‘ม.113’ กฎหมายปราบกบฎ กองทัพชี้ช่อง ‘นายกฯ -ครม.’ไม่เจ็บตัว

‘ม.113’ กฎหมายปราบกบฎ  กองทัพชี้ช่อง ‘นายกฯ -ครม.’ไม่เจ็บตัว

“หนู คนทำปฏิวัติ เขาไม่กลัวตายหรอก พอปฏิวัติเสร็จ เขาก็ฉีกทุกอย่างทิ้ง” คำพูดของ “พล.อ.วิมล วงศ์วานิช” ผบ.ทบ.เคยตอบคำถามนักข่าวในอดีต

Key Point :

  • ทหารฟันธง การแก้ไขร่างกฎหมายความมั่นคงของกลาโหมทำเพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่ากองทัพอยู่ภายใต้การเมืองตามนโยบายได้หาเสียงไว้
  • นายกฯ-ครม. จะกล้าใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมหรือไม่ เพียงแค่สงสัยว่า มีทหารคิดทำรัฐประหาร สั่งพักราชการ
  • กรณี “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.คือตัวอย่างเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายปกติที่มีอยู่แล้ว 

 

รัฐประหาร 2549 สาเหตุหนึ่งมีปัจจัยมาจากการแทรกแซงการปรับย้ายทหารจากฝ่ายการเมือง ก่อเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในกองทัพ จนเป็นที่มาของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551 เริ่มขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ก่อกำเนิด “บอร์ดกลาโหม” มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายทหารชั้นนายพล ประกอบด้วย รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม (หากมี) ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ

ขณะที่ฝ่ายการเมืองโจมตี พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551 ที่ให้อำนาจ รมว.กลาโหม เปรียบเสมือนตรายาง และมีความพยายามโละ“บอร์ดกลาโหม”ทิ้ง ในตอนปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ถูกรัฐประหารไปเสียก่อน

มารอบนี้ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ไม่แตะ “บอร์ดกลาโหม” แต่หันมาโฟกัสการสกัดกั้นการทำ“รัฐประหาร” โดยมอบอำนาจนายกฯ ผ่านการอนุมัติคณะรัฐมนตรี(ครม.)สั่งพักราชการ ทหารที่มีความคิดก่อการกบฏ ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมเพิ่มสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิในสภากลาโหม จากเดิมมีเพียง 3 คน เป็น 5 คน

ภายหลังได้ลงนามใน คำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 477/2566 เมื่อ 19 ธ.ค. 2566 แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ไขร่างกฎหมายความมั่นคงของกลาโหม เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายความมั่นคงของกลาโหมในรัฐสภาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ประกอบด้วย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม เป็นประธานคณะทำงาน จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วย รมว.กลาโหม เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน พล.ร.อ.สุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกลาโหม เป็นรองประธานคณะทำงาน

มีคณะทำงาน เช่น พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ พล.อ.ยุทธนินทร์ บุนนาค ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สป. พล.ต.พรพจน์ เมธาวุฒินันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสํานักนโยบายและแผนกลาโหม พล.ต.เจนวิทย์ เด็ดแก้ว ผู้ช่วยเจ้ากรมเสมียนตรา

โดยมี พล.ต.พัฒนชัย พัฒนจริญ ผู้ช่วยเจ้ากรมพระธรรมนูญ เป็นคณะทำงานและเลขานุการฯ และ พ.อ.เสนีย์ พรหมวิวัฒน์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่ ติดตาม ศึกษาและรวบรวมข้อมูลร่างกฎหมายด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหม และให้ข้อเสนอแนะหรือแนะนำให้ส่วนราชการกระทรวงกลาโหม ที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอแนะหรือแนะนำไปปรับปรุงกฎหมายด้านความมั่นคงให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหม ระบุว่า การประชุมสภากลาโหมครั้งล่าสุด เป็นเพียงการเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ของกระทรวงกลาโหม เป็นวาระรับทราบความคืบหน้าเท่านั้น ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน แต่ได้สอบถามผู้ใหญ่ในกองทัพ ที่ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่น่าจะมีผลอะไร ฝ่ายการเมืองเพียงต้องการทำเพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่ากองทัพอยู่ภายใต้การเมืองเท่านั้น ตามนโยบายได้หาเสียงไว้

หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ประกาศใช้ นายกฯ และ ครม. จะกล้าใช้อำนาจนี้หรือไม่ เพียงแค่สงสัยว่า มีทหารคิดทำรัฐประหาร สั่งพักราชการ โดยไม่มีหลักฐาน เสี่ยงถูกฟ้องศาลปกครองเพราะออกคำสั่งมิชอบจะนำไปสู่คดีอาญา และแพ่ง 

เช่น กรณีมีกระแสข่าวรัฐประหาร ในเวลาที่ ผบ.ทบ. ไปตรวจการซ้อมรบ และไปกล่าวหาว่าเป็นการซ่องสุมกำลัง และไปสั่งพักราชการ นายกฯและคณะรัฐมนตรีก็เสี่ยง ก็จะโดนคดีอาญา บอกเลยว่าไม่ง่าย

แต่หากสามารถนำสืบได้ว่า มีการเตรียมการเพื่อทำการรัฐประหารจริง การใช้ประมวลกฎหมายอาญาปกติมีอยู่แล้ว ซึ่งมีโทษแรงกว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม จะดีกว่าหรือไม่ นายกฯและ ครม.ก็ไม่เสี่ยงถูกฟ้อง

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”

แหล่งข่าวคนเดิม ระบุอีกว่า นักการเมืองเป็นคนคิด โดยลืมไปว่าประมวลกฎหมายอาญาเขียนไว้อยู่แล้ว ข้อหาการเตรียมการกบฏผิดกฎหมาย ดำเนินคดีอาญาได้ทันที หากมีข้อมูลแน่ชัดว่ามีการเตรียมรัฐประหาร ไปแจ้งความ ตำรวจนำสืบ หาข้อมูล ตรวจค้น ออกหมายจับ จะนำไปสู่การสั่งพักราชการโดยอัตโนมัติ นายกฯและครม.ก็ปลอดภัย เช่นเดียวกับกรณี “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.

จากนี้ไปคงต้องรอดูว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับฝ่ายการเมืองจะออกมาหน้าตาเป็นเช่นไร และสามารถป้องปรามการทำรัฐประหารได้จริงหรือไม่ หรือทำเพื่อให้เห็นเชิงสัญลักษณ์ว่า กองทัพอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมือง อย่างที่ทหารตั้งข้อสังเกตไว้

เพราะหากพูดถึงการทำ “รัฐประหาร” คงต้องยกคำพูดของ “พล.อ.วิมล วงศ์วานิช” ผบ.ทบ.เคยตอบคำถามนักข่าวในประเด็นนี้ไว้น่าสนใจว่า “หนู คนทำปฏิวัติ เขาไม่กลัวตายหรอก พอปฏิวัติเสร็จ เขาก็ฉีกทุกอย่างทิ้ง”