ผ่าอาณาจักรสื่อ-ไอที ‘ชินวัตร’ ก่อน ‘วอยซ์’ ปิดฟ้าผ่า แบกหนี้ 909 ล้าน

ผ่าอาณาจักรสื่อ-ไอที ‘ชินวัตร’ ก่อน ‘วอยซ์’ ปิดฟ้าผ่า แบกหนี้ 909 ล้าน

อาณาจักรธุรกิจสื่อ-ไอทีของ "ชินวัตร" เห็นได้ว่าทุกบริษัท "ขาดทุน" แทบทั้งหมด และไม่เคยสร้างกำไรได้เลย แต่ต้องไม่ลืมว่าการมี "สื่อในมือ" ของ "นักเลือกตั้ง" ย่อมได้เปรียบกว่า "คู่แข่ง" ดังนั้นสาเหตุที่แท้จริง "วอยซ์ ทีวี" เลิกกิจการครั้งนี้คืออะไร ต้องรอดูกันต่อไป

KeyPoints

  • ผ่าอาณาจักรธุรกิจสื่อ ‘ชินวัตร’ ก่อน ‘วอยซ์ ทีวี’ ปิดฟ้าผ่า เทพนักงานกว่า 100 คน ลาจอ 31 พ.ค.นี้
  • พบแบกหนี้ 909 ล้าน ผลประกอบการ 5 ปีหลังไม่เคยกำไร แต่ขาดทุนหนักทุกปี
  • บริษัทลูก ‘วอยซ์ ครีเอชั่น’ แห่งเดียว กำไรปี 65 ราว 3.2 แสนบาท
  • ส่วนบริษัทในเครือ ทั้ง ‘ม็อคกิ้ง เบิร์ด’ ผู้ผลิตสื่อดังในโลกออนไลน์ ‘Echo’ หรือแม้แต่ธุรกิจผลิตหนังสือ ธุรกิจไอที ก็ขาดทุนมาโดยตลอด
  • ‘นักเลือกตั้ง’ ที่ไม่เคยขาดสื่อในมืออย่าง ‘ชินวัตร’ เหตุผลแท้จริงที่เลิก ‘วอยซ์’ คืออะไร ต้องรอแถลงการณ์

ฟ้าผ่าสื่อดังริมถนนวิภาวดีอีกครั้ง พลันที่มีกระแสข่าวยืนยันค่อนข้างชัดว่าสถานีโทรทัศน์ “วอยซ์ ทีวี” จะปิดอย่างกะทันหัน เตรียมเลิกจ้างพนักงานทุกฝ่ายรวมกว่า 100 คน และจะออกอากาศวันสุดท้าย 31 พ.ค.นี้ โดยรายละเอียดฝ่ายผู้บริหารเตรียมออกแถลงการณ์ชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับ “วอยซ์ ทีวี” คือสถานีโทรทัศน์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 หรือราว 15 ปีก่อน โดยออกอากาศทั้งทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่อมาปี 2557 ออกอากาศผ่านระบบดิจิทัลทีวี แต่คืนใบอนุญาตผ่านระบบดิจิทัลในปี 2562 ก่อนจะมาลุยด้านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเต็มตัว ทั้งรายการวิเคราะห์ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ ทางโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ “วอยซ์ ทีวี” ถูกจดจำในฐานะ “สื่อชินวัตร” เพราะถูกเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด บริษัทของ “พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชายของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัทหลายครั้ง แต่หนีไม่พ้น “คนใกล้ชิด” กับ “ตระกูลชินวัตร” เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น และบริหารงานภายใน

ข้อมูลล่าสุดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อ 26 เม.ย. 2567 พบว่า บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด (เปลี่ยนจากบริษัท ฮาวคัมฯ) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2546 ทุนปัจจุบัน 577.5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 414 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร แจ้งวัตถุประสงค์ผลิตรายการเพื่อออกอากาศทั่วไป

ปัจจุบันมีกรรมการ 3 ราย ได้แก่

  1. เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ “เจ๊แดง”
  2. เฉลิม แผลงศร อดีตกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (CFO) คอยดูแลทางการเงินให้แก่ “พานทองแท้ ชินวัตร”
  3. จตุพร กู้ตลาด

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 บรรดาเครือข่าย “ชินวัตร” ต่างมาถือหุ้น “วอยซ์ ทีวี” ทั้งทางตรง เช่น พานทองแท้ พินทองทา และแพทองธาร รวมถึงบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ส่วนทางอ้อมคือ บริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ พร้อมลูกทั้ง 3 คนถือหุ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ดีในการแจ้งข้อมูลผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 17 เม.ย. 2567 พบว่า เหลือเพียง “บรรณพจน์ ดามาพงศ์” ถือหุ้นใหญ่สุด 577,499,980 หุ้น ส่วนเฉลิม แผลงศร ถือ 20 หุ้น

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 214,707,433 บาท หนี้สินรวม 909,803,858 บาท มีรายได้รวม 97,584,918 บาท รายจ่ายรวม 195,401,137 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 8,537,767 บาท ขาดทุนสุทธิ 106,353,986 บาท

เมื่อส่องรายรับ-รายจ่ายย้อนหลังของ ‘วอยซ์ ทีวี’ ในรอบ 5 ปีหลังสุด (2561-2565) พบว่า 

