'กมธ.มั่นคง' แนะ 'ไทย' เป็นตัวกลางสร้างสันติภาพ เมียนมา

'กมธ.มั่นคง' แนะ 'ไทย' เป็นตัวกลางสร้างสันติภาพ เมียนมา

"กมธ.มั่นคง" ติดตามสถานการณ์เมียนมา แนะ ไทยเป็นตัวกลางสร้างสันติภาพ ตามกรอบอาเซียน -แบ่งการแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะ

ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกมธ. ซึ่งพิจารณาผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา ว่า เพื่อสอบถามความคืบหน้าการแก้ปัญหา รวมถึงการรับมือปัญหาความขัดแย้งที่อาจลุกลามบานปลาย และโอกาสที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการนำมาซึ่งสันติภาพในเมียนมา ทั้งนี้การรับมือของไทยใช้นโยบายทางการทูต แต่ปัญหาที่เกิดตอนนี้คือ ภัยทางเศรษฐกิจ ผู้หนีภัย แรงงาน รวมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุนจีนสีเทา หรือสแกมเมอร์ ที่เป็นปัญหาของประเทศไทยต้องเร่งจัดการ

นายรนังสิมันต์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหา ด้วยว่า  ต้องแบ่งเป็น 3 ระยะคือ

1. ทำได้ทันที คือเรื่องของการสนับสนุน ด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งผู้ที่หนีภัยการสู้รบข้ามแดนที่ต้องช่วย และเก็บข้อมูลกลุ่มบุคคลต่างๆที่เข้ามา เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถจำแนกได้ว่า ใครคือจีนเทา ใครคือเหยื่อจากการสู้รบ

2. การปราบปรามยาเสพติดชายแดนไทยต้องพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อปูทางไปสู่ระยะที่ 3 ในประเด็นประชาธิปไตยในเมียนมา  

และ 3.เป็นระยะที่ต้องพูดคุยกัน อาจจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในเมียนมา เพื่อให้เกิดความมั่นคง และเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในประเทศเมียนมา โดยเป็นไปตามกรอบอาเซียนที่เคยมีมติ

"ประเทศไทยยังคงอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจมากกว่าคนอื่นในการที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจา ผมเชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้โดยที่ไม่ได้ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาสากล เพราะใช้วิธีการพูดคุยและวิธีการในการป้องกัน ที่เรียกว่าเคารพหลักสิทธิมนุษยชนด้วย นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจของประเทศไทยที่เกี่ยวพันกับทางเมียนมา ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน" นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ตนสนับสนุนบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศและประเทศไทย เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดในเมียนมา  และขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กลไกระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และสื่อสารเป็นระยะว่าประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้สังคมได้เห็นว่าประเทศไทยมีวิธีการดำเนินการกับสถานการณ์ปัจจุบัน.