ศึกศักดิ์ศรี KPI รองนายกฯ ไขปม ‘ปานปรีย์’ พี่ตั้ง น้องปลด
การยื่นใบลาออกสวนโผ ครม.เศรษฐา 2 ทันทีในครั้งนี้ จึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า เป็นเรื่องของศึกศักดิ์ศรี ที่ตำแหน่งรองนายกฯของ ดร.ปานปรีย์ “พี่ชาย”เป็นคน“แต่งตั้ง” แต่พอปรับครม.“น้องสาว”กลับเป็นคน“ปลดออก” โดยมีวาระการเมืองเบื้องหลัง
KEY
POINTS
- เริ่มต้นจัดตั้ง ครม.เศรษฐา 'ปานปรีย์' ถูกทาบทามให้มานั่ง 'รองนายกรัฐมนตรี' เพียงตำแหน่งเดียว ในนาทีเกือบสุดท้ายได้มีการแจ้งเพิ่มเติมว่า ขอให้นั่งควบ รมว.การต่างประเทศ
- เมื่อเทียบผลงาน 6 รองนายกฯ 'ปานปรีย์' มั่นใจว่า เขาทำงานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผ่าน KPI แน่นอน
- ข้อกังขา ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสามารถตั้งเพิ่มได้ ไม่ว่าจะให้รัฐมนตรีว่าการคนใดควบเก้าอี้ แต่เหตุใดจึงเจาะจงปรับตำแหน่งรองนายกฯ ออกจากเขาเพียงคนเดียว
- เรื่องของศึกศักดิ์ศรี ที่ตำแหน่งรองนายกฯของ ปานปรีย์ 'พี่ชาย'เป็นคน'แต่งตั้ง' แต่พอปรับครม.'น้องสาว'กลับเป็นคน'ปลดออก' โดยมีวาระการเมืองเบื้องหลัง
หลังโปรดเกล้าฯ ครม.“เศรษฐา 2” ออกมาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็เกิดอาฟเตอร์ช็อก เมื่อ ดร.ตั๊ก “ปานปรีย์ พหิทธานุกร”ที่เพิ่งถูกริบเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี เหลือเพียงตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ ได้ส่งหนังสือถึงนายกฯ เศรษฐา แจ้งขอลาออกจากทุกตำแหน่งโดยให้มีผลภายในวันเดียวกัน คือ 28 เมษายน 2567
ทำเอาอุณหภูมิการเมืองร้อนระอุขึ้นมาทันที และกลายเป็นคำถามที่หลายแวดวงอยากรู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังว่า เหตุใดรัฐมนตรีที่มีผลงานโดดเด่น ถึงตัดสินใจไขก๊อกสวนกระแสทั้งที่ไม่เคยมีสัญญาณมาก่อน
หากจับความระหว่างบรรทัดในหนังสือลาออก ที่ ดร.ปานปรีย์ ระบุถึงการถูกปรับออกจากรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ที่เขาเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับการไม่มีผลงานแน่นอน พร้อมทั้งแจกแจงการทำงานที่ผ่านมา จนรัฐบาลนำไปแถลงผลงาน
ในเมื่อ ดร.ปานปรีย์เชื่อว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องผลงาน ก็ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยว่า แล้วเหตุผลเบื้องลึกในการถูกริบเก้าอี้รองนายกฯ เกี่ยวกับเรื่องอะไร
ขณะที่สถานการณ์ก่อนปรับ ครม.นายกฯเศรษฐา ได้เรียก ดร.ปานปรีย์ เข้าพบที่ทำเนียบฯ ด่วน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าการปรับครม.ครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลง และมีความจำเป็น ซึ่งเขาก็ไม่ได้สอบถามอะไรต่อ แต่จับสัญญาณได้จากกระแสข่าวที่ออกมา แม้ยังไม่แน่ใจ จึงรอดูผลว่าจะเป็นอย่างไร กระทั่งนำมาสู่การตัดสินใจ ส่งใบลาออกทันที หลังจากประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า
จะว่าไปแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้ง ครม.เศรษฐา ดร.ปานปรีย์ ถูกทาบทามให้มานั่งตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี”เพียงตำแหน่งเดียว แต่ปรากฎว่าในนาทีเกือบสุดท้าย ก่อนนำรายชื่อ ครม.ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้มีการแจ้งเพิ่มเติมว่า ขอให้นั่งควบ รมว.การต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องภารกิจที่อาจจะมากเกินตัว
ขณะที่ในตำแหน่งรองนายกฯ เขาก็ได้สัญญาณจากผู้มีอำนาจในพรรคว่า อาจจะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ สอดรับกับช่วงก่อนร่วมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ที่เขาถูกเชิญให้เข้าไปช่วยทำนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียง
หลังจากเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.การต่างประเทศแล้ว คีย์แมนเพื่อไทยได้แจ้งว่า พรรคจะส่งคนเข้ามาช่วยงานในกระทรวง
กระทั่งมีการส่ง จักรพงษ์ แสงมณี มาเป็น รมช.การต่างประเทศ ซึ่ง รมช.จักรพงษ์ ถือเป็นคนในกลุ่มก๊วนของนายกฯ เศรษฐา และอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ รวมถึงอดีต รมว.คลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่เคยทำงานเสมือนเลขาฯ ให้ทั้งกิตติรัตน์ และเศรษฐา
ในบริบทการเมือง สำหรับนักเลือกตั้งแล้ว เก้าอี้รองนายกฯ อาจไม่ได้มีความหมายเท่าเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ แต่กลับกันสำหรับ ดร.ปานปรีย์ ที่หลักคิดอาจต่างกับนักเลือกตั้งในเชิงบริหาร และที่สำคัญนายกฯเศรษฐาได้ระบุไว้ตั้งแต่ต้นว่า มี KPI หรือตัวชี้วัดในการทำงานสำหรับทุกตำแหน่ง เพื่อประเมินผลงาน
ดังนั้นในระนาบ “รองนายกรัฐมนตรี” ทั้ง 6 คน ตามลำดับ 1-6 ซึ่งประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 3 คน ภูมิธรรม เวชชัย ที่ควบ รมว.พาณิชย์ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ตำแหน่งเดียว ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ ควบ รมว.การต่างประเทศ
พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ควบรมว.มหาดไทย พรรคพลังประชารัฐ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ควบ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพรรครวมไทยสร้างชาติ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน
เมื่อเทียบผลงาน 6 รองนายกฯ ดร.ปานปรีย์ จึงมั่นใจว่า เขาทำงานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผ่าน KPI ของนายกฯ แน่นอน
แต่เมื่อผลการปรับ ครม.ที่ออกมา การถูกริบตำแหน่งรองนายกฯ โดยไร้คำอธิบาย จึงเป็นเหตุให้ ดร.ปานปรีย์ รู้สึกว่า การถูกประเมินผลงานของเขา ไม่ผ่านเกณฑ์ จึงถูกลดชั้น ลดเกรด และถูกด้อยค่า เสมือนการถูกลงโทษ
จึงทำให้เขาตั้งคำถามตามมาว่า “ในเมื่อผมทำงานในตำแหน่งหนึ่ง ด้วยความเรียบร้อย ซื่อสัตย์ สุจริต และมีผลงานประจักษ์ชัดเจน แต่วันดีคืนดีกลับถูกโยกย้ายไปในตำแหน่งที่น้อยกว่าเดิม เสมือนว่าผมทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ผมจะต้องอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป”
ข้อกังขาของ ดร.ปานปรีย์ จึงมีอีกว่าทั้งที่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สามารถตั้งเพิ่มได้ ไม่ว่าจะให้รัฐมนตรีว่าการคนใดควบเก้าอี้ แต่เหตุใดจึงเจาะจงปรับตำแหน่งรองนายกฯ ออกจากเขาเพียงคนเดียว
ในเชิงอำนาจ และศักดิ์ศรี ดร.ปานปรีย์มองว่า การถูกปรับลดตำแหน่งรองนายกฯ เป็นการลดสถานะที่ย่อมส่งผลต่อภารกิจและภาพลักษณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นที่ รมว.การต่างประเทศ ควรมีตำแหน่งรองนายกฯ
“การมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีพ่วงด้วยถือว่ามีความสำคัญ เพราะการเดินทางไปต่างประเทศ ไปเจรจาความใดๆ จะมีความราบรื่นมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ผมทำงานได้ด้วยความเรียบร้อย แต่เมื่อเหลือตำแหน่งเดียว ผมก็เห็นว่าสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปในด้านการต่างประเทศ อาจไม่รวดเร็ว หรือราบรื่นเท่าที่ควร ทั้งผมคิดว่าถ้านายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีคนอื่นที่เหมาะสมกว่า ก็ให้มาทำงานแทนได้” ดร.ปานปรีย์ อธิบายความในเวลาต่อมา เกี่ยวกับประเด็นนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การริบเก้าอี้รองนายกฯ อันดับ 3 ที่ ดร.ปานปรีย์ นั่งควบ เท่ากับว่าอำนาจกำกับดูแลกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ย่อมหายไปด้วย ในเชิงการบริหารเท่ากับถูกลดอำนาจลง ซึ่งเดิมเขามีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแล 3 กระทรวง คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งหน่วยงานสำคัญในสังกัด คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ฯลฯ
การยื่นใบลาออกสวนโผ ครม.เศรษฐา 2 ทันที จึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า เป็นเรื่องของศึกศักดิ์ศรี ที่ตำแหน่งรองนายกฯของ ดร.ปานปรีย์ “พี่ชาย”เป็นคน“แต่งตั้ง” แต่พอปรับครม.“น้องสาว”กลับเป็นคน“ปลดออก” โดยมีวาระการเมืองเบื้องหลัง
ว่ากันว่า แม้จะมีคำขอโทษ จากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งหน้าฉาก หลังฉาก แต่ไม่อาจเยียวยา ความรู้สึกที่เสียไปได้
จะว่าไปแล้ว ดร.ปานปรีย์ ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย เคยเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรค และถือว่าเป็น "สายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้า" แม้จะลาออกจากสมาชิกพรรคไปในระยะหนึ่ง แต่ไม่เคยย้ายสังกัด และยังกลับมาช่วยงานทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า โดยเฉพาะเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด และถูกเชิญเข้ามาเป็นรัฐมนตรี
หากย้อนประวัติ ก็จะพบว่าการทำงานของเขา ผ่านมาทั้งระบบราชการ แวดวงธุรกิจ และการทำงานกับนักการเมืองมาไม่น้อย ตั้งแต่ยุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต่อเนื่องด้วยรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลเศรษฐา เคยเป็น สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (อินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนการค้าไทย กระทั่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
กรณี ดร.ปานปรีย์ อาจเป็นเพียงเคสตัวอย่าง ที่ปะทุปัญหาภายในของเพื่อไทยออกมา ซึ่งยังมีหลายกรณีที่รอวันถูกเปิดโปง โดยเฉพาะปัญหาเชิงบริหารของ 3 นายกฯ ที่บรรดานักเลือกตั้ง และรัฐมนตรีเพื่อไทย แต่ละกลุ่มล้วนเจอปัญหาไม่ต่างกัน
ทั้งการทำงานที่ถูกผู้มีอำนาจในพรรคนอกพรรค ส่งทีม ส่งคนมาช่วย แต่กลายเป็นการแทรกแซง เป็นภาระ เป็นปัญหากับระบบงานที่รัฐมนตรีแต่ละคนหนีไม่พ้นวงจรนี้
อีกทั้งยังมีข้อครหา ติฉินนินทา เรื่องความไม่โปร่งใส การแบ่งกลุ่มก๊วนของผู้มีอำนาจในพรรค นอกพรรค ลักษณะธุรกิจการเมืองสีเทา และถูกบริหารด้วยคนนอกรัฐบาล
เกือบ 8 เดือนหลังจากร่วมงานกับนายกฯ เศรษฐา และตัดสินใจปิดฉากออกจาก ครม.ของรัฐมนตรีที่มีผลงานโดดเด่น ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของผู้นำ และรัฐบาลอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเป็นการเลือกจังหวะเพื่อทิ้งปริศนาให้ถูกขุดคุ้ยเบื้องลึกกันต่อ
ดร.ปานปรีย์ เคยเปิดใจให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจไว้ไม่นานนี้ว่า “ผมได้ศึกษาด้านพฤติกรรมมนุษย์มาจากการเรียนปริญญาเอกพอจะเข้าใจวิธีคิด และรู้ว่าผู้ที่ร่วมงานด้วยต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบสิ่งไหน ...”
ทว่า เป้าหมายของเขาที่อยากทำให้สำเร็จ "ผมอยากทำงานเพื่อสังคม และอยากทำงานด้านเศรษฐกิจ เพราะมีประสบการณ์การทำงานด้านนี้มานาน”
มาถึงจุดนี้ เขาคงมีคำตอบให้ตัวเอง หลังจากให้บทเรียนผู้มีอำนาจในเพื่อไทยหลายคน