  • ปี 2561 มีรายได้รวม 60,532,911 บาท รายจ่ายรวม 395,918,922 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 16,644,085 บาท ขาดทุนสุทธิ 352,030,096 บาท 
  • ปี 2562 รายได้รวม 160,575,995 บาท รายจ่ายรวม 304,579,231 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 13,682,868 บาท ขาดทุนสุทธิ 157,686,104 บาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 44,129,774 บาท รายจ่ายรวม 147,986,995 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 6,503,588 บาท ขาดทุนสุทธิ 110,360,808 บาท 
  • ปี 2564 รายได้รวม 71,385,403 บาท รายจ่ายรวม 92,809,646 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 7,154,608 บาท ขาดทุนสุทธิ 92,809,646 บาท

“วอยซ์ ทีวี” ยังมีบริษัทลูกที่เข้าไปถือหุ้นใหญ่ ได้แก่

  • บริษัท วอยซ์ ครีเอชั่น จำกัด

จดทะเบียนจัดตั้ง 10 เม.ย. 2556 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ผลิต รับจ้างผลิตหรือบริการด้านบันเทิงทุกประเภท ตั้งอยู่ที่ 197 อาคารบีบีดี (วิภาวดี) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร มีกรรมการชุดเดียวกับบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 28 เม.ย. 2566 “วอยซ์ ทีวี” ถือหุ้นใหญ่สุด 9,999,940 หุ้น เฉลิม แผลงศร ถือ 40 หุ้น และบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ถือ 20 หุ้น

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 6,952,103 บาท หนี้สินรวม 4,895,988 บาท รายได้รวม 2,169,137 บาท รายจ่ายรวม 1,846,226 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 20,000 บาท กำไรสุทธิ 302,910 บาท

นอกจากนี้ยังมี “บริษัทในเครือ” อื่น ๆ ซึ่งปรากฏชื่อ “บรรณพจน์-เมฆินทร์-เฉลิม” เข้าไปถือหุ้น ได้แก่  

  • บริษัท ม็อกกิ้งเบิร์ด จำกัด (ผู้ผลิตสื่อ Echo)

จดทะเบียนเมื่อ 23 พ.ค. 2561 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท วัตถุประสงค์ เผยแพร่งานอื่นๆ ผ่านทางออนไลน์ ตั้งอยู่ที่ 197 อาคารบีบีดี (วิภาวดี) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ปรากฏชื่อ เฆินทร์ เพ็ชรพลาย เฉลิม แผลงศร และฤทธิกร มหาคชาภรณ์ เป็นกรรมการ

รายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 28 เม.ย. 2566 บรรณพจน์ ถือหุ้นใหญ่สุด 4,999,970 หุ้น เฉลิม ถือ 20 หุ้น และเมฆินทร์ ถือ 10 หุ้น

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 10,946,459 บาท หนี้สินรวม 38,825,887 บาท รายได้รวม 18,667,573 บาท รายจ่ายรวม 24,080,396 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 299,509 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,712,332 บาท

  • บริษัท เวิร์คส์ ครีเอทีฟ จำกัด (ผลิตหนังสือ และอีบุ๊ค)

จดทะเบียนเมื่อ 23 พ.ค. 2561 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท วัตถุประสงค์ การผลิตภาพยนตร์และวิดิทัศน์ ตั้งอยู่ที่ 197 อาคารบีบีดี (วิภาวดี) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ปรากฏชื่อเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย เฉลิม แผลงศร และศกานต์ กาญจนารมย์ (อดีตผู้อำนวยการฝ่าย Creative Center ของวอยซ์ ทีวี)

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุด 28 เม.ย. 2566 บรรณพจน์ ถือหุ้นใหญ่สุด 4,999,970 หุ้น เมฆินทร์ ถือ 10 หุ้น เฉลิม ถือ 10 หุ้น และศกานต์ ถือ 10 หุ้น

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 9,114,260 บาท หนี้สินรวม 40,959,461 บาท รายได้รวม 10,583,601 บาท รายจ่ายรวม 20,661,497 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 277,356 บาท ขาดทุนสุทธิ 10,355,252 บาท

  • บริษัท ไวฟ์ ดิจิตอล จำกัด (ดำเนินการด้านไอที ซอฟต์แวร์)

จดทะเบียนเมื่อ 9 ส.ค. 2562 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท วัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้คำปรึกษา ขาย และให้บริการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตั้งอยู่ที่ 197 อาคารบีบีดี (วิภาวดี) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ปรากฎชื่อเฉลิม แผลงศร เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย และนายชานนท์ เงินทองดี ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที และการรักษาความปลอดภัยด้านไอที หรือ “IT Security” ชื่อดัง เป็นกรรมการ

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 28 เม.ย. 2566 บรรณพจน์ ถือหุ้นใหญ่สุด 4,999,970 หุ้น เมฆินทร์ ถือ 10 หุ้น เฉลิม ถือ 10 หุ้น และชานนท์ ถือ 10 หุ้น

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 4,368,270 บาท หนี้สินรวม 5,896,336 บาท มีรายได้รวม 16,506,797 บาท รายจ่ายรวม 22,151,539 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 24,109 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,668,851 บาท

ทั้งหมดคืออาณาจักรธุรกิจสื่อ-ไอทีของ "ชินวัตร" ที่จะเห็นได้ว่าทุกบริษัท "ขาดทุน" แทบทั้งหมด และไม่เคยสร้างกำไรได้เลย แต่ต้องไม่ลืมว่าการมี "สื่อในมือ" ของ "นักเลือกตั้ง" ย่อมได้เปรียบกว่า "คู่แข่ง" ดังนั้นสาเหตุที่แท้จริง "วอยซ์ ทีวี" เลิกกิจการครั้งนี้คืออะไร ต้องรอดูกันต่อไป