'กก.ประชามติ' เผยเตรียมคุย 'กกต.' เคาะปฏิทินแก้รธน.
โฆษกประชามติฯ เผย สปน. เตรียมคุย กกต. สัปดาห์หน้า เคาะปฏิทินแก้รธน. -ทำประชามติ 3 รอบ ปัดปรับคำถามตาม “ก้าวไกล” เรียกร้อง
ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าต่อการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการตามรายงานของคณะกรรมการฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ทราบว่าภายในสัปดาห์หน้า ทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ฐานะเลขานุการคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติฯ จะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าหารือต่อประเด็นการเดินหน้าทำประชามติ ตามที่กฎหมายประชามติกำหนดให้ต้องหารือเพื่อกำหนดวันประชามติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ดียังมีรายละเอียดที่ต้องหารือร่วมกัน ทั้ง การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่กำหนดเกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น, ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการออกเสียงประชามติ
นายนิกร กล่าวด้วยว่า เมื่อมติครม. เห็นชอบในหลักการให้ทำประชามติ 3 ครั้ง คือ ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, แก้ไขมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณครั้งละ 3,200 ล้านบาท ดังนั้นจำเป็นต้องหารือให้รอบคอบ และรับทราบถึงแนวทางการทำงานของกกต. รวมถึงปัญหาต่างๆ ในการปฏิบัติ
“ในรายงานของกรรมการฯ ได้พิจารณาว่า การทำประชามติ ควรทำพร้อมกับการเลือกตั้งครั้งสำคัญได้หรือไม่ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากหน่วยออกเสียงนั้นใช้หน่วยเดียวกันกับเลือกตั้ง สส. ได้ ทั้งนี้การทำประชามติ รอบที่ 2 นั้นอาจจัดพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ส่วนประชามติรอบที่ 3 อาจต้องพิจารณาอีกครั้งซึ่งต้องหารือกับ กกต.” นายนิกร กล่าว
เมื่อถามว่า การทำประชามติรอบที่3 คาดว่าจะทำพร้อมกับเลือกตั้ง สส. ครั้งหน้าหรือไม่ นายนิกรร กล่าวว่า “ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น การเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นต้น แต่ต้องหารือกับกกต.เพื่อพิจาณารายละเอียดและเพื่อประหยัดเงิน อีกทั้งเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ต้องแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญ คือ พรรคการเมืองและการเลือกตั้งสส.ด้วย”
เมื่อถามว่าเมื่อยังไม่ประกาศทำประชามติทางการ จะทบทวนคำถามตามที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องได้หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า คำถามนั้นเป็นมติครม. แล้ว ต้องเดินตาม ส่วนความเห็นของพรรคก้าวไกลนั้นเป็นความเห็นทางการเมือง และเคลียร์กันภายหลัง ทั้งนี้ตัวคำถามนั้นนอกจากเป็นไปตามมติแล้ว ยังเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา.