ถอดรหัส 'ห้ามแนะนำตัว' สัญญาณฮั้ว ‘สว.เพื่อพวกพ้อง’
ฝ่ายการเมืองวิเคราะห์ ว่า "กกต." ออกประกาศเรื่องแนะนำตัวของ ผู้สมัคร สว. เพื่อปิดกั้นข้อมูลการเข้าถึงโปรไฟล์ และอาจมีสิ่งกระทบตามมา คือ การสมยอม หรือ ฮั้วการเลือก
Key Point :
- กติกา "กกต." ว่าด้วยการแนะนำตัว สว. ถูกมองว่า คือกฎที่ปิดกั้นประชาสัมพันธ์ของว่าที่ผู้สมัคร สว.
- นัยสะท้อนแง่การเมือง คือ สกัด "กลุ่มสีส้ม"
- แต่ผลลัพธ์ คือ สกัดผู้จะลงสมัคร สว. ในทุกกลุ่มสี-ขั้วการเมือง
- มีรายงานถอดบทเรียน เลือกสว.62 พบการเผยแพร่ที่ไม่กว้างขวางส่งผลต่อการเลือกสว. ที่ส่อสมยอมและฮั้วการเลือกกันเอง
นับถอยหลังอีก 10 วัน กระบวนการได้มาซึ่ง “สว.ชุดใหม่” ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ 2560 จะเริ่มต้นขึ้น
ในระยะเตรียมพร้อมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พบว่ามีการออกกติกาที่ต้องใช้ในการเลือก “สว.” แล้ว 2 ฉบับ คือ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือก สว. พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นไปตามที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.พ.ศ.2561 บัญญัติ และ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. พ.ศ.2567
พ่วงกับการสื่อสารในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง สว. รวมถึงบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
ทว่า สิ่งที่ กกต.ประกาศนั้น ถูกตั้งคำถามอย่างมาก ในกติกาของ “กกต.”ว่าด้วยการแนะนำตัว จนมีผู้โต้แย้งได้ยื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่า“ข้อห้ามแนะนำตัวผ่านสื่อทุกชนิด”เป็นระเบียบที่จำกัดสิทธิของผู้ประสงค์จะลงสมัครเป็น สว.จนเกินเหตุหรือไม่
มีการตั้งข้อสังเกตว่า ระเบียบของ กกต. ที่ห้ามแนะนำตัวผ่านสื่อทุกชนิดนั้น แฝงนัยทางการเมือง หวัง “สกัดกลุ่มสีส้ม” ที่ระดมสรรพกำลังการสื่อสารทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องการเลือก สว.หรือไม่
ก่อนหน้านั้น “คณะก้าวหน้า” โดย "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ลงพื้นที่ “ภาคใต้-อีสาน” ทำกิจกรรม “สว.ประชาชน” รณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวกับการเลือก สว. และลงสมัครชิง สว.ให้มากที่สุด เพื่อหวังให้ได้ “สว.อิสระ” ชนกับ “สว.กลุ่มบ้านใหญ่-จัดตั้ง”
พร้อมกับความเคลื่อนไหวออนไลน์ ของกลุ่ม“ไอลอว์” ซึ่งเป็นคณะที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับ “ก้าวหน้า-ก้าวไกล” เปิดเว็บไซต์เพื่อให้ “ว่าที่ผู้สมัคร สว.” เข้าไปโพสต์โปร์ไฟล์แนะนำตัว-ประกาศเจตนารมณ์กับสาธารณะ ซึ่งต้องเบรกชั่วคราว หลัง กกต. ออกระเบียบห้ามแนะนำตัว
ประเด็นนี้ “ธนาธร” ตั้งข้อสังเกตว่า “ระเบียบของกกต.ต้องการปิดกั้น และทำให้การเลือกสว.รอบนี้เงียบที่สุด เพื่อหวังให้ผลการเลือกสว.มีเฉพาะกลุ่มจัดตั้ง ประชาชนจะไม่ได้ สว.คุณภาพ”
ขณะเดียวกัน การเปิดโปรไฟล์ให้กว้างขวางที่สุด และให้ประชาชนตรวจสอบจะเป็นผลดีต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครน้ำดีเป็น “สว.ชุดใหม่” มากกว่าการทำกันเองภายในหน่วยงาน หรือเฉพาะพื้นที่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระเบียบ กกต.ที่มีผลทำให้เกิดการปิดกั้นการแนะนำตัว มีผลกระทบกับทุกกลุ่ม ทุกสี เช่นกัน และอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อยอดผู้สมัครฯ ได้เช่นกัน
