประโยชน์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบให้ดี ในประเด็นการใช้เงินซื้อเสียง นอกจากนั้นแล้ว กกต.ควรพิจารณาทบทวนค่าสมัครจากเดิมที่กำหนดค่าสมัครที่ 2,500 บาท เหลือ 500 บาท เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการสมัครและสมัครได้มากขึ้น
เมื่อถามว่ามองประเด็นการฮั้วกันหรือการยื่นเรื่องให้พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะทำให้การเลือกของสว.สะดุดหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า อาจมีประเด็นเกิดขึ้นได้ ทั้งใน 2 กรณี แม้ตามกติกา กกต.มีอำนาจประกาศผลภายในระยะเวลาเท่าใด แต่เป็นกรณีที่ไม่มีปัญหา แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การร้องเรียนตั้งแต่ระดับอำเภอที่มีผู้สมัครจำนวนมาก จะดำเนินการอย่างไร
"ผมขอให้จับตาให้ดีหากการประกาศผลเลือกสว.ใหม่ต้องยืดเวลาออกไป ที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของสว. ชุดที่มาจากคสช.ที่ต้องทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่ามีสว.ชุดใหม่ เกี่ยวกับอำนาจเลือกนายกฯในรัฐสภา แม้บทเฉพาะกาล มาตรา 272 จะกำหนดให้มีอำนาจ 5 ปีนับแต่มีสภา แต่อาจมีคนที่ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ หากมีปัจจัยที่ต้องการทำให้เปลี่ยนตัวนายกฯ" นายปริญญา กล่าว