โดยมีการศึกษาและถอดบทเรียนในการเลือก “สว.” ปี2562 โดย “คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” วุฒิสภา แม้รอบนั้น สว.ปี 2562 จะมาโดยบทเฉพาะกาล 250 คน แต่ในจำนวน 50 คนนั้น ได้ทดสอบมีวิธีการได้มาตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ แม้จะลดทอนกลุ่มอาชีพให้เหลือ 10 กลุ่ม และเพิ่มการสมัครงผ่านการแนะนำจากองค์กรได้
อีกทั้ง กมธ.ยังได้พบประเด็นปัญหาที่ กกต.ชุด “อิทธิพร บุญประคอง” ได้รายงานต่อ กมธ.ว่า ด้วยข้อจำกัดของเวลา และการประชาสัมพันธ์ ทำให้ผู้สมัครสว.และการเสนอชื่อไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 100,000 คน แต่มาสมัครเพียง 7,215 คน แบ่งเป็นสมัครด้วยตนเอง 6,705 คน และองค์กรแนะนำชื่อ 510 คน
เอกสารยังได้ระบุสาเหตุพิเศษว่า ขาดแรงจูงใจ เพราะกระบวนการสรรหาในชั้นสุดท้ายที่ “คสช."คัดเลือก และสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ออกมา เมื่อขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงเป็นวงกว้าง ทำให้กระทบต่อยอดผู้สมัคร
ผลเสียที่ตามมาอีกเรื่องคือ กระทบต่อวิธีการเลือก จากรายงานพบว่าปี 2562 มีการเลือกสว.ภายในกลุ่มเพียง 197 อำเภอ ส่วนที่เหลือ 52 อำเภอไม่มีผู้สมัคร และ 679 อำเภอมีผู้สมัครไม่ครบเกณฑ์ 3 คน ที่จะทำให้ผ่านไปสู่ระดับจังหวัดได้
ต่อประเด็นนี้ กมธ.ของวุฒิสภา จึงเสนอให้มีกลไก “สร้างความตื่นตัวและรับรู้อย่างกว้างขวาง” โดยใช้ช่องทางออนไลน์เป็นตัวช่วย
นอกจากนั้น ในปี 2562 ยังพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกันคือ “การแนะนำตัว” ผ่านการกรอกเอกสาร จำกัดเนื้อที่ ซึ่ง กกต.รายงานว่า เพื่อคุมเวลาแนะนำตัวของแต่ละคน เพราะหากมีผู้สมัครจำนวนมากจะทำให้ใช้เวลาค่อนข้างนาน
เช่นเดียวกับการ “ขีดกรอบ” การกรอกข้อมูลแนะนำตัว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการจัดเก็บ และจัดส่งเอกสารของเจ้าหน้าที่ ผลเสียที่เกิดขึ้นคือ การกรอกเอกสารด้วยลายมือ อ่านยาก และข้อมูลน้อยเกินไปที่จะตัดสินใจได้ครบถ้วน
วิกฤตินี้ จึงเปิดโอกาส การหาช่องทาง “ทำความรู้จัก” ผ่านวิธีอื่น จนนำไปสู่การ “สมยอม” ระหว่างผู้สมัคร รวมไปถึงการ “ว่าจ้างลงคะแนน” เพื่อให้ตนเองเป็นผู้ได้รับเลือก ทั้งจากกลุ่มเดียวกัน และข้ามกลุ่ม
ประเด็นที่เป็นปัญหา และผ่านการถอดบทเรียนจาก “วุฒิสภา” และส่งเล่มรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง “กกต.” และ “รัฐบาล” รับทราบแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2563 หวังให้ปรับปรุงให้การเลือก “สว.2567” มีปัญหาน้อยที่สุด และได้คนที่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายมากที่สุด
ทว่า สิ่งที่เป็นปัญหานั้น ควรตั้งคำถามกับ “กกต.” ด้วยว่า “3 ปี"แล้ว แก้ไขหรือยัง?
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจกับระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัว ที่กำลังทำให้สังคมกังขา และตั้งประเด็นอย่างกังวลว่า จะทำให้การได้มาซึ่ง “สว.”ในระบบเลือกกันเอง ได้คนไม่ตรงปก
สร้างการเมืองที่ย่ำรอยเดิม คือ“สภาฯเพื่อพวกพ้อง” ไม่ใช่“สภาฯเพื่อประชาชน